สุขภาพและการแพทย์

4 กุมภาพันธ์ วันมะเร็งโลก 2565 ผลักดันการรักษาที่เท่าเทียม

ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ วันมะเร็งโลก 2565 นี้ กลุ่มทิสโก้ กลุ่มที่มุ่งมั่นสนับสนุนงานวิจัย และพัฒนางานนวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งอย่างต่อเนื่อง ก็ได้มีการจัดแคมเปญ Fighting Cancer ภายใต้คอนเซปต์ ‘Close the Care Gap : ลดวิกฤติปัญหาผู้ป่วยมะเร็ง สู่ความเท่าเทียมด้านการรักษา’ อีกด้วย แต่ก่อนที่จะไปดูว่างานนี้เขามีอะไรบ้าง เรา The Thaiger ก็จะขอพาทุกท่านมารู้จักกับ วันมะเร็งโลก เพิ่มขึ้นอีกสักหน่อยกันดีกว่า

4 กุมภาพันธ์ วันมะเร็งโลก 2565 ปิดช่องว่าง เข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม

ในปัจจุบัน “มะเร็ง” ถือได้ว่าเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนไปหลายล้านคนต่อปี ดังนั้นองค์การอนามัยโลก
(WHO) จึงได้จับมือร่วมกับองค์การสหภาพต่อต้านมะเร็งระหว่างประเทศ (UICC) ในปีค.ศ. 2000 ในงานประชุม World Summit Against Cancer ที่ปารีส ตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ มีมติเห็นชอบ กำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันมะเร็งโลก หรือ World Cancer Day”

 

วันมะเร็งโลก

 

โดยในการกำหนดครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนทั่วโลกได้ตระหนักถึงภัยร้ายจากโรคมะเร็งที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งผลักดันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิในการรักษาโรคมะเร็งได้อย่างเท่าเทียม รวมถึงรณรงค์ให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพของตนเอง และเข้าใจถึงปัญหาของโรคมะเร็ง แทนที่จะไปดูที่วิธีการรักษา ให้สร้างทัศนคติขึ้นใหม่ว่า “มะเร็งสามารถป้องกันได้”

สถิติอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง

ในปี พ.ศ. 2561 มีรายงานจากองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (IARC) ว่ามีผู้ป่วย โรคมะเร็ง รายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 18.1 ล้านคนทั่วโลก และอัตราการเสียชีวิตจาก โรคมะเร็ง มียอดพุ่งสูงขึ้นถึง 9.6 ล้านคน โดยที่เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ มักอยู่ในทวีปเอเชีย

 

วันมะเร็งโลก 2565 4 กุมภาพันธ์

 

จากการเก็บสถิติพบว่า มะเร็ง เป็นโรคอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกไปถึงปีละประมาณ 7.6 ล้านคน โดยพบในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางถึงร้อยละ 70 ของคนทั่วโลก มีการคาดการณ์ว่าในอีก 8 ปีข้างหน้า จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นถึง 13 ล้านคนหากทุกประเทศยังไม่มีมาตรการการป้องกันโรคและการรักษาอย่างทั่วถึง

สำหรับในประเทศไทย โรคมะเร็ง ก็ยังถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ติดต่อกันหลายสิบปี โดยจากข้อมูลในปี 2554 พบว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 61,082 ราย คิดเป็นเพศชาย 35,437 ราย และหญิง 25,645 ราย อีกทั้งยังมีการพบผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยราว 120,000 คนต่อปี และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง

โดยส่วนใหญ่แล้วนั้น สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งกว่าร้อยละ 90 มันจะเกิดจากปัจจัยภายนอก พฤติกรรมการปฏิบัติตัวให้สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง และมีส่วนน้อยมาก ๆ ที่จะเกิดมะเร็งจากพันธุกรรมในครอบครัว โดยที่ปัจจัยภายนอกที่ทำให้เกิดโรคร้ายนี้อันได้แก่

  • พฤติกรรมการกินเนื้อสัตว์ประเภทปิ้งย่าง อาหารทอด อาหารไขมันสูง หรือรับประทานอาหารซ้ำ ๆ
  • การดื่มสุรา, สูบบุหรี่
  • ความเครียดสะสมเป็นเวลานาน
  • การได้รับรังสี และสารเคมีก่อโรค
  • ติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือพยาธิ
  • ความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน
  • พฤติกรรมอื่น ๆ ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

โดยในประเทศไทย เพศชายพบมากที่สุดคือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ส่วนในเพศหญิง มักพบมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่

 

วันมะเร็งโลก รักษา

 

มะเร็งบางชนิดไม่แสดงอาการ

อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คนเสียชีวิตจากโรคร้ายนี้มากที่สุด ก็มาจากการที่มะเร็งบางชนิดไม่แสดงอาการ เพราะโรคมะเร็งมักจะเริ่มก่อตัวในร่างกาย ในบางชนิดอาจไม่มีความผิดปกติของร่างกายใด ๆ ให้เห็นเลย กว่าจะรู้ตัวก็เข้าสู่ระยะรุนแรงเสียแล้ว ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือการการตรวจคัดกรอง (Screening for cancer) ในระยะต้นอยู่เสมอ เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที

แนวทางการรักษา และค่าใช้จ่าย

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีในการรักษาโรคมะเร็งนั้นมีหลากหลายวิธีก้าวไกลไปมาก และแต่ละวิธีก็ย่อมมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันไป ตามที่หมอผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้แนะนำทางเลือกในการรักษาให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว ขึ้นอยู่กับเคสของแต่ละคน จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาในการเข้าถึงการรักษาที่ไม่ทั่วถึงในปัจจุบัน

 

วันมะเร็งโลก 2565

1. รังสีรักษา (Radiotherapy)

การบำบัดโรคมะเร็งด้วยวิธีรังสีรักษา หรือที่เรียกกันว่า การฉายแสง แบ่งออกเป็น 5 วิธี คือ

  • การฉายรังสีแบบ 2 มิติ (Conventional Radiotherapy)
  • การฉายรังสีแบบ 3 มิติ (Three Dimension Conformal Radiotherapy หรือ 3-DCRT)
  • การฉายรังสีแบบปรับความเข้ม (Intensity Modulated Radiation Therapy)
  • การฉายรังสีแบบหมุนรอบตัว (Dynamic Arc Radiation Therapy)
  • การฉายรังสีแบบ Volumetric Intensity Modulated Arc Therapy (VMAT)

ค่าใช้จ่าย : สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท (ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง)

 

2. เคมีบำบัด (Chemotherapy)

การรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือที่เรียกกันว่า คีโม เป็นการให้ยาเพื่อทำลาย หรือหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ในปัจจุบันยาเคมีบำบัดมีทั้งชนิดรับประทานและฉีด ในการทำคีโมแต่ละรอบมักจะให้ทำทุก 2 – 4 สัปดาห์ อาจประกอบด้วยยาหลายชนิดในวันเดียว หรือหลายวันติดต่อกัน

ค่าใช้จ่าย : 50,000 – 100,000 บาท (ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง)

 

3. ยารักษามะเร็งอย่างตรงจุด (Targeted cancer therapy)

ยารักษามะเร็งอย่างตรงจุด เป็นการให้ยาที่มีความแตกต่างจากการให้คีโม ตรงที่จะเน้นการรักษาที่ตรงจุดตัวยาที่จะเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรงได้อย่างแม่นยำ ลดผลข้างเคียงที่มีต่อเซลล์ปกติ แต่ก็เป็นยาที่ราคาแพงมาก และการรักษาอาจยืดเยื้อเป็นปีได้

ค่าใช้จ่าย : 1,000,000 บาท / 3 เดือน

งานเสวนา ‘Close the care gap’ การเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม

 

วันมะเร็งโลก เสวนา

 

งานเสวนาเนื่องในวันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์ 2565 ภายใต้คอนเซปต์ “Close the care gap ลดวิกฤตปัญหาผู้ป่วยมะเร็ง สู่ความเท่าเทียมด้านการรักษา” ถูกจัดขึ้นเพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทราบถึงภัยของโรคมะเร็ง ตระหนักถึงสิทธิการรักษาของตนเอง และร่วมมือกันเพื่อเสวนาหาแนวทางยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งให้ดียิ่งขึ้น

ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก ศ. นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ Mr.Omar Akhtar, HEOR Director APAC, Ipsos ขึ้นมานำเสนอรายงานการศึกษาเพื่อแนะแนวทางเพิ่มการเข้าถึงการรักษาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยมะเร็ง และกล่าวสรุปโดย รศ.ภญ.ดร.ร.ต.ท.หญิง ภูรี อนันตโชติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.นพ.ธีรภัทร อึ้งตระกูล ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และพญ.จอมธนา ศิริไพบูลย์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

จากนั้นเข้าสู่การบรรยายโดย ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานกรรมการมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง เรื่องความพร้อม และความต้องการเชิงลึกของผู้ป่วยมะเร็งและบุคลากรการแพทย์ในประเทศไทย

ปิดท้ายด้วยเวทีเสวนา “ทำอย่างไรให้คนไทยเข้าถึงการรักษามะเร็งอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี” มีตัวแทนจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ศ.ดร.พญ.จิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.),

รศ.นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ นายกสมาคมมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย, ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานกรรมการมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมรับชม งานเสวนาเนื่องในวันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์ 2565 “Close the care gap ลดวิกฤติปัญหาผู้ป่วยมะเร็ง สู่ความเท่าเทียมด้านการรักษา” สามารถรับชมได้ในวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ตั้งแต่เวลา 10.30 – 12.30 น. ผ่านช่องทาง Facebook : โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

 


 

วันมะเร็งโลก 2565 ไม่ได้แค่ทำให้ทุกคนตระถึงภัยอันตรายจากโรคมะเร็งเพียงอย่างเดี่ยวเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เราไม่ลืมว่า ทุกวันนี้ยังมีผู้ป่วยมะเร็งอีกมากมายที่กำลังรอการรักษา หรือไม่มีโอกาสได้รักษาอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่างทั้งอุปกรณ์ บุคลากร และค่าใช้จ่าย ดังนั้น เราจึงควรให้ความสำคัญในการผลักดันความรู้ ความเข้าใจต่อโรคนี้อย่างจริงจัง และหวังว่าในอนาคต ผู้ป่วยทุกคนจะสามารถเข้าถึงการรักษาที่ดีได้นั่นเอง

เรื่อง : สิทธิโชติ ลังกากาศ
บรรณาธิการ : ทศพล ถิรเจริญสกุล

อ้างอิงจาก : phyathai / bangkokpattayahospital / lpch / rama.mahidol

baesittichot

นักเขียนสายฮาอารมณ์ดี ไลฟ์สไตล์ เรื่องน่ารู้ทั่วไป ตามติดเทรนด์ฮิตที่ห้ามพลาด อัปเดตข่าวเศรษฐกิจ การเงิน ประสบการณ์งานเขียนมากกว่า 1 ปี ชอบเม้าท์มอย ส่งต่อเรื่องราวน่าสนใจผ่านตัวอักษร ผลงานทุกชิ้นจึงเป็นเหมือน 'เพื่อน' ที่อยากเล่าสิ่ง ๆ ต่างให้คุณได้รู้เป็นคนแรกเสมอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button