ข่าวข่าวการเมือง

ทมยันตี เกี่ยวข้องอย่างไรกับเหตุการณ์ 6 ตุลา สรุปให้แล้วที่นี่

ทมยันตี เกี่ยวข้องอย่างไรกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ย้อนดูประวัตินักเขียนและศิลปินแห่งชาติที่มีต่อเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่บนหน้าประวัติศาสตร์ไทย

วันที่ 13 ก.ย. 64 ทมยันตี หรือ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ นักเขียนและศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2555 ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบในวัย 85 ปี โดยตลดชีวิตได้ฝากผลงานการประพันธ์ไว้มากมาย อาทิ คู่กรรม, ทวิภพ, ค่าของคน, อุบัติเหตุ, ดาวเรือง, ล่า, เวียงกุมกาม, พิษสวาท, ดั่งดวงหฤทัย, คำมั่นสัญญา, พี่เลี้ยง, เลือดขัตติยา, ใบไม้ที่ปลิดปลิว เป็นต้น

อย่างไรก็ตามภายหลังการเสียชีวิตของคุณหญิงก็ยังมีเหตุการณ์หนึ่งที่ถูกพูดถึง คือ การที่ทมยันตี เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ทางรัฐบาลล้อมปราบนักศึกษาธรรมศาสตร์ จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

โดยในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทมยันตีมีบทบาทนำชมรมแม่บ้าน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของภรรยาข้าราชการ ภรรยานายพลและแม่บ้าน ให้การสนับสนุนฝ่ายทหาร ด้วยการปราศรัยโจมตีขบวนการนักศึกษา รวมถึงการจัดรายการผ่านสถานีวิทยุยานเกราะ เคยปราศรัยโจมตีขบวนการนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยว่าเป็นผู้บ่อนทำลายมิตรประเทศ

ด้าน ทวิตเตอร์ itv & TITV Archive – Thailand ได้นำเทปรายการย้อนรอย ที่ออกอากาศเมื่อปี พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นเทปที่ย้อนให้เห็นถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยในครั้งนั้น ทางรายการได้ไปสัมภาษณ์ทมยันตี ซึ่งบางช่วงบางตอนได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ถ้าคุณอยากเป็นคอมมิวนิสต์ ตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ แล้วคนไทยเลือก แล้วคอมมิวนิสต์ปกครองประเทศ โอเค..เป็น

แต้ถ้าวันนี้ไม่ใช่ คุณต้องวางปืน เดินเข้ามาเล่นเกมการเมืองกัน วันนี้…มากมายท่านก็วางปืน ท่านเดินมาเล่นเกมการเมืองและเล่นดีด้วย หลายคนกลายเป็นคนที่ดิฉันเชียร์ในสภา ไม่เอ่ยชื่อท่านนะคะ”

นอกจากนี้ยังมีคลิปเสียงที่ คุณหญิงวิมลจัดรายการผ่านสถานีวิทยุยานเกราะ ศูนย์กลางทหารม้า ซึ่งเป็นช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลที่สำคัญของกลุ่มนวพล-กระทิงแดงในขณะนั้น คอยปราศัยโจมตีขบวนนักศึกษาและชักชวนประชาชนให้มาชุมนุม ก่อนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

ฟังคลิปเสียง คุณหญิงวิมลจัดรายการผ่านสถานีวิทยุยานเกราะ คลิกที่นี่

ทั้งนี้หลังเกิดเหตุนองเลือดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทมยันตี หรือ คุณหญิงวิมล ก็ได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ปีถัดมา ได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2522 เป็นสมาชิกวุฒิสภา และปี พ.ศ. 2527 ได้เป็นผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

อ้างอิงข้อมูล : บันทึก 6 ตุลา – Documentation of Oct 6

 

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button