สธ. เผยไม่ขัดแย้ง WHO กรณีมอง โควิด เป็น โรคประจำถิ่น ชี้ไม่ได้เริ่มทำทันที
กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันไม่ได้ขัดแย้งกับ WHO กรณีที่ WHO เตือนอย่ามอง โควิด เป็น โรคประจำถิ่น โวประเทศไทยนำหน้า WHO และหลายชาติ
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ออกมาให้ กรณีที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกมาเตือนให้รัฐบาลอย่าเพิ่งมองว่า โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เนื่องจากสถานการณ์ยากต่อการคาดเดา ว่าทางกระทรวงฯ ก็ไม่ได้บอกว่าโควิดจะเป็นโรคประจำถิ่นในทันที
แต่เราก็ได้เน้นย้ำ สร้างความเข้าใจกับประชาชนว่าจะทำอย่างไรหากจะทำให้เป็นโรคประจำถิ่น คือ 1.เชื้อรุนแรงน้อยลง 2.คนได้ภูมิต้านทานมากขึ้น และ 3.สิ่งแวดล้อมเหมาะสม ทั้งด้านการแพทย์ด้วย ที่สำคัญเกณฑ์ที่เราใช้ประเมินคือ อัตราเสียชีวิตจากโควิดต้องต่ำ เชื้อรุนแรงน้อย และประชาชนมีมาตรการ VUCA อย่างไรก็ตาม เราจะประเมินสถานการณ์ต่อเนื่อง และสร้างความร่วมมือจากประชาชนให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น
“เราคาดว่าหากคนร่วมมือกัน น่าจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นภายในปีนี้ ไม่ใช่วันนี้ พรุ่งนี้ ถ้าสังเกต องค์การอนามัยโลกและหลายประเทศก็พูดไม่ตรงกัน เพราะองค์การอนามัยโลกจะดูภาพรวมใหญ่ๆ แม้แต่อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ก็เริ่มจะคิดว่าจะเป็นโรคประจำถิ่น เราต้องอยู่ร่วมกับโควิด เสียงจะออกไปทำนองนี้” นพ.โอภาส กล่าว
นอกจากนี้ นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยเราเอง ค่อนข้างนำหน้าองค์การอนามัยโลกและประเทศอื่นๆ ในหลายเรื่อง ตั้งแต่วัคซีนสูตรไขว้ การเปิดประเทศ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) และครั้งนี้ก็เรื่องโรคประจำถิ่น เราก็ค่อนข้างพูดเร็วกว่าหลายประเทศ ดังนั้น ไม่ได้ขัดแย้งกัน เพราะเราดูในบริบทของประเทศ และมองไปข้างหน้า
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ แคทเธอรีน สมอลวูด เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายสถานการณ์ฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่าหากเทียบกับนิยามของโรคประจำถิ่นแล้ว สถานการณ์ในขณะนี้ไม่ใกล้เคียงเลย พร้อมอธิบายว่า โรคประจำถิ่นนั้น สถานการณ์ต้องคงที่และสามารถคาดการณ์ได้ และในขณะนี้การแพร่ระบาดของโควิด ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงมาก และไวรัสก็ยังกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้เกิดความท้าทายใหม่ๆ ขึ้นตามมา
- โควิดไทยวันนี้ 14 ม.ค. 65 ติดเชื้อเพิ่ม 8,158 ราย ดับ 15 ศพ
- WHO เตือน ‘โควิด’ ยังไม่ใช่ ‘โรคประจำถิ่น’ หลังโอมิครอนยังระบาดหนัก
- สธ. แจง โควิด จะเป็น โรคประจำถิ่น ยอดสูญเสียเหลือ 0.1%