ข่าวข่าวการเมือง

พิธา ตั้งคำถามจะรอดวิกฤตอย่างไร เมื่อ สิทธิรักษาตัว ยังไม่เท่าเทียมกัน

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ตั้งคำถามการจัดสรรงบประมาณ ปี 2565 จะพาทุกคนพ้นวิกฤตได้อย่างไร เมื่อ สิทธิรักษาตัว ยังไม่เท่าเทียมกัน

วันนี้ 2 มิ.ย. 2564 วันที่สามของการประชุมสภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจําปี 2565 นาย พิธา ลิ้มเจริญ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวในที่ประชุมรัฐสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565

โดยตั้งคำถามงบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาทฉบับนี้จะนำพาประชาชนออกจากวิกฤตที่หนักหนาสาหัสได้จริงๆ หรือไม่ เมื่อรัฐบาลที่มีหน้าที่ยังคงใช้กรอบความคิดและวิธีการทำงานแบเดิมทั้งที่ยุคสมัยเปลี่ยนไป

นายพิธา กล่าวเสริมว่าจากนี้อาจจะไม่มีอีกแล้วสำหรับประเทศไทยแบบเดิมที่ทุกคนรู้จัก เพราะหลายสิ่งหลายอย่างจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป ระบบสาธารณสุขไทยอาจจะต้องมานับหนึ่งกันใหม่ ไม่หยุดแค่การรับมือกับโรคระบาด ณ ปัจจุบัน แต่อาจจะเป็นการเตรียมมือรับมือเชื้อโรคอีกมากมายหลายชนิดในอนาคต เรื่องของเศรษฐกิจก็ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ ช่องว่างทางสังคมกว้างขึ้น ก้นเหวทางเศรษฐกิจไม่ใช่เพียงแค่จากโรคโควิด-19 ในครั้งนี้เพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากความท้าทายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตสังคมผู้สูงวัย ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน ปัญหาดิจิตอลดิสรัปชั่น และปัญหาอื่นๆอีกมากมาย

หัวหน้าพรรคก้าวไกล เชื่อว่าถ้ายังปล่อยให้ประเทศไทยเป็นแบบนี้สิ่งที่จะตามมาก็คือคนชนชั้นบนจะยิ่งรวยขึ้น คนชนชั้นล่างก็จะยิ่งจนลง คนชนชั้นกลางก็จะร่วงตกลงมา ยิ่งพอได้อ่านงบประมาณฉบับนี้ยิ่งทราบว่าไม่มีทางเลยที่ประเทศจะหลุดออกจากวิกฤติและความอึดอัดทรมานครั้งนี้ไปได้หากไม่มีการถอนรากถอนโคนวิธีคิดวิธีจัดทำงบประมาณใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์อันเลวร้ายที่บ้านเมืองกำลังประสบอยู่

นายพิธา ยกตัวอย่างการแก้ปัญหาต้องเริ่มจากกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดในสังคมไทย คิดจากมุมมของเด็กที่หิวโหย คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ทำงานเพื่อส่งลูกเรียนหนังสือ เป็นอิฐก้อนแรกในการฟื้นฟูประเทศไทย คนชราต้องได้สวัสดิการทุกคนถ้วนหน้าให้อัตราที่เหนือกว่าเส้นความยากจน

อิฐก้อนต่อไป คือ การดูแลเด็กๆลูกหลานของเราซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญของสังคม จากข้อมูลของสภาพัฒน์ทุกวันนี้เด็กไทยยังคงหิวโหยอยู่มาก

อิฐก้อนถัดมาคือด้านการศึกษา เด็กทุกคนต้องได้รับพัฒนาการที่สมวัย อิฐก้อนต่อไปเรื่องของสาธารณสุข วัคซีนต้องไม่ใช่แค่เข็ม 1 หรือเข็ม 2 แต่ต้องเป็นเข็มที่ 3หากต้องการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและรับมือโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ

อย่างไรก็ตาม นายพิธา แจงชัดว่าจากทุกปัญหาที่กล่าวมานั้นงบประมาณปี 65 ที่จัดสรรนั้นกลับสวนทางกับการแก้ปัญหาความเป็นจริงที่เกิดขึ้น อาทิ การตัดงบกระทรวงสาธารณสุข การตัดงบบัตรทอง และตัดงบกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button