เฮ! โฆษกรัฐบาล เผย ความคืบหน้าวัคซีนไทย
รัชดา ธนาดิเรก โฆษกรัฐบาลได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กชี้แจงความคืบหน้าถึงสี่โครงการวัคซีนต้านโควิดที่ถูกผลิตขึ้นโดยนักจิวัยชาวไทย
โดยข้อความเฟซบุ๊กระบุว่า “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ติดตามและแสดงความชื่นชมความก้าวหน้าผลงานวิจัยวัคซีนโควิด-19 โดยทีมแพทย์และนักวิจัยไทย ถือเป็นอีกความหวังของประเทศในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค โควิด19 ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ 2 แนวทางสำคัญ
คือ 1) ให้การสนับสนุนสถาบันวัคซีนแห่งชาติ คณะแพทย์ในมหาวิทยาลัย และองค์กรชั้นนำ ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในรูปแบบต่างๆ และ 2) รับการถ่ายทอดกระบวนการผลิตวัคซีนจากต่างประเทศโดยบริษัท Siam Bioscience Co,.Ltd. ของประเทศไทย เพื่อเป็นการวางรากฐานในไทยพึ่งพาตนเองด้านวัคซีน ลดงบประมาณการจัดซื้อและสามารถส่งออกเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคตอีกด้วย
สำหรับความคืบหน้าการวิจัยพัฒนา วัคซีนโควิด19 ในประเทศไทย ประกอบด้วย
1. โครงการศึกษาวิจัยระยะที่ 1/2 เพื่อประเมินความปลอดภัย และความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีน NDV-HXP-S ในประเทศไทยโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกับศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มฉีดอาสาสมัครเมื่อวันที่ 22 มี.ค.
ซึ่งวัคซีน NDV-HXP-S มีจุดเด่น คือ โรงงานของ องค์การเภสัชกรรม มีความพร้อมในการผลิตระดับอุตสาหกรรม โดยไม่ต้องลงทุนสร้างโรงงานใหม่ ใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และได้รับความร่วมมือระดับนานาชาติจากองค์กร PATH ในการสนับสนุนกล้าเชื้อไวรัส การให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และร่วมกันวิจัยจากผู้ผลิตจากประเทศเวียดนามและบราซิล
2. โครงการพัฒนาเอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 โดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตเช่นเดียวกับวัคซีนจาก Pfizer-BioNTech และวัคซีนจาก Moderna ผลศึกษาการทดลองใน “หนู และ ลิง” พบว่ามีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีในระดับสูง ช่วยยับยั้งการติดเชื้อในสัตว์ทดลองได้ เริ่มการศึกษาในมนุษย์ เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 64 ทดสอบในระยะที่ 1 ใช้อาสาสมัครจำนวน 72 คน
ซึ่งวัคซีน ChulaCov19 มีจุดเด่น คือ สามารถอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส) ได้นานถึง 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) ได้นาน 2 สัปดาห์ จากการทดลองในหนูทดลองชนิดพิเศษที่ออกแบบให้สามารถเกิดโรคโควิด-19 ได้
พบว่า เมื่อหนูได้รับการฉีดวัคซีน ChulaCov19 ครบ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ แล้วให้หนูทดลองได้รับเชื้อโควิด-19 เข้าทางจมูก สามารถป้องกันหนูทดลองไม่ให้ป่วยเป็นโรคและยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด รวมทั้งสามารถลดจำนวนเชื้อในจมูกและในปอดลงไปอย่างน้อย 10,000,000 เท่า มีความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง วัคซีนชนิด mRNA ยังสามารถปรับแต่งวัคซีนต้นแบบตามพันธุกรรมของเชื้อกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว
3. โครงการพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ชนิด DNA (วัคซีนโควิเจน) โดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ผลการทดสอบในหนูทดลองพบว่า วัคซีนมีความปลอดภัย และสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีมาก ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขออนุมัติกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อทดสอบในมนุษย์ในระยะที่ 1 และคาดว่าจะวิจัยในคนระยะที่ 2 และ 3 ในปีนี้ (ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 มิ.ย 64) โดยมีแผนการทดสอบในมนุษย์ในระยะที่ 1 ในประเทศออสเตรเลียคู่ขนานกันไป
นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยของบริษัท บยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CU Innovation Hub ที่ใช้ใบยาสูบเป็นพืชในกระบวนการสร้างวัคซีน หลังจากที่มีการผลิตวัคซีนล็อตแรกเสร็จ จะนำไปสู่ขั้นตอนของการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ คาดจะอยู่ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมถึงกันยายนนี้
นอกจากนี้ บริษัท AstraZeneca ประเทศไทย แจ้งว่าจะทำการส่งมอบวัคซีนให้กระทรวงสาธารณสุข ครบ6 ล้านโดสในสัปดาห์นี้ ตามแผนทั้งหมด61 ล้านโดส และในช่วงต้นของเดือนก.ค. จะมีวัคซีน AstraZeneca จากการสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่น อีกจำนวน 1.05 ล้านโดส
ขณะเดียวกัน ระบบ”หมอพร้อม” ได้เลื่อนการฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้นแก่ผู้ลงทะเบียนกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง ในพื้นที่กทม.จากเดือน ส.ค.เป็น ก.ค. ส่วนกรมการแพทย์ ได้เปิดให้ผู้สูงอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป สามารถรับการฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ แบบระบบ On-site เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้ โดยจะเริ่ม 30 มิ.ย.-18 ก.ค. ทั้งนี้ รัฐบาลได้เร่งเดินหน้า ตามแผนการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรร้อยละ 70 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ประเทศเร็วที่สุด
- จุฬาฯ เปิดรับอาสาสมัครกลุ่มสูงอายุ ฉีดวัคซีน ChulaCov19
- วัคซีน ChulaCov19 ตัวแรกของไทย เริ่มทดลองฉีดในคนแล้ว