ตำรวจไซเบอร์ มาแล้ว ชี้กรณีดูดเงินในบัญชี มีมานาน ส่ง SMS ล้วงข้อมูลบัตรเดบิต บัตรเครดิต
กรณี ‘ดูดเงินในบัญชี’ ตำรวจไซเบอร์ ชี้มีมานานแล้ว ส่ง SMS ล้วงข้อมูลบัตรเดบิต บัตรเครดิต หรือซื้อสินค้าออนไลน์
จากกรณีที่มีผู้เสียหายเปิดเผยข้อมูลว่าเงินหายจากบัญชีโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งผู้เสียหายส่วนใหญ่มักผูกบัญชีไว้กับบัตรเครดิต บัตรเดบิต รวมถึงผูกบัญชีไว้กับการทำธุรกรรมออนไลน์อื่นๆ วันนี้ (18 ต.ค.64 ) ด้าน พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ระบุว่า การดูดเงินจากบัญชีธนาคารหรือบัตรเครดิต บัตรเดบิต ในลักษณะนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งเริ่มต้นมาจากถูกมิจฉาชีพปลอมเป็นหน่วยงานต่างๆ ส่ง SMS ไปหลอกถามข้อมูลบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต โดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานาที่ดูน่าเชื่อถือ
โดยผู้เสียหายส่วนใหญ่จะโดนหลอกเอาข้อมูลแบบนี้ก่อน ทำให้มิจฉาชีพสามารถนำข้อมูลไปหักเงินจากบัญชีได้
“เป็นไปไม่ได้ที่ธนาคารจะถูกแฮก เพราะหากธนาคารถูกแฮก จะต้องแฮกทั้งระบบ ไม่เช่นนั้นทุกคนจะต้องโดนเหมือนกันหมด” ผบช.สอท. ระบุ
อีกสาเหตุหนึ่ง พล.ต.ท.กรไชย กล่าวว่า อาจเกิดจากการทำธุรกรรมซื้อสินค้าออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้มิจฉาชีพหาช่องโหว่ในการนำข้อมูลของลูกค้าไปขายในตลาดมืดด้วย ซึ่งทางตำรวจไซเบอร์ได้ติดตามเรื่องนี้มาตลอด โดยการประสานงานกับ กสทช. และโอเปอเรเตอร์เครือข่ายต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่ ซึ่งกลยุทธ์ของกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จึงอยากเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อให้ข้อมูลบัตรกับใครง่ายๆ
ข้อแนะนำสำหรับแนวทางป้องกันเบื้องต้น ข้อมูลจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
สำหรับแนวทางการป้องกันกรณีที่คนร้ายได้ข้อมูลที่อยู่ด้านหน้าบัตรและตัวเลขรหัส 3 ตัวที่อยู่ด้านหลังบัตร คนร้ายจึงสามารถนำไปใช้ทำธุรกรรมผ่านทางออนไลน์ที่มีมูลค่าไม่สูงได้ โดยไม่ต้องใช้ OTP
ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมที่ไม่น่าเชื่อถือผ่านทางออนไลน์ที่ต้องแจ้งข้อมูลด้านหน้าบัตรและรหัส 3 ตัวที่อยู่ด้านหลังบัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องระวังการหลอกลวงให้กรอกข้อมูลบัตรเพื่อจ่ายเงินค่าภาษีของเว็บไปรษณีย์ไทยปลอม ซึ่งคนร้ายจะทำหน้าเว็บไซต์มีโลโก้ไปรษณีย์ไทยเหมือนของจริง
หลีกเลี่ยงการกดลิงค์ที่มีการส่งมาทางอีเมล SMS หรือ สื่อสังคมออนไลน์ หากต้องการเข้าไปที่เว็บไซต์ใด ขอให้พิมพ์ชื่อเว็บด้วยตัวเองเพื่อป้องกันเข้าไปสู่เว็บไซต์ปลอมที่มีความแนบเนียนมาก นอกจากนี้ยังประชาชนควรนำแผ่นสติ๊กเกอร์ทึบแสงปิดรหัส 3 ตัวด้านหลังบัตร หรือจดรหัส 3 ตัวดังกล่าวเก็บเอาไว้ แล้วใช้กระดาษทรายลบตัวเลขรหัสดังกล่าวออกจากด้านหลังบัตร เพื่อความปลอดภัยในการใช้จ่ายประจำวัน และป้องกันมิจฉาชีพ มิให้แอบถ่ายรูปด้านหน้าและหลังบัตรเพื่อนำไปใช้จ่ายในโลกออนไลน์
ทั้งนี้ประชาชนที่พบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
- รองโฆษก ตร. เตือนกรณีถูกหักเงินจากบัญชี รีบอายัดบัตร พร้อมแจ้งความที่โรงพัก
- บัตรเครดิต บัตรเดบิต เงินหายจากบัญชี ไม่รู้ตัว ธปท.แจงไม่ใช่แอปดูดเงิน
- ธปท. สมาคมธนาคารไทย แถลงด่วน ถูกตัดเงินจากบัตรเดบิต เครดิต ผิดปกติ ยันไม่ใช่ข้อมูลธนาคารรั่ว