ข่าวข่าวภูมิภาค

ห้ามพลาด ‘ฝนดาวตกเจมินิดส์’ ชมพร้อมกันคืนนี้ ตีสอง พร้อมเทคนิคถ่ายภาพ

ห้ามพลาด ‘ฝนดาวตกเจมินิดส์’ ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ปรากฏการณ์สุดโรแมนติก NARIT ชวนชมพร้อมกัน 13 ธันวานี้ พร้อมเทคนิคถ่ายภาพแบบฉบับนักดาราศาตร์

ช่วงฤดูหนาวแบบนี้คงไม่มีกิจกรรมไหนจะเหมาะเท่าการได้ดูดาวบนท้องฟ้ายามค่ำคืน ยิ่งถ้าได้ขึ้นดอยไปชมดาวก็ยิ่งโรแมนติกสุด ๆ และสำหรับคืนนี้ (13 ธ.ค. 64) ก็มีปรากฏการณ์ ‘ฝนดาวตกเจมินิดส์’ ที่ทาง NARIT หรือ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ออกมาเชิญชวนให้ได้ชมกัน บอกเลยว่าถ้ามีโอกาสได้ออกไปรับชมต้อง ห้ามพลาด ‘ฝนดาวตกเจมินิดส์’ เด็ดขาด

รู้จัก ฝนดาวตกเจมินิดส์ กันก่อน

“ฝนดาวตกเจมินิดส์” (Geminids) เป็นฝนดาวตกที่มีต้นกำเนิดจากดาวเคราะห์น้อยเฟทอน (3200 Phaethon) ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรรูปร่างรีจนเกือบคล้ายวงโคจรของดาวหาง ความพิเศษคือฝนดาวตกเจมินิดส์เป็นหนึ่งในฝนดาวตกเพียงไม่กี่ชุดที่มีต้นกำเนิดจากดาวเคราะห์น้อย เพราะฝนดาวตกส่วนใหญ่จะมีต้นกำเนิดจากดาวหางค่ะ

ฝนดาวตกชุดนี้จะมาปรากฏตัวให้เห็นในช่วงวันที่ 4-17 ธันวาคมของทุกปีเลย โดยมีศูนย์กลางการกระจายตัวอยู่ที่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ จึงมีอีกชื่อเรียกว่า ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ มีอัตราดาวตกเฉลี่ยสูงสุดที่ประมาณ 120 ดวง/ชั่วโมง เป็นปรากฏการณ์ฝนดาวตกที่ชมง่าย เพราะมีอัตราความเร็วค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับความเร็วของฝนดาวตกชุดอื่น อยู่ที่ 35 กิโลเมตร/วินาที และยังมีอัตราดาวตกค่อนข้างสม่ำเสมอ ดังนั้นถ้าอยู่ในคืนฟ้าเปิด โอกาสจะเห็นก็เป็นเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว

'ฝนดาวตกเจมินิดส์' ปรากฏการณ์ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่
ภาพจาก: NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ฝนดาวตกเจมินิดส์ปี 2564 เป็นอย่างไร

ในปี 2564 นี้ คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณฝนดาวตกหนาแน่นสุดในช่วงวันที่ 13-14 ธันวาคม คือช่วงเวลาหลังเที่ยงคืนของวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ตั้งแต่ตีสองจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 14 ธันวาคม 2564 โดยอาจมีอัตราการตกสูงสุดถึง 150 ดวง/ชั่วโมง กันเลยทีเดียว มีศูนย์กลางกระจายตัวอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ซึ่งกลุ่มดาวคนคู่จะปรากฏขึ้นจากขอบฟ้า ตั้งแต่เวลาประมาณ 20.00 น. ของวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

แต่อย่างไรก็ดีในคืนนี้อาจจเจอแสงรบกวนของพระจันทร์ข้างขึ้น 10 ค่ำในช่วงแรกของปรากฏการณ์ ทาง NARIT จึงแนะนำให้รอชมหลังดวงจันทร์ลับขอบฟ้าแล้ว คือช่วงเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ไปจนถึงเวลารุ่งเช้า

ชม ฝนดาวตกเจมินิดส์ ที่ไหนถึงจะเห็นชัวร์

สำหรับการเลือกสถานที่ชมฝนดาวตกเจมินิดส์นั้น ทาง NARIT ก็ได้แนะนำว่าให้เลือกสถานที่ที่มีแสงน้อย ในเมืองอาจจะไม่ค่อยเห็นปรากฏการณ์มากนักเนื่องจากมีแสงไฟตามถนนรบกวน โดยควรเตรียมเก้าอี้เอน เสื่อ ผ้าห่มหรืออุปกรณ์เพิ่มความอบอุ่นอื่น ๆ เพื่อเตรียมนอนดูดาวกันด้วย อาจจะเริ่มจากนอนชมท้องฟ้าในความมืดกันก่อนเวลาสักประมาณ 30 นาที เพื่อให้ดวงตาเราปรับการมองเห็นให้เข้ากับความมืดได้ ให้หันเท้าไปทางทิศใต้แล้วพยายามมองท้องฟ้าเป็นมุมกว้างเข้าไว้ ไม่ควรมองเพ่งไปที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งบนท้องฟ้า เพราะดาวตกจะปรากฏกระจัดกระจายบนท้องฟ้า ดาวตกบางลูกอาจปรากฏในมุมมองที่ตาเรามองเห็นหรือบางส่วนอาจปรากฏบริเวณใกล้ขอบมุมมองสายตาก็ได้

'ฝนดาวตกเจมินิดส์' พร้อมเทคนิคการถ่ายภาพ
ภาพจาก: NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

เทคนิคถ่ายภาพ ‘ฝนดาวตกเจมินิดส์’ ฉบับนักดาราศาสตร์ ถ่ายแบบนี้ไม่มีพลาดแน่

เทคนิค Stack เป็นเทคนิคสำคัญที่เราจะใช้สำหรับการถ่ายภาพฝนดาวตกกัน ซึ่งเป็นการถ่ายภาพหลาย ๆ ภาพแล้วนำภาพเหล่านั้นมารวมกัน โดยอุปกรณ์ที่ต้องเตรียมมีดังนี้

1. กล้องดิจิตอลพร้อมสายลั่นชัตเตอร์

2. เลนส์ไวแสง มุมกว้าง หรือจะใช้เลนส์คิตธรรมดาก็ได้เช่นกัน แต่เลนส์ไวแสงจะช่วยให้ถ่ายติดแสงวาบของฝนดาวตกได้ง่ายขึ้น

3. ขาตั้งกล้องและอุปกรณ์ตามดาว เพื่อติดตามวัตถุบนท้องฟ้า และให้ภาพที่ได้อยู่ในตำแหน่งเดียวกันเพื่อให้สะดวกต่อการนำภาพมา Stack ภายหลัง

หลังจากเตรียมอุปกรณ์กันพร้อมแล้ว ก็มาลงรายละเอียดเทคนิคการถ่ายภาพให้ลึกขึ้น เพื่อให้คุณได้ภาพฝนดาวตกที่ต้องการกันเลย

1. ตั้งค่ากล้องก่อนการถ่ายภาพ

  • เวลาที่ใช้บันทึกภาพ เริ่มตั้งแต่ 30 วินาที หรือมากกว่า
  • ใช้ค่ารูรับแสงกว้างๆ เช่น f/1.4 หรือ f/2.8 เพิ่มความไวแสงในการเก็บแสงวาบหรือลูกไฟของฝนดาวตก
  • ใช้ค่าความไวแสง (ISO) ที่สูง ๆ เช่น ISO 3200 หรือมากกว่า เพื่อให้กล้องไวแสงมากที่สุดขณะเกิดดาวตก
  • ตั้งโหมดการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง (Continuous Mode)
  • ปิดระบบ Long Exposure Noise Reduction เพื่อให้กล้องถ่ายภาพต่อเนื่องไม่เว้นช่วงในการถ่าย Dark Frame
  • เปลี่ยนโหมด Color space ให้เป็น Adobe RGB เพื่อให้ขอบเขตสีที่มีช่วงสีที่กว้างกว่าแบบ sRGB
  • ปิดระบบกันสั่น และระบบออโตโฟกัสของเลนส์
  • โฟกัสที่ระยะอินฟินิตี้ โดยใช้ระบบ Live View ช่วยในการโฟกัส ซึ่งควรเลือกโฟกัสที่ดาวดวงสว่างให้ได้ภาพดาวที่คมชัดที่สุดเล็กที่สุด

2. ตั้งกล้องห่างจากฉากหน้า โดยให้อยู่ห่างตามค่าระยะไฮเปอร์โฟกัส ซึ่งอาจคำนวณได้จากเว็บไซต์ dofmaster.com หรือควรห่างไม่น้อยกว่า 3-4 เมตร โดยประมาณ

3. ตั้งกล้องบนขาตามดาว เทคนิคสำคัญในการถ่ายภาพฝนดาวตกเพื่อให้ได้ภาพที่มีจำนวนดาวตกติดมากที่สุด เพราะดาวตกจะพุ่งออกจากบริเวณจุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) วิธีนี้จะทำให้เราได้ภาพฝนดาวตกออกมาจากจุด Radiant จริง ๆ และได้ภาพฝนดาวตกมากกว่าการถ่ายภาพบนขาตั้งแบบนิ่งอยู่กับที่ เพราะตำแหน่งจุดศูนย์กลางการกระจายจะเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อย

4. หันหน้ากล้องไปที่จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) โดยให้จุดดังกล่าวอยู่กลางภาพ

5. ถ่ายแบบต่อเนื่อง อย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง โดยใช้ค่าการเปิดหน้ากล้องประมาณ 30 วินาที ต่อ 1 ภาพ หรือมากกว่า

6. ช่วงเที่ยงคืน คือช่วงเวลาที่ดีที่สุด เพราะเป็นเวลาที่ซีกโลกที่เราอยู่จะรับดาวตกที่พุ่งเข้ามาแบบตรง ๆ

7. หากอยากได้ภาพดาวตกยาว ๆ ควรเริ่มถ่ายช่วงหลังเที่ยงคืนไปแล้วหรือในเวลาใกล้รุ่ง เพราะจะเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก ทำให้เห็นดาวตกวิ่งช้า

8. ขั้นตอนสุดท้ายคือ นำภาพฝนดาวตกมารวมกัน เลือกเฉพาะที่ติดดาวตกมารวมกันใน Photoshop หรือ Star Stack ซึ่งจะทำให้เห็นการกระจายตัวของฝนดาวตกได้อย่างชัดเจน

ข้อท้ายสุดที่ NARIT ได้แนะนำก็คือ นอกเหนือจากวิธีถ่ายภาพแล้ว อีกข้อที่สำคัญก็คือความรู้และความเข้าใจในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั่นเอง

'ฝนดาวตกเจมินิดส์' ชมพร้อมกัน 13 ธันวา-14 ธันวา นี้
ภาพจาก: NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

อ้างอิงจาก: NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

Lalita C.

นักเขียนคอนเทนต์ SEO แห่งทีมไทยเกอร์ไทย คลุกคลีกับการเขียนตั้งแต่สมัยเรียน ชอบการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ติดตามข่าวสารจากโลกออนไลน์ นำมาสรุป เล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย ผ่านมุมมองน่าสนใจที่คนมักจะมองข้าม ทั้งข่าวบันเทิง บทความ งานเขียนแนวไลฟ์สไตล์ รวมถึงทุกอย่างที่อยากให้นักอ่านได้รู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button