ข่าว

กรมควบคุมโรค แนะใช้ ชุดตรวจ ATK ด้วยตนเอง เฉพาะกลุ่มเสี่ยง

กรมควบคุมโรค แนะการใช้ ชุดตรวจ ATK ด้วยตนเอง ควรใช้กรณีเสี่ยงสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ หรือมีอาการโรคทางเดินหายใจ

วันที่ 18 ส.ค.64 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ ประชาชนให้ความสนใจซื้อชุดตรวจโควิด 19 แบบตรวจหาแอนติเจน (ATK) นำไปตรวจด้วยตนเองจำนวนมาก

Advertisements

จึงขอแนะนำว่าต้องเลือกชนิดที่มีฉลากระบุว่า “สำหรับใช้ทดสอบด้วยตนเอง” (Home use, home test, self-test) และได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว ซึ่งเป็นชุดสำหรับตรวจสารคัดหลั่งในโพรงจมูกหรือตรวจด้วยน้ำลาย

โดยให้พิจารณาความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด 19 ของตนเอง คือ กรณีที่มีอาการโรคทางเดินหายใจ หรือมีไข้ต่ำๆ ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก หรือมีตาแดง ผื่นขึ้น ถ่ายเหลว

หรือในกรณีที่เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการ, มีคนในครอบครัว เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงานติดเชื้อโควิด 19, อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อโควิด 19,เดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาด ซึ่งผลการตรวจจะแม่นยำขึ้นหลังจากได้รับเชื้อ 5-14 วัน

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า กรณีผลตรวจเป็นบวก ถือเป็นผู้เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อโควิด 19 ให้ปฏิบัติตัวเช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อโควิด 19 คือแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาของสถานพยาบาลอย่างเหมาะสมตามดุลยพินิจของแพทย์ งดการออกจากบ้านโดยเด็ดขาด แจ้งคนใกล้ชิดให้ทราบ แยกตัวเอง เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากตลอดเวลา แยกห้องน้ำ แยกของใช้ส่วนตัวต่าง ๆ รวมทั้งถุงใส่ขยะ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยงในบ้าน ล้างมือด้วยสบู่และน้ำบ่อย ๆ

หากเป็นผู้ที่สมัครใจแยกกักตัวรักษาอยู่ที่บ้าน (Home isolation) ให้สังเกตอาการทุกวัน โดยตรวจวัดไข้ วัดระดับออกซิเจนปลายนิ้ว มีไข้ให้พักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำมาก ๆ หากรับประทานยาลดไข้แล้ว ไข้ยังไม่ลด หรือมีอาการอื่น ๆ เช่น ไอมากขึ้น หายใจลำบาก นอนราบไม่ได้ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลทันที

Advertisements

ส่วนกรณีผลตรวจเป็นลบ อย่าพึ่งวางใจว่าไม่ติดเชื้อ เพราะอาจเกิดจากเชื้อยังอยู่ในระยะฟักตัว มีปริมาณเชื้อที่โพรงจมูกน้อย หรือเก็บผิดวิธี ขอให้ปฏิบัติตัวเช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อไว้ก่อน และตรวจซ้ำอีกใน 3-5 วัน หรือตรวจทันที เมื่อมีอาการของโรคทางเดินหายใจ เช่น ไอ มีน้ำมูก มีไข้ หากผลตรวจยังเป็นลบ แสดงว่าไม่พบการติดเชื้อ แต่ยังคงต้องป้องกันโรคเช่นเดียวกับคนปกติ

ทั้งนี้ ชุดตรวจที่ใช้แล้วถือว่าเป็นขยะติดเชื้อ จะต้องทิ้งอย่างมิดชิด โดยใส่ถุงแดง แล้วใช้แอลกอฮอล์ 70% ฉีดพ่นปากถุง หากไม่มีถุงแดงให้ใส่ถุงขยะทั่วไป พ่นแอลกอฮอล์ 70% เช่นกัน และเขียนว่าขยะติดเชื้อ นำไปแยกทิ้งในถังขยะ หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

อ้างอิงข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค

อุ่นใจด้านการเงิน เมื่อป่วยเป็นโรคร้ายแรง สนใจทำประกันโรคร้ายแรงกับ Tadoo คลิกที่นี่

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button