สัมผัสสารกันบูดในปลาทูนึ่ง เสี่ยงมะเร็งที่มือจริงหรือไม่ ?
โลกออนไลน์แห่แชร์ข้อมูล สัมผัสสารกันบูดในปลาทูนึ่ง จะทำให้เป็นมะเร็งร้ายที่มือ ร่วมไขคำตอบข่าวนี้เป็นข้อมูลจริงหรือเท็จ
ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลเรื่อง สัมผัสสารกันบูดในปลาทูนึ่ง ทำให้เป็นมะเร็งที่มือ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีจากข้อความเตือนภัยเรื่องสัมผัสสารกันบูดในปลาทูนึ่ง ทำให้เป็นมะเร็งที่มือ ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่าจากการตรวจสอบข้อมูล พบว่ายังไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลวิชาการที่บ่งชี้ว่าการสัมผัสสารกันบูดส่งผลให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ขณะเดียวกันกระบวนการผลิตปลาทูนึ่งถือเป็นการถนอมอาหารอยู่แล้วซึ่งจะช่วยรักษาคุณภาพปลาทูไว้ทำให้สามารถเก็บไว้ได้ในระยะหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องใส่สารกันบูด
ทั้งนี้สารกันบูด เป็นสารที่ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาโดยการทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุการเน่าเสียของอาหาร ตัวอย่างของสารกันบูด เช่น กรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก พาราเบนส์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์และซัลไฟต์ เป็นต้น โดยสารกันบูดที่อนุญาตให้ใช้จะผ่านการประเมินความปลอดภัยและมีการกำหนดปริมาณที่บริโภคได้ต่อวัน นอกจากนี้ยังมีการการสุ่มตรวจหรือสำรวจปริมาณการตกค้างของสารเหล่านี้ให้อยู่ในค่าไม่เกินมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ การเลือกซื้อปลาทูนึ่งควรซื้อจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ และก่อนรับประทานควรนำมาผ่านความร้อนทุกครั้ง
- วันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์ สปสช. ชวนคนไทยคัดกรอง 3 มะเร็งร้าย
- อึ้ง พบไมโครพลาสติกในปลาทู เฉลี่ย 78 ชิ้นต่อตัว
- ภูเก็ตจัดประชุมรับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการ เพื่อการดำเนินธุรกิจการจับปลาทูน่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
- ยิ่งกว่าแร้งลง! รถปลาทูคว่ำ ชาวบ้านแห่โกยกลับบ้าน