จาก Facebook สู่ Meta ยกระดับแพลตฟอร์มโซเชียลเสมือนจริง
ที่เมืองซานฟรานซิสโก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม ปี 2021 Mark Zuckerberg ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทแม่ จาก Facebook สู่ Meta พร้อมลงเทรดในตลาดหุ้นในชื่อใหม่ว่า MVRS โดยหวังที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มสังคมโซเชียลเสมือนจริง พร้อมยกระดับการเชื่อมต่อผู้คนให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ซึ่ง Mark ยืนยันว่า ‘เฟสบุ๊ก’ จะยังคงเป็นหน้าเว็บไซต์เหมือนเดิม แต่นับจากนี้จะโฟกัสไปที่ ‘เมต้า’ เป็นหลักไม่ใช่ ‘เฟสบุ๊ก’ ที่เป็นศูนย์กลางอีกต่อไป
“From now on, we will be metaverse-first, not Facebook-first”
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ เกิดมาจากความตระหนักถึงเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาต่อยอดไปแบบก้าวกระโดด จากก่อนหน้านี้เมื่อไม่กี่ปีที่เรายังต้องโทรคุยสนทนา หรือพิมพ์ข้อความสำหรับแชร์ประสบการณ์ มาเป็นการสร้างคอนเทนต์เป็นของตัวเองได้ง่าย ๆ ด้วยสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย วิดีโอ หรือแม้แต่สื่อรูปแบบอื่น ๆ ก็มีมาให้เลือกหลากหลาย ทำให้การเชื่อมต่อของผู้คนเปลี่ยนไป และนั่นเองคือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาแพลตฟอร์มโซเชียลโลกเสมือนจริงนับจากนี้
| จาก Facebook สู่ Meta
ความหมายและนิยามของ Meta Metaverse คืออะไร
“มันคือการดื่มด่ำและแชร์ประสบการณ์ร่วมกันกับคนอื่น ๆ แม้จะไม่ได้อยู่ด้วยกัน – พร้อมทำในสิ่งที่คุณไม่นึกฝันว่าจะสามารถทำได้ในโลกแห่งความเป็นจริง”
หรือถ้าใครยังไม่เห็นภาพก็ให้ลองนึกถึงหนังเรื่อง The Matrix, Ghost In The Shell หรือ TRON ไม่ว่าจะเป็น Virtual reality ผ่านแว่น VR รองรับการเล่นเกม หรือประชุมงาน, Agumented reality ในการสร้างเอฟเฟกต์เสมือนจริง (คล้าย ๆ กับ AR)
แต่อาจจะไม่ได้มีระบบสัมผัสขนาดที่ว่าโดนชกแล้วตัวเราเลือดกระอักขนาดนั้นนะครับ ? ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในทันที แต่ต้องใช้เวลา 5-10 ปี ในการพัฒนาพร้อมกับเก็บข้อมูลต่อไปอีก โดย Mark ได้อธิบายที่มาของ Meta ว่ามาจากภาษากรีกที่แปลว่า Beyond หรือ “ไปได้ไกลกว่า” ในภาษาไทย ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในการพัฒนาและต่อยอดได้อีกเสมอ
ขอบเขตของ Meta
Meta คือส่วนหนึ่งของจักรวาล Metaverse ซึ่งจะขึ้นแท่นกลายมาเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลหลักแทนเฟสบุ๊กในอนาคต โดยจะเป็นพื้นที่ 3 มิติ ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ พร้อมกับแชร์ประสบการณ์ร่วมกันในแบบที่สังคมโซเชียลแบบปัจจุบันทำไม่ได้
“เราเปลี่ยนจากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะก้าวเข้าสู่เว็บไซต์จากนั้นก็ขยับทุกอย่างมาใส่ไว้บนมือถือขนาดเล็ก เปลี่ยนการพิมพ์ข้อความเปล่า ๆ สู่รูปภาพหรือวิดีโอ แต่นี่ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการแบ่งปัน เพราะแพลตฟอร์มและตัวสื่อนับจากนี้ จะไม่ได้แค่ดูเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป และนั่นเองที่เราเรียกว่า Metaverse”
Mark กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของเขาต่อการพัฒนาแพลตฟอร์ม Meta โดยชี้ให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ยังสามารถต่อยอดไปได้อีกเรื่อย ๆ เพื่อยกระดับการสื่อสารให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
แต่ก็ยังมีข้อสังเกตจาก Kirsten Martin ผู้อำนวยการของ Tech Ethics Center จากมหาวิทยาลัย Notre Dame ว่า
“หากตอนนี้ Facebook ยังไม่สามารถควบคุมเนื้อหาคอนเทนต์ได้ แล้วพวกเขาจะสามารถจัดการกับโลกเสมือนได้มีประสิทธิภาพรึเปล่า?”
บวกกับกระแสข่าวลือที่ว่าเฟสบุ๊กต้องการจะปิดเรื่องอื้อฉาวภายในบริษัทฯ เกี่ยวกับการปรับแต่งอัลกอริทึ่ม ไม่ยอมจำกัด Hate Speech ให้เหมาะสมโดยอดีตพนักงานเฟสบุ๊กนามว่า Frances Huagen ผ่านรายการ 60 Minutes ของช่อง CBS News
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีประเด็นข่าวด้านลบออกมาก่อนหน้านี้ แต่ด้วยวิสัยทัศน์และแผนพัฒนาของ Mark ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะทำเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการปิดข่าวฉาวเพียงอย่างเดียว เพราะการจะรีแบรนด์นั้นจำเป็นที่จะต้องวางแผนระยะยาว และคิดล่วงหน้าหลายขั้นตอนกันเลยทีเดียว อย่างที่นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า
“การรีแบรนด์ไม่ได้ช่วยกลบเรื่องฉาวภายในหากไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้อง”
ส่วนเราในฐานะส่วนหนึ่งนับล้านท่ามกลางกระแสข้อมูลมหาศาล ก็ต้องมารอดูว่า โลกโซเชียลในอุดมคติของ Mark จะออกมาได้อย่างที่เขาวางแผนไว้หรือไม่
- Facebook เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น Meta – ตั้งเป้าหมายไว้ที่ ‘Metaverse’
- สอน วิธีเปิด facebook protect ไม่ทำเฟซบุ๊กถูกล็อก ใช้ไม่ได้
- Twitter Thailand ชี้คนไทยสนใจเรื่องการออมและการลงทุนมากขึ้น 94%
อ้างอิงจาก : USA Today Founder’s Letter Facebook Facebook Newsroom Blognone