เครดิตบูโร เปิดบริการตรวจสอบเครดิตออนไลน์ผ่านแอป บูโร โอเค
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เพิ่มช่องทางบริการตรวจสอบเครดิตออนไลน์ผ่านทางแอปพลิเคชัน ‘Bureau OK’ (บูโร โอเค)
7 กุมภาพันธ์ 2565 : บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เดินหน้าขยายบริการเพื่อรองรับดิจิทัล ไลฟ์สไตล์อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเพิ่มช่องทางบริการตรวจเครดิตบูโรออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน “Bureau OK” (แอป บูโร โอเค) รับรายงานทางอีเมลได้ทันที ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลเครดิตและเครดิตสกอริ่งของตนเองได้อย่างสะดวกและบ่อยครั้งขึ้น พร้อมบริการรายงานเครดิตบูโรแบบสรุปฟรี ที่หน้าแรกทันที สอดคล้องกับพฤติกรรมความต้องการทำธุรกรรมออนไลน์ที่เติบโตของสังคมยุคดิจิทัล ในเฟสแรกผู้ใช้บริการสามารถลงทะเบียนยืนยันตัวตนเพื่อขอใช้บริการได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรทุกแห่งได้แล้ววันนี้เป็นต้นไป
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร เปิดเผยว่า เครดิตบูโรให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมและต่อยอดเทคโนโลยีที่เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยการสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่ ๆ ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับดิจิทัลไลฟ์สไตล์และตอบโจทย์สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานธุรกรรมออนไลน์ที่เติบโตและเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ล่าสุด เครดิตบูโรได้เพิ่มช่องทางบริการตรวจเครดิตบูโรออนไลน์ ผ่านแอป “บูโร โอเค” รับรายงานทางอีเมลได้ทันที เป็นการอำนวยความสะดวกให้เจ้าของข้อมูลในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตและเครดิตสกอริ่งของตนเองได้เพิ่มมากขึ้นอย่างสะดวกและบ่อยครั้งขึ้น ทำให้ทราบประวัติทางการเงินของตนเองในฐานะที่เป็นเจ้าของข้อมูล ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเครดิตของตนเองเพื่อให้รู้เท่าทันภัยทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ สามารถวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประวัติการชำระหนี้ และการเตรียมความพร้อมก่อนขอสินเชื่อต่าง ๆ จากสถาบันการเงิน รวมทั้งเครดิตสกอริ่งที่แสดงระดับคะแนนเป็นตัวชี้วัดความน่าจะเป็นในการชำระหนี้ พิเศษสุด บริการรายงานเครดิตบูโรแบบสรุปฟรี ที่หน้าแรกทันทีอีกด้วย
ในเฟสแรก เครดิตบูโรมีความจำเป็นที่ผู้ใช้บริการต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตนครั้งแรกเพื่อขอใช้บริการได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรทุกแห่งในกรุงเทพฯ – ปทุมธานี เท่านั้น จึงอาจจะเกิดความไม่สะดวกสำหรับผู้ใช้บริการเท่าที่ควร เพราะเครดิตบูโรให้ความสำคัญความปลอดภัยของข้อมูลเครดิตขั้นสูงสุดของผู้ใช้บริการและเป็นการรู้เท่าทันภัยทางการเงินในรูปแบบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองเอง โดยต้องใช้บัตรประชาชนของตนเองพร้อมถ่ายรูปผู้ใช้บริการ เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบเพื่อเปรียบเทียบกับภาพถ่ายในชิพบัตรประชาชนอย่างละเอียดให้ถูกต้องตามเงื่อนไขตามแนวทางของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตให้ดำเนินการจัดให้มีการวัดระดับความเข้มงวดของกระบวนการพิสูจน์ตัวตนที่กำหนดไว้
เมื่อลงทะเบียนครั้งแรกเรียบร้อยแล้ว แอป “บูโร โอเค” ถือเป็นการยกระดับและเติมเต็มประสบการณ์ดิจิทัล (Digital Experience) ให้ผู้ใช้บริการสามารถทำธุรกรรมด้วยตนเองได้อย่างไร้รอยต่อและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ลดข้อจำกัดเรื่องพื้นที่และระยะเวลาการให้บริการ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการในสถานการณ์ปัจจุบัน เครดิตบูโรจึงส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการผ่านแอป “บูโร โอเค” โดยไม่ต้องเดินทางไปที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรในครั้งถัด ๆ ไป ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเองได้อย่างสม่ำเสมอ วางแผนการเงินของท่านได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรวจสอบความถูกต้องข้อมูลตนเองให้ปลอดภัยจากภัยการเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน กรณีที่ท่านตรวจข้อมูลเครดิตของตนเองผ่าน แอป “บูโร โอเค” หรือช่องทางต่าง ๆ ที่เครดิตบูโรให้บริการนั้น จะตรวจกี่ครั้งก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาขอสินเชื่อของธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเอง
แอป “Bureau OK” ยังมีบริการพิเศษที่หลากหลายและมีประโยชน์อื่น ๆ อีก ได้แก่
1) รายงานเครดิตบูโรแบบสรุปของตนเองแสดงที่หน้าแรกทันที ประกอบด้วยจำนวนบัญชีสินเชื่อ วงเงินสินเชื่อรวม ยอดหนี้คงเหลือรวม ประเภทบัญชีสินเชื่อต่าง ๆ เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล บ้าน เช่าซื้อ และยอดหนี้คงเหลือแต่ละบัญชี
2) บริการบริหารสุขภาพเงินของตนเอง ช่วยคำนวณภาระหนี้ได้ง่าย ๆ โดยการกรอกรายได้ต่อเดือน ระบบก็จะคำนวณสัดส่วนจำนวนเงินคงเหลือ สัดส่วนภาระหนี้ และจำนวนภาระหนี้ต่อเดือนให้ทันที
3) บริการอื่น ๆ ได้แก่ วิธีการอ่านรายงานข้อมูลเครดิต สรุปถาม-ตอบครบทุกประเด็นเรื่องเครดิตบูโร หรือจะติดตามข่าวสารเครดิตบูโร ระบบก็จะเชื่อมไปที่เว็บไซต์เครดิตบูโรได้เลย หรือกรณีผู้ใช้บริการต้องการสอบถามปัญหาอื่น ๆ ก็สามารถกรอกข้อความที่เมนูติดต่อเรา เจ้าหน้าที่จะตอบกลับไปที่อีเมลของท่านภายใน 24 ชั่วโมง รวมทั้งสามารถดูประวัติการตรวจเครดิตบูโรของท่านได้อีกด้วย
นอกจากนี้ เหตุผลดี ๆ ที่ควรตรวจข้อมูลเครดิตของตนเอง คือ
1) เพื่อเป็นการรู้เท่าทันภัยการเงินรูปแบบต่าง ๆ ในปัจจุบัน เช็กว่าเรามี “หนี้งอก” โดยที่เราไม่ได้ก่อหรือไม่
2) เช็กว่าข้อมูลส่วนบุคคลในข้อมูลเครดิตถูกต้องตามความจริงหรือไม่
3) ข้อมูลสินเชื่อของเราถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องสามารถขอแก้ไขได้
4) เช็กให้ชัวร์ว่าเรามีประวัติค้างชำระหรือไม่
5) เช็กหลังจากที่จ่ายหนี้หมดแล้ว สถานะข้อมูลเครดิตขึ้นเป็นปิดบัญชี ยอดหนี้เป็นศูนย์ถูกต้องหรือไม่
6) การเตรียมความพร้อมก่อนขอสินเชื่อ
สำหรับผู้ใช้บริการที่อยู่ต่างจังหวัด ท่านยังสามารถใช้บริการในช่องทางอื่น ๆ ที่หลากหลายทั่วประเทศ (https://www.ncb.co.th/check-your-credit-bureau/where-to-check-credit-bureau) อย่างไรก็ดี เครดิตบูโรมีแผนพัฒนา แอป “บูโร โอเค” ต่อเนื่องในเฟสต่อไปเพื่อรองรับผู้ใช้บริการทั่วประเทศ โดยจะเพิ่มบริการให้ผู้ใช้บริการสามารถพิสูจน์และยืนยันความถูกต้องของตัวบุคคลในระบบตัวตนของผู้ใช้บริการบนโลกดิจิทัลที่สามารถทำธุรกรรมออนไลน์ต่าง ๆ ผ่านระบบ National Digital ID (NDID) เพื่อสมัครใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เป็นการพิสูจน์ตัวตนแบบไม่พบเห็นหน้า (Non-Face to Face) โดยจะเพิ่มจุดลงทะเบียนยืนยันตัวตนใช้บริการด้วยบัตรประจำตัวประชาชน และสามารถรองรับการทำธุรกรรมได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งยังคงเน้นความปลอดภัยของข้อมูลเครดิตขั้นสูงสุดเช่นเดิม และจะได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบต่อไป
ทั้งนี้ เครดิตบูโรได้ให้ความสำคัญในการสร้างวินัยทางการเงินด้วยตนเอง และการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การรณรงค์สร้างวัฒนธรรม “ออมก่อนกู้ คิดก่อนใช้ มีวินัย เมื่อมีหนี้” เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีการวางแผนการเงิน พร้อมมีวินัยในการออมเงินและรักษาเครดิตของตนเอง เป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักในเรื่องการออม ภาระหนี้ การบริหารจัดการหนี้ การมีวินัย ใช้หนี้ครบใช้หนี้ตรงตามเวลา เพราะอยากเห็นคนไทยมีวินัยทางการเงินเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ขั้นตอนการลงทะเบียนใช้บริการแอป “Bureau OK” – https://www.ncb.co.th/credit-bureau-status-checking-channel/app-bureau-ok
ลงทะเบียนการใช้บริการครั้งแรก ได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรทุกแห่ง ใช้บัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์มือถือ อีเมลของตนเอง และรับรายงานรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (NCB e-Credit Report) ทางอีเมลได้ทันที มีขั้นตอนดังนี้
1) ยื่นบัตรประชาชนของตนเอง และถ่ายรูปหน้าเพื่อพิสูจน์ตัวตน
2) ผู้ใช้บริการกรอกอีเมล และหมายเลขโทรศัพท์มือถือสำหรับรับรหัส OTP ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องพร้อมลงนามลงในใบคำขอ
3) ดาวน์โหลดแอป Bureau OK ในการใช้งานครั้งแรก ได้ทั้งระบบปฏิบัติการ Android และ iOS
4) เข้าแอปให้เลือก “สร้างบัญชีผู้ใช้งาน” ใส่หมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก อ่านเงื่อนไขและกดยอมรับ หลังจากนั้นให้ตรวจสอบอีเมล สร้างรหัสผ่าน 6 หลัก และกดตกลง
5) เข้าอีเมลของผู้ใช้บริการ กดยืนยันตัวตน (ภายใน 24 ชั่วโมง)
6) กลับมาแอป Bureau OK ให้เลือก “เข้าสู่ระบบ” ใส่รหัสผ่านที่สร้างไว้ แล้วจึงใช้บริการได้ทันที
ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรทุกแห่ง – https://www.ncb.co.th/check-your-credit-bureau/check-credit-bureau-self-inquiry
1) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (สำนักงานใหญ่) อาคาร 2 ชั้น 2
2) เครดิตบูโรคาเฟ่ อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้น 3
3) ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร BTS ศาลาแดง (ภายในสถานี)
4) Bureau Lab (บูโรแล็บ) BTS ชิดลม (ภายในสถานี)
5) Bureau Lab (บูโรแล็บ) BTS หมอชิต (ภายในสถานี)
6) Bureau Lab (บูโรแล็บ) ท่าวังหลัง (บริเวณทางเข้า-ออก ท่าเรือและใกล้ประตู 8 ของโรงพยาบาลศิริราช)
7) ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 3
เครดิตบูโรเน้นความสำคัญด้านความปลอดภัยและสุขภาพของประชาชนที่ใช้บริการตรวจเครดิตบูโรและเจ้าหน้าที่ จึงกำหนดให้ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรทุกแห่งปฏิบัติตามมาตรการ “การป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แบบครอบจักรวาล (Universal Prevention for COVID-19) อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการระบาดโควิด-19 ตามที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขแนะนำไว้ อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม เป็นที่เรียบร้อยและผ่านการตรวจแบบเร่งด่วน (ATK) ก่อนมาปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ
ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดการลงทะเบียน ที่ตั้งของศูนย์ตรวจเครดิตบูโรทุกแห่ง และข้อมูลอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้จากสื่อประชาสัมพันธ์ของเครดิตบูโรทุกช่องทาง ได้แก่ www.ncb.co.th ไลน์ ilovebureau หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม consumer@ncb.co.th
แหล่งที่มาของข่าว : รัฐบาลไทย
สามารถติดตามข่าวการเงินเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวการเงิน
- SME D Bank เปิดบริการ สินเชื่อเพื่อเภสัชกร วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาท
- ออมสิน เผย ผลการปล่อย สินเชื่อ ประจำปี 2564 โดยปล่อยไปถึง 5.9 แสนล้านบาท