พิธา เรียกร้อง รบ. ไม่อนุมัติ เงินช่วยเหลือรัฐบาลเมียนมา 4.3 พันล้าน

พิธา โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กเรียกร้องให้รัฐบาลไม่อนุมัติ เงินช่วยเหลือรัฐบาลเมียนมา มูลค่า 4.3 พันล้านบาท ชี้เสี่ยงสูญเงิน และ ต่างชาติไม่ลงทุน
นาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ออกมาโพสต์ข้อความเฟซบุ๊กเรียกร้องให้รัฐบาล ไม่อนุมัติให้ความช่วยเหลือรัฐบาลทหารเมียนมา 4,300 ล้าน เนื่องจากเป็นเสี่ยงเงินสูญ ต่างชาติไม่ลงทุน และไม่สอดคล้องหลักประชาธิปไตยสากล
โดยนายพิธาระบุว่า “เมื่อวันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ในฐานะที่ผมเป็นกรรมาธิการงบประมาณ 2565 ได้แสดงความเห็นคัดค้านการที่สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ NEDA ตั้งโครงการและงบประมาณให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเมียนมา 5 โครงการ
ผมตั้งข้อสังเกตต่องบประมาณและโครงการของ NEDA จากเอกสารชี้แจงหน้า 6 และ หน้า 7 จะพบว่า NEDA มีโครงการใน Pipeline ทั้งหมด 20 โครงการด้วยกัน ในจำนวนนี้เป็นโครงการในประเทศเมียนมา 5 โครงการ ได้แก่ โครงการ Water Supply และ Solid Waste Management ที่เมืองเมียวดี มูลค่า 777 ล้านบาท, โครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าในเมืองย่างกุ้ง 1,450 ล้านบาท, โครงการปรับปรุงถนนสองช่องทางเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายสู่ชายแดนไทย 4,300 ล้านบาท, โครงการสำรวจโครงการปรับปรุงถนนสองทางเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายกับชายแดนไทย มูลค่า 5 ล้านบาท, โครงการออกแบบปรับปรุงสถานีไฟฟ้าที่จังหวัดเมียวดี มูลค่า 13 ล้านบาท
ทั้ง 5 โครงการนี้ มี 4 โครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้วและส่วนใหญ่เป็นการอุดหนุนด้วยเงินนอกงบประมาณจากเงินที่ ครม. อนุมัติให้ NEDA ไปกู้จากสถาบันการเงิน แล้วไปปล่อยกู้ต่อเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับประเทศเพื่อนบ้าน
แต่มีโครงการที่ยังไม่เริ่มแล้วก็ยังรอการอนุมัติจาก ครม. คือ ‘โครงการปรับปรุงถนนสองช่องทางเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายสู่ชายแดนไทย’ มูลค่า 4,300 ล้านบาท ซึ่งผมอยากฝากให้ผู้อำนวยการ NEDA และตัวแทนในคณะกรรมาธิการจากคณะรัฐมนตรี ว่าขอให้ชะลอโครงการดังกล่าวไปก่อนจนกว่าสถานการณ์ในเมียนมาจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตยที่ปกครองโดยรัฐบาลพลเรือน
โดยเหตุผลที่คัดค้านโครงการดังกล่าว เหตุผลแรกคือ สถานการณ์การรัฐประหารและสงครามกลางเมืองในเมียนมา ทำให้สภาพเศรษฐกิจเมียนมาอยู่ในวิกฤติอย่างหนัก และก็คงจะไม่มีใครไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายอีก คงจะไม่มีประโยชน์อะไรหากจะทุ่มเงิน 4 พันล้านบาทของไทยไปกับโครงการของนายทุน ในเวลาที่ไม่มีนายทุน แล้วก็เป็นการทุ่มเงิน 4 พันล้านบาทลงไปบนกองซากปรักหักพัง
เหตุผลที่สอง หลังจากการรัฐประหารในเมียนมาเป็นต้นมา ทั้งญี่ปุ่นและ EU ก็ได้คว่ำบาตรเงินช่วยเหลือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เคยให้กับเมียนมา ส่วนของสหรัฐฯ ทาง USAID ก็ได้เปลี่ยนแปลงจากเงินช่วยเหลือที่ให้กับรัฐบาล ไปเป็นเงินช่วยเหลือที่ให้กับภาคประชาสังคม NGO ต่างๆ
ท้ายสุด ผมจึงได้ตั้งข้อสังเกตและฝากไปยังท่านผู้อำนวยการว่า ตราบเท่าที่สถานการณ์ในเมียนมายังไม่คลี่คลาย คณะรัฐประหารยังคงปกครองบ้านเมืองเข่นฆ่าประชาชนอยู่ ก็ขอให้โครงการพัฒนาต่อๆ ไปที่ NEDA จะทำร่วมกับคนในเมียนมา เป็นโครงการพัฒนาที่มุ่งเป้าไปยังภาคประชาสังคม เพื่อช่วยเหลือประชาชน มากกว่าที่จะร่วมมือกับทหารเมียนมา เพื่อจะเป็นการรักษาสถานะของไทยในเวทีโลก และเป็นการใช้กลไกของ NEDA ในการสร้างและเสริมส่ง Soft Power ของประเทศไทยในภูมิภาคและเวทีโลกต่อไป
อย่างไรก็ตาม นอกจากโครงการปรับปรุงถนนสองช่องทางเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายสู่ชายแดนไทย มูลค่า 4,300 ล้านบาท ที่รอการอนุมัติจาก ครม. แล้ว ในปีงบประมาณ 2565 ยังมีการตั้งงบประมาณให้ความช่วยเหลือโครงการ ให้ความช่วยเหลือแก่เมืองเมียวดี ในด้าน Water Supply และ Solid Waste Management วงเงิน 104.42 ล้านบาทอีกด้วย ซึ่งเป็นการตั้งงบประมาณเพิ่มเติมจากวงเงินเดิมที่อนุมัติไว้ในปี 2564 วงเงิน 777.77 ล้านบาท ซึ่งมีการคัดค้านจาก กมธ. พรรคก้าวไกลว่าขอให้ชะลอโครงการออกไปก่อนจนกว่ารัฐบาลจะมีท่าทีที่ชัดเจนต่อสถานการณ์การรัฐประหารในเมียนมา
ประเด็นที่สำคัญที่สุดที่ผมอยากผลักดันต่อไป ก็คือจากในเอกสารชี้แจงของ NEDA ที่ระบุว่า ครม. จะอนุมัติโครงการดังกล่าวภายในปี 2564 ผมจึงขอเรียกร้องไปยัง NEDA อีกครั้งว่าให้ยับยั้งการเสนอโครงการดังกล่าวเข้า ครม. และเรียกร้องไปยัง ครม. ว่าหากมีวาระพิจารณาโครงการดังกล่าวเข้ามาก็ขอให้ไม่อนุมัติโครงการดังกล่าว ทั้งด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจว่าน่าจะลงทุนไม่ได้ตามเป้า และเหตุผลทางหลักการประชาธิปไตย ว่าประเทศไทยไม่ควรสนับสนุนเผด็จการทหารเมียนมา
- สื่อเผย พระอาจารย์ มินอ่องหล่าย ดับ หลังเครื่องบินตกเมียนมา
- ‘อองซานซูจี’ ปรากฏตัวขึ้นศาลเป็นครั้งแรก หลังถูกรัฐประหาร
- พิธา ตั้งคำถามจะรอดวิกฤตอย่างไร เมื่อ สิทธิรักษาตัว ยังไม่เท่าเทียมกัน