โฆษก รบ. แจง ครม. ยังไม่มีมติยกเลิก สิทธิรักษาโควิด รพ.เอกชน
โฆษกรัฐบาลออกมาชี้แจงเพิ่มเติมหลังมีการรายงานถึงข่าวที่ว่ามีการยกเลิก สิทธิรักษาโควิด รพ.เอกชน โดยเป็นเพียงแค่ข้อเสนอพิจารณาไม่ใช่มติแต่อย่างใด
สิทธิรักษาโควิด รพ.เอกชน – เมื่อวานนี้ (4 ธ.ค. 2565) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีชี้แจงกรณีมีการมีการเผยแพร่ผ่านโซเซียลมีเดียระบุว่า “ครม.มีมติให้ผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนโควิด หากตรวจเจอโควิดจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองทั้งหมด ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วแต่ติดเชื้อจะต้องใช้สิทธิ์ตามสถานพยาบาลที่มีสิทธิ์ (ประกันสังคม หรือบัตรทอง) หากจะพักรักษาใน Hospital หรือ รพ.เอกชนจะต้องออกค่าใช้จ่ายเอง หรือใช้ประกันเอกชนที่ตนมี นอกจากนี้ ครม.ยังพิจารณาปรับเกณฑ์ให้ผู้มีอการน้อย หรือไม่ผ่านเกณฑ์การรักษาในโรงพยาบาล ให้กักตัวรักษาที่บ้าน หรือ Community Isolation ในทุกจังหวัด”
นายธนกรฯ ขอยืนยันว่าข้อความที่เผยแพร่ดังกล่าว เป็นเพียงข้อเสนอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า โดยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ได้มีมติให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับเรื่องนี้ไปพิจารณาความจำเป็นเหมาะสมและกรอบเวลาในการให้การใช้สิทธิ UCEP กลับเข้าสู่ระบบปกติ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ดังนั้น ในขณะนี้การดำเนินการทุกอย่างยังคงเดิม ไม่มีการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงใดๆทั้งสิ้น
นายธนกร ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญสูงสุดในการดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชน ปัจจุบัน ผู้ป่วยโควิด-19 ทุกสิทธิ สามารถเข้ารับการรักษาได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งรัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลในส่วนนี้เอง ประชาชนไม่ต้องจ่าย ทั้งนี้ ห้ามโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้ป่วย ยืนยันรัฐบาลดูแลให้สิทธิ์ประโยชน์ครอบคลุมทุกกรณี ทั้งในโรงพยาบาลของรัฐ เอกชน โรงพยาบาลสนาม และการรักษาตัวที่บ้าน ขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวลในเรื่องดังกล่าว รัฐบาลมีนโยบายดูแลคนไทยทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
แหล่งที่มาของข่าว : รัฐบาลไทย
สามารถติดตามข่าวโควิด-19 เพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวโควิด-19