เฮ! ChulaCov19 เข้าทดลองเฟสสาม คาดได้ใช้จริงกลางปีหน้า
ผอ.โครงการผลิต วัคซีน ChulaCov19 วัคซีนโควิด-19 สัญชาติไทย เผย เข้าทดลองเฟสสาม คาดได้ใช้จริง มิ.ย.-ก.ย. 65 หากไม่มีอะไรผิดพลาด
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนโควิดยี่ ChulaCov19 วัคซีนสัญชาติไทย ได้ออกมาเปิดเผยถึงความคืบหน้าของวัคซีนชนิดดังกล่าวผ่านงาน “นวัตกรรมของไทย ความหวังของโลก”
“จุฬาฯ พัฒนาวัคซีน ChulaCov19 โดยผลิตจริงและประกันคุณภาพประมาณ ก.ค.-มิ.ย. ผ่านการทดลองเฟส 1 และเข้าสู่เฟส 2 ปัจจุบันเตรียมวัคซีนรุ่น 2 และ 3 ไว้กรณีรุ่น 1 ไม่สามารถใช้หากโควิดข้ามสายพันธุ์ ซึ่งทดสอบในหนูแล้ว แต่ในการทดลองอาสาสมัครระยะที่ 1 ตั้งแต่ มิ.ย.ที่ผ่านมา แบ่งเป็น 36 คน อายุ 18-55 ปี และอีกกลุ่ม 36 คน สำหรับอายุมากขึ้น คือ อายุ 56-75 ปี หลังจากนั้นเลือกโดสที่เหมาะสมเพื่อไปสู่ระยะที่ 2 อีก 150 คนอายุ 18-59 ปี ทั้งหมดฉีดครบ 2 เข็มตามครบ 1 เดือน ข้อมูลทยอยออกมา” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวอีกว่า ผลสรุปเบื้องต้นภาพใหญ่จำนวน 36 คน (อายุ 18-55 ปี) วัคซีนปลอดภัย มีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อย แต่จะดีขึ้นประมาณ 1-2 วันครึ่ง โดยภูมิคุ้มกันกระตุ้นทั้ง B Cell และ T Cell ได้สูง ซึ่งจุฬาฯ จับมือห้องปฏิบัติการทั้ง สวทช. และมหิดล ก็ไปในทางเดียวกัน
ซึ่งข้อมูลมาจากห้องแล็บที่มีการให้วัคซีนทั้งโดสต่ำ โดสกลาง และโดสสูง และมีการเปรียบเทียบกับไฟเซอร์ รวมไปถึงดูเรื่องการข้ามสายพันธุ์ ทั้งอัลฟา เบตา และเดลตา ซึ่งป้องกันได้ ยิ่งโดสสูงก็ยิ่งป้องกันได้ นอกจากนี้ ยังทดสอบในเชื้อที่สังเคราะห์ขึ้น ก็ยืนยันไม่แตกต่างจากเชื้อจริงที่เรามีการทดลอง โดยการทดลองทั้งหมดพบว่า ข้ามสายพันธุ์ได้ทั้งหมดเช่นกัน
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวต่อว่า สำหรับคณะกรรมการกลางทางวิชาการที่ติดตามความปลอดภัยมีการพิจารณาว่า เมื่อโรคระบาดหนักขนาดนี้ หากใช้โดสต่ำ อาจต้องบูสต์เร็ว จึงตัดสินใจว่า เฟส 2 จะใช้โดสสูงเป็น 50 ไมโครกรัม ซึ่งได้ผ่านการอนุมัติจาก อย. และจะนำมาเปรียบเทียบระหว่างการฉีดวัคซีน ChulaCov19 และฉีดน้ำเกลือ (กลุ่มฉีดน้ำเกลือ 29 วัน เพื่อความปลอดภัยจะได้ไฟเซอร์) ประเด็นที่น่าสนใจคือ วัคซีนนี้กระตุ้น T Cell สูงมาก สูงกว่าไฟเซอร์ 2 เท่า แม้ภูมิฯตกมาหลัง 4 สัปดาห์ก็ยังใกล้เคียงกับไฟเซอร์
“ขณะนี้เราทดลองผ่านเฟส 1 และเฟส 2 มาแล้ว ซึ่งต้องขอบคุณ อย. มากที่ทำงานเชิงรุก และให้ข้อแนะนำแนวทางที่ชัดเจน โดยเราเตรียมเข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบกับคู่เทียบ คือ ไฟเซอร์ ว่า เราไม่ด้อยกว่า และปลอดภัยในอาสาสมัคร โดยวัคซีนขณะนี้ผลิตในประเทศไทย เป็น เมดอินไทยแลนด์ เสร็จเรียบร้อย มีการบรรจุขวดแล้ว เหลือรอตรวจประกันคุณภาพ
ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนจะรับอาสาสมัครได้ก่อนสิ้นปี และฉีดจริงต้นปี คาดว่าจะเสร็จภายใน มี.ค. และรวบรวมข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียนต่อไป” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว
ทั้งนี้ หากได้ขึ้นทะเบียนในภาวะฉุกเฉินก็ต้องรับเงื่อนไข อย. ที่เป็นมาตรฐานสากล โดยต้องติดตามคนฉีดวัคซีน ChulaCov19 อีก 3 หมื่นคน และเก็บข้อมูลความปลอดภัย ประสิทธิผลว่าได้อย่างไร แต่ความจริงคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน อาจเหลือไม่มาก ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคู่ขนาน คือ การฉีดกระตุ้นเข็ม 3 จึงต้องเริ่มเตรียมทดสอบในอาสาสมัครอายุน้อยลงด้วย
“ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรี ได้มาเยี่ยมที่จุฬาฯ รับฟังปัญหาและทางออกจริงจังมาก ผมเสนอว่า หากอยากเห็นอย่างน้อย 1 วัคซีนไทยได้ขึ้นทะเบียนในปีหน้า หากโชคดีเร็วกว่านั้นจะเป็นของขวัญปีใหม่ไทย จึงควรให้งบฯเหมือนในต่างประเทศ โดยมีงบฯ 3 พันล้านบาทต่อ 1 วัคซีน มากองไว้ และมีระบบในการอนุมัติเงินเป็นกรอบ ขั้นตอนการอนุมัติต้องมีความคล่องตัว ซึ่งท่านได้ให้ฝ่ายสำนักงานเลขาธิการประสานกับเราตลอดเวลาว่า ปัญหาอยู่ตรงไหน ซึ่งท่านรักษาสัญญา
โดยเงินที่เราขอไป 2.3 พันล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน โดย 1.3 พันล้านเป็นส่วนพัฒนาวัคซีน ทดลองในอาสาสมัคร ส่วนอีก 1 พันล้านเป็นค่าใช้จ่ายวัตถุดิบและการผลิตหลักล้านโดสขึ้นไป ทั้งหมดทำให้การทำงานง่ายขึ้น จึงต้องกราบขอบพระคุณ และจะใช้ทุกบาททุกสตางค์อย่างรอบคอบ และใช้ตามจริง” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า วัคซีนจุฬาฯ จะได้ใช้จริงเมื่อไร ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า หากไม่มีอะไรสะดุด ทั้งการหาอาสาสมัคร หรือประสิทธิภาพ หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน น่าจะกลางปี หรือ มิ.ย. 2565 เร็วที่สุด หรืออาจไปถึง ก.ย.2565