วันรัฐธรรมนูญ สำคัญอย่างไร ปัจจุบันไทยประกาศใช้มาแล้วกี่ฉบับ ?
วันรัฐธรรมนูญ คืออะไร ทำไมต้องตรงกับวันที่ 10 ธ.ค. ของทุกปี ย้อนศึกษาประวัติพร้อมสำรวจความสำคัญของวันแห่งประวัติศาตร์นี้กันอีกครั้ง
วันรัฐธรรมนูญ คือ วันที่จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงการมี รัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.7) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งประกาศใช้โดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (หลังการปฎิวัติสยาม ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475) ซึ่ง ร.7 ทรงพระราชทานให้เปลี่ยนมาใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 แทน ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 จึงเป็นเหตุผลให้วันนี้ถูกกำหนดให้เป็นวันรัฐธรรมนูญของทุกปี
นอกจากวันนี้จะเป็นวันหยุดราชการแล้ว ที่หน้าอาคารรัฐสภา ก็จะมีพิธีวางพวงมาลาถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกด้วย
วันรัฐธรรมนูญมีความสําคัญอย่างไร ?
รัฐธรรมนูญ ฉบับแรกของไทย มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” โดยคำว่า รัฐธรรมนูญนั้น มีความหมายว่า กฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นกฎหมายแม่บทที่บัญญัติกฎเกณฑ์การบริหารและปกครองทางการเมือง หากกฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญจะมีผลเป็นโมฆะและบังคับใช้ไม่ได้
ทั้งนี้ เดิมทีคำว่า “รัฐธรรมนูญ” (Constitution) หมายถึง หลักการหรือข้อตกลง ซึ่งมีความหมายค่อนข้างกว้างและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นหลักการและธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน
โดยนอกจากวันรัฐธรรมนูญจะมีขึ้นเพื่อระลึกถึงการมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับแรกของไทยแล้ว ยังมีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีส่วนช่วยในการวางกรอบการปกครองและสร้างเสถียรภาพให้ระบอบการเมือง ดังนี้
- สถาปนาอำนาจของรัฐ แสดงถึงการดำรงอยู่ของรัฐ เป็นเอกราชไม่ขึ้นต่อใคร
- การสถาปนาคุณค่าและเป้าหมายของสังคมที่เป็นเอกภาพ
- สร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ
- คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
- รับรองความชอบธรรมให้ระบอบการเมือง
ปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีทั้งสิ้น 20 ฉบับ ดังนี้:
- พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495
- ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511
- ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519
- ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521
- รัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ที่มา: สถาบันพระปกเกล้า
ทั้งนี้ วันรัฐธรรมนูญของปีนี้ (10 ธ.ค.64) ซึ่งเป็นวันหยุด การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด หรือ NECL ยกเว้นค่าผ่านทาง 3 สายทาง ดังนี้
1. ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1)
2. ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2)
3. ทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน – ปากเกร็ด)
- วันรัฐธรรมนูญ: ภูมิธรรมชี้ รัฐธรรมนูญ กลายเป็นเครื่องมือผู้มีอำนาจ มิใช่เป็นเครื่องมือของประชาชน
- หยุดยาวนี้ จอดรถฟรี สนามบินสุวรรณภูมิ มีรถบัสสาย A รับส่ง 24 ชม.
- การไฟฟ้านครหลวง ปิดทำการ ในวันที่ 10 ธ.ค. เว้นสามสาขา