ข่าวอาหารไลฟ์สไตล์

เปิดประวัติ ‘ผัดไทย’ หลังขึ้นแท่นสากล ออกซ์ฟอร์ดยกเป็นคำรู้จักทั่วโลก

ออกซ์ฟอร์ด ยกให้ ผัดไทย เป็นคำศํพท์สากล เขียวตรวตัวได้เลยแบบเดียวกับเวลสาเขียนชื่อ pizza พาส่องประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ที่นี่

ผัดไทย อาหารที่หลายคนคุ้นชื่อเป็นอย่างดี โดยหลังจากที่ ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ @mingninja ทวีตข้อความเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า “ข่าวฮือฮาในวงการสอบภาษา คือ Cambridge/Oxford จัดให้คำว่า “ผัดไทย” กลายเป็นศัพท์ C2 ไปแล้ว หมายถึงไม่ใช่ชื่อเฉพาะอีกต่อไป เป็นคำที่คนทั่วโลกรู้จัก เหมือน tacos, lasagna, pizza ไม่ต้องพิมพ์ขึ้นต้นตัวพิมพ์ใหญ่แบบชื่อเฉพาะ”

โดยในเว็บไซต์พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด พบว่ามีการใช้ตัวอักษรพิมพ์เล็กว่า pad thai ให้ความหมายว่า อาหารไทยซึ่งเป็นชนิดเส้น ที่ทำมาจากข้าว เครื่องเทศ ไข่ ผัก เนื้อสัตว์หรืออาหารทะเล

ประวัติ ผัดไทย

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม บอกเล่าความเป็นของผัดไทย ไว้ว่า ผัดไทย เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในยุครณรงค์ให้คนไทยกินก๋วยเตี๋ยว สมัยรัฐบาลที่มี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมักอ้างกันต่อ ๆ มาว่า จอมพลป.ได้ “สร้าง” อาหารแห่งชาติจานนี้ขึ้นมาอย่างแยบยล โดยปฏิเสธเนื้อหมู (ว่ากันว่าหมูเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นจีน) ใช้น้ำมะขามเปียกแบบครัวไทย ให้กินแนมกับหัวปลีบ้าง ใบบัวบกบ้าง และถึงกับสั่งให้กรมโฆษณาการพิมพ์สูตรผัดไทยแจกจ่ายประชาชนกันอย่างทั่วถึง จนกลายเป็นที่นิยมในหมู่คนไทยและชาวต่างชาติสืบต่อมาจนทุกวันนี้

อย่างไรก็ตามในแหล่งอ้างอิงเดียวกันนั้น เว็บไซต์ดังกล่าวยังให้ข้อมูลเพิ่มเติม ระบุ อาจารย์ณัฐพล ใจจริง ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ เล่าว่า เคยคุยเรื่องนี้กับทายาท จอมพล ป. และได้รับคำตอบปฏิเสธ ว่าผัดไทยไม่เกี่ยวอะไรกับท่านจอมพลเลย แถมยังบอกว่าพวกเขาเคยกินก๋วยเตี๋ยวผัดแบบนี้ที่ย่านราชวงศ์มาตั้งแต่ก่อนคุณพ่อจะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำ

สืบหาที่มมาก่อนจะมาเป็น ผัดไทย เริ่มต้นที่ตรงไหน ?

ร่องรอยชัดเจนที่สุดที่ส่งอิทธิพลให้ผัดไทย หลักฐานเอกสารปรากฏอยู่ในหนังสือแม่ครัวหัวป่าก์ ของ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ มีสูตร “เข้าผัดหมี่” ซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นสำรับประยุกต์เอาข้าวสวยมาผัดกับเครื่องหมี่ (เส้นแป้ง) ปกติ โดยท่านเจียวหอมและกระเทียมในน้ำมันหมู แล้วใส่หมู ไก่ กุ้ง ปูทะเล เต้าหู้เหลืองหั่น พอหอมดีจึงเทข้าวสวยลงผัด ใส่ถั่วเพาะ (ถั่วงอก) ใบกุยช่าย เติมเต้าเจี้ยว น้ำตาลทราย น้ำปลา น้ำส้ม เสร็จแล้วโรยหน้าด้วยไข่เจียว ผักชี พริกไทย พริกป่น แถมด้วยมะนาวหั่นซีก และผิวส้มซ่า

จะเห็นว่าคล้ายทั้งผัดไทยและผัดหมี่แบบคนจีน เกือบจะเป็นหมี่กะทิ แต่พอมีผิวส้มซ่า คนไทยจะนึกถึงหมี่กรอบแวบขึ้นมาด้วยอีกสำรับหนึ่ง

“ผัดไทย” จึงน่าจะเกิดขึ้นหลังจากช่วงดังกล่าว แล้วมีการเล่าตำนานผูกโยงเรื่องเข้ากับการรณรงค์ให้คนไทยกินก๋วยเตี๋ยวในสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการเพิ่ม ลด ปรับเครื่องปรุง เช่น เปลี่ยนส่วนผสมน้ำผัดเส้น จากน้ำส้มสายชู มาใช้น้ำปรุงมะขามเปียกสามรสแบบที่แม่ครัวไทยใช้ในน้ำพริกเผา น้ำปลาหวาน หรือไข่ลูกเขยแทน จนกระทั่งแข็งตัวกลายเป็นสูตรเฉพาะไปในช่วงหลังกึ่งพุทธกาลเป็นต้นมา

ขอบคุณข้อมูลประวัติ ผัดไทย : เว็บไซต์ ศิลปวัฒนธรรม คลิกอ่านประวัติ ผัดไทย คลิกที่นี่

ผัดไทย
ภาพ : John Aledia

 

 

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button