หมอยง เผย วัคซีนโควิด mRNA ภูมิต้านทานสูงกว่า วัคซีนเชื้อตาย
หมอยง ทำการอธิบายถึง ข้อมูลวัคซีนโควิด-19 ทั้ง 4 ประเภท โดยทำการอธิบายถึงกรรมวิธีการผลิต, อาการข้างเคียงที่พบเจอ และอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง เช่น วัคซีนโควิด mRNA ภูมิต้านทานสูงกว่า วัคซีนเชื้อตาย
ในวันนี้ (28 มิ.ย. 2564) นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการโพสต์ข้อความอธิบายถึง ข้อมูลวัคซีนโควิด-19 ทั้ง 4 ประเภทด้วยกัน
โดยเนื้อหาของโพสต์ดังกล่าวนั้นมีด้วยกันดังนี้
1. วัคซีนทุกตัวที่ใช้อยู่และองค์การอนามัยโลกรับรองสามารถลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิตได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
2. วัคซีนยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อฉีดวัคซีนแล้วก็ยังต้องคงปฏิบัติตนตามวิถีชีวิตใหม่เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค
3. ประชากรโลกมี 7 พันล้านคน ความต้องการของวัคซีนจึงมีสูงมากที่จะยุติการระบาดของโรคนี้ หรือจะต้องให้วัคซีนให้ได้ไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านคนหรือ 10,000 ล้านโดส ขณะนี้เพิ่งฉีดไปร่วม 3,000 ล้านโดส 1 ใน 3 ฉีดในประเทศจีน และส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่ร่ำรวยทำให้วัคซีนในปัจจุบันยังมีความขาดแคลน
4. วัคซีนในปัจจุบันนี้แบ่งเป็น 4 รูปแบบ คือเชื้อตาย, โปรตีนซับยูนิต, ไวรัสเวกเตอร์ และ mRNA เรียงตามเทคโนโลยีจากเก่าไปหาใหม่ เทคโนโลยีเชื้อตายใช้กันมากกว่า 50 ปี ส่วน mRNA เป็นวัคซีนที่ใช้ครั้งแรกในมนุษย์
5. อาการข้างเคียงชนิดเชื้อตายจะมีอาการข้างเคียงเฉพาะที่เช่นเจ็บบวมแดงร้อน บริเวณที่ฉีด และอาการตามระบบเช่นไข้ เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว พบได้น้อยมากและน้อยกว่าไวรัส เวกเตอร์และ mRNA รวมทั้งอาการรุนแรงอย่างอื่น เช่นการเกิดลิ่มเลือด VITT ใน Virus Vector และ TTP ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่เกี่ยวพันกับ mRNA วัคซีน
6. ระดับภูมิต้านทานของ mRNA และ Virus Vector จะสูงกว่าชนิดเชื้อตายและโปรตีนซับยูนิต
7. ระดับภูมิต้านทานที่ขึ้นของวัคซีนจะขึ้นเป็นแบบเอกซ์โพเนนเชียล (Exponential) ดังนั้นความแตกต่างของบุคคลจึงมีมาก เช่นบางคนได้หลักสิบ บางคนได้หลักร้อย บางคนได้หลักพัน บางคนได้หลักหมื่น เราจึงไม่ใช้ว่า คนนี้มีภูมิต้านทานสูงกว่าคนนี้สิบเท่าหรือร้อยเท่า ในทางห้องปฏิบัติการการตรวจวัดภูมิต้านทาน เราจะทำน้ำเหลืองให้เจือจางเป็นสิบ เป็นร้อย เป็นพันเท่าอยู่แล้ว ในกรณีที่วัดภูมิต้านทานที่สูง ตัวอย่างเช่น ไวรัสตับอักเสบบี ใช้ระดับต่ำสุดในการป้องกันโรคเพียงแค่ 10 การให้วัคซีนบางคนขึ้นเป็นหลักร้อย หลักพัน หลักหมื่น และหลักแสน ก็ยังเคยเจอ เช่นเดียวกันกับการวัดปริมาณไวรัสในผู้ป่วย (Viral Load) จะใช้เป็นสเกล Log แต่โดยมากเมื่อขึ้นสูงก็จะลงเร็วมาก ร่างกายจะไม่เก็บไว้ ถ้าเก็บไว้ระดับ Globulin จะสูงมากจะปลดเป็นกองหนุนหมด และเมื่อเชื้อโรคเข้ามาก็จะระดมออกมาอย่างรวดเร็วเหมือนมีหน่วยความจำหรือฝึกไว้เรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากโควิด-19 มีระยะฟักตัวสั้นจึงทำให้การป้องกันการติดเชื้อไม่สมบูรณ์ แต่สามารถป้องกันความรุนแรงหรือเสียชีวิตได้
8. ปัจจุบันยังไม่มีบรรทัดฐานที่ว่าระดับภูมิต้านทานขนาดไหนจะป้องกันโรคได้ ดังนั้นการวัดภูมิต้านทานจึงใช้เปรียบเทียบกับผู้ที่หายป่วยจากโรคแล้ว ว่าภูมิที่วัคซีนสร้างขึ้นเท่าเทียมหรือสูงกว่าภูมิต้านทานที่เกิดจากการหายจากโรคแล้ว
9. ในผู้ที่หายจากโรคแล้วมีระดับภูมิต้านทานที่แตกต่างกันมาก ในผู้ที่เป็นน้อยภูมิต้านทานจะต่ำกว่าในผู้ที่มีอาการมากหรือมีปอดบวมหรือลงปอดหรือผู้ที่มีไข้สูงยาวนาน
10. วัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิต ทำคล้ายไวรัสตับอักเสบบี สร้างโปรตีนในส่วนของหนามแหลมไวรัส จุดสำคัญอยู่ที่การใช้สารเสริมกระตุ้นภูมิต้านทานที่เรียกว่า Adjuvant เพราะโปรตีนหนามแหลมนี้มีขนาดใหญ่ เราจะเห็นว่า วัคซีน Novavax ที่คนไทยพูดถึงกันบ่อยและอยากได้ใช้ แต่องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาเองก็ยังไม่รับรองอยู่ระหว่างการพิจารณา ทั้งนี้เพราะมีสารกระตุ้นภูมิต้านทาน Adjuvant ตัวใหม่ที่ยังไม่เคยใช้ในมนุษย์ที่เรียกว่า Matrix M ได้มาจากเปลือกไม้ต้น Molina ส่วนของจีนเองก็พัฒนาแต่ต้องให้ 3 ครั้งเช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบบีคือ 0, 1, 6 เดือน ซึ่งจะเสียเวลาในการกระตุ้นภูมิต้านทานให้ได้อย่างรวดเร็ว
ติดตามต่อ ในวันต่อไป
แหล่งที่มาของข่าว : Facebook Page – นพ.ยง ภู่วรวรรณ
สามารถติดตามข่าวโควิด-19 เพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวโควิด-19
- โควิดไทย 28/6/64 พบผู้ป่วยเพิ่ม 5,406 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 22 ราย
- ชมรมแพทย์ชนบท ชี้ไทยต้องเร่งหาวัคซีนโควิด เพื่อหาทางรอดวิกฤติ