‘หมอนิธิ’ ตอบ ควรฉีดวัคซีนเข็มสามเมื่อไหร่ หลังถูกถามมามาก
หมอนิธิ ได้ออกมาตอบคำถามว่า ควรฉีดวัคซีนเข็มสามเมื่อไหร่ ชี้แต่ละยี่ห้อมีระยะห่างในการฉีดไม่เท่ากัน
ศาสตราจารย์ นพ.นิธิ มหานนท์ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นเกี่ยวกับฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่สาม พร้อมแนะนำถึงเวลาที่เหมาะสมในการรับวัคซีนเข็มที่สาม
โดยข้อความเฟซบุ๊กระบุว่า “The more is not always the better …..ต้องพอดีเมื่อถึงเวลา วันสองวันมานี้มีหลายๆคนถามมาเรื่องระดับภูมิคุ้มกันและการรับวัคซีนโควิด19ในรอบใหม่เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ผมขอแนะนำอธิบายคร่าวๆตามนี้นะครับ
1)สำหรับคนที่ได้วัคซีนเชื้อตายคือ Sinovac และSinopharm นั้นควรได้รับการกระตุ้นภูมิ ประมาณเดือนที่สี่ถึงเดือนที่หก หลังจากได้วัคซีนเข็มที่สอง ควรได้เร็วหรือช้าขึ้นกับสองปัจจัย ปัจจัยแรกคือความเสี่ยงของคนๆนั้นในการติดเชื้อ(เช่นทำงานเจอผู้คนมากหรือสัมผัสกับผู้มีเชื้อบ่อยหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำเช่นภูมิคุ้มกันบกพร่องหรืออายุมาก) ปัจจัยที่สองคือความรุนแรงของการระบาดในขณะนั้นเช่นถ้ามีการระบาดรุนแรงเกิดเวฟที่สี่หรือห้าโดยเฉพาะในหน้าหนาวนี้ที่ต้องเฝ้าระวัง ส่วนจะเป็นวัคซีนชนิดใดที่ใช้กระตุ้นนั้น ไม่สำคัญ และระดับภูมิคุ้มกันจะเท่าไหร่ก็ไม่ควรนำมาใช้เป็นแนวกำหนดด้วย ถ้ารอได้ควรเป็นวัคซีนรุ่นที่สอง
2)สำหรับผู้ที่ได้วัคซีน ไวรัลเวคเตอร์ เช่น Astra Zeneca Johnson and Johnson หรือ Sputnik นั้นควรได้รับการกระตุ้นประมาณเดือนที่หกถึงเดือนที่แปดหลังเข็มที่สอง ของ Astra Zeneca หรือ Sputnik V และเข็มหนึ่งของ Johnson and Johnson และ Sputnik Light จะเร็วจะช้าขึ้นอยู่กับปัจจัยเหมือนกับตาม 1) เช่นเดียวกับวัคซีน mRNA คือ Pfizer หรือ Moderna กระตุ้นด้วยวัคซีนอะไรก็ได้เช่นกันแต่ไม่ควรเป็นวัคซีนชนิดเดิมสำหรับวัคซีนประเภทไวรัลเวคเตอร์ เนื่องจากว่าร่างกายมีโอกาสสร้างภูมิต้านทานไวรัสตัวที่ใช้เป็นเวคเตอร์ทำให้การกระตุ้นภูมิต่อโควิดไม่ดีนัก
3)ถ้าใครไม่ใช่กลุ่มที่ต้องรีบฉีดควรรอดูว่าจังหวะเวลาที่จะต้องได้รับการกระตุ้นนั้นจะมีวัคซีนที่ออกแบบมาเจาะจงสำหรับการกระตุ้นไหม ทั้งคุณสมบัติและขนาดปริมาณ(โดส) ซึ่งปริมาณขนาดที่จะใช้กระตุ้นนี้มีความสำคัญมาก ไปใช้ขนาดเดียวกับการฉีดครั้งแรกอาจจะมากเกินจำเป็น ไม่ควรตื่นเต้นไปจองวัคซีนรุ่นแรก
4)ถ้าไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มการศึกษาวิจัยไม่แนะนำให้เจาะระดับภูมิคุ้มกัน เพราะระดับภูมิคุ้มกันนี้ไม่สามารถบ่งบอกถึงระดับการป้องกันโรคของวัคซีนได้โดยตรง(มี missing unknown unexplained links อีกหลายตัว) เพราะถ้าติดตามศึกษาผลระดับภูมิคุ้มกันที่เสนอกันจะเห็นว่าในกลุ่มคนที่เหมือนๆกันและได้รับวัคซีนเดียวกันจะมีผลระดับภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกันมากเกินกว่าจะอธิบายได้ (ถ้าใครดูตัวเลขกราฟเป็นจะเห็นได้ว่าเรื่องระดับภูมิคุ้มกันเวลานำเสนอนั้นในแนวตั้งที่บอกถึงระดับที่วัดภูมิคุ้มกันได้นั้นจะเป็น log scale เพราะต้องแสดงค่าตั้งแต่ ศูนย์ ถึงหลายๆหมื่น จากที่วัคซีนทุกชนิดที่ศึกษาจะวัดค่าได้มีตั้งแต่ต่ำมากถึงสูงมาก การที่เราเห็นผลมันรวมกลุ่มกันเป็นกระจุกนั้นจริงๆแล้วมันกระจายกันอยู่มาก ผู้เข้าใจตัวเลขสถิติจะเข้าใจได้ว่าผลเช่นนี้นำมาหารเฉลี่ยง่ายๆไม่ได้) สรุปว่า ระดับภูมิคุ้มกันใช้เป็นได้เพียงงานวิจัยบอกการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนได้”บ้าง”(แต่ไม่ใช่ระบบภูมิคุ้มกันทั้งระบบของคนที่ยังมีระดับความจำของภูมิคุ้มกันและอื่นๆอีกด้วย)มีประโยชน์ในการศึกษาเลือกและกำหนดชนิดวัคซีนพอได้ แต่ไม่บอกระดับการป้องกันของร่างกายต่อการติดเชื้อ
5)วัคซีนทุกชนิดที่มีในขณะนี้ ไม่มีชนิดไหนป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้(และนอกจากนั้น การจะติดเชื้อนั้นขึ้นกับทั้งระดับภูมิและปริมาณเชื้อที่ได้รับด้วย) แต่ทุกชนิดป้องกันการมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้(แต่ก็ไม่ 100%)ดังนั้นควรเปลี่ยนกรอบความคิดกันใหม่ว่า เราฉีดวัคซีนกันเพื่อกันการป่วยหนักกันการเสียชีวิต และการการแพร่ระบาดในวงกว้าง
6)การตรวจหาเชื้อที่รวดเร็วและการรักษาที่รวดเร็วที่เริ่มมีแล้วไม่ว่าจะเป็นยาต้านไวรัสหรือยาแอนตี้บอดี้ค็อคเทล จะยิ่งทำให้เมื่อติดเชื้อแล้วได้ยาเร็วก็หายเร็วขึ้นและไม่มีอาการหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลได้อีกด้วย
อีกไม่นานเราก็อยู่ไปกับมันได้สบายๆครับ แต่ยังต้องช่วยกันลุ้นอีกเรื่องคือวัคซีนในเด็ก เพราะเราๆผู้ใหญ่ยังอยากให้สังคมคืนปกติ(ใหม่) โดยเฉพาะ เด็กๆก็ควรจะกลับสู่การเรียนในโรงเรียนโดยเร็วครับ”
- โควิดไทยวันนี้ 13 ก.ย. ติดเชื้อเพิ่ม 12,583 ราย ดับ 132 ศพ
- กรมควบคุมโรค ยกเลิกแอซตราสองเข็ม เปลี่ยนฉีดสูตรไขว้ทั่วประเทศ
- หมอนิธิ วอน ปชช. รับวัคซีนแล้ว อย่า ลงทะเบียนจองวัคซีน ซ้ำ ทำระบบล่าช้า