กษ. สั่งดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดของ Lumpy Skin Disease
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ได้ทำการสั่งให้มีการดำเนินการควบคุม การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) ที่เกิดขึ้นในโค-กระบือ
รมว.เกษตรฯ สั่งควบคุมต้นตอของการระบาดของโรคลัมปิ สกิน กำชับให้ดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด อีก 5 วันได้รับวัคซีน เตรียมวางแผนปูพรมฉีดสะกัดการระบาด
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่ขณะนี้ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ จึงได้มีข้อสั่งการให้กรมปศุสัตว์เร่งควบคุมต้นตอของการระบาดของโรคลัมปี สกิน
โดยให้เข้มงวดเรื่องการเคลื่อนย้ายสัตว์ โดยเฉพาะการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ตามแนวชายแดนทุกแห่ง หากพบผู้กระทำผิดให้ดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ต้องกลัวอิทธิพล แต่หากปล่อยปละละเลยให้มีการลักลอบเคลื่อนย้าย และเกิดการแพร่ระบาดของโรค LSD เพิ่มขึ้น จะดำเนินการทางวินัยโดยเด็ดขาด
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการ และคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการป้องกัน ควบคุม และเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุโรคลัมปี สกิน หรือ War room เพื่อทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์โรคระบาด วางแผนมาตรการควบคุมโรค วางแผนการกระจายวัคซีน การป้องกันกำจัดโรค ตลอดจนมาตรการชดเชยเยียวยาเกษตรกร
พร้อมทั้งได้ดำเนินการแก้ไขและควบคุมการระบาดใน 5 มาตรการ คือ
- ควบคุมการเคลื่อนย้ายโค-กระบือ เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค และปฏิบัติตามแนวทางการเคลื่อนย้ายอย่างเคร่งครัด โดยกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการปิดด่านตามแนวชายแดน เช่น ด่านชายแดนพม่า พร้อมตรวจตราการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์อย่างเข้มงวด และเข้มข้น
- เฝ้าระวังการเกิดโรคอย่างใกล้ชิด เน้นการรู้โรคให้เร็ว ควบคุมได้ทัน โรคสงบได้อย่างรวดเร็ว
- ป้องกัน และควบคุมแมลงพาหะนำโรค ให้เกษตรกรป้องกันโดยใช้สารกำจัดแมลงทั้งบนตัวสัตว์ และบริเวณโดยรอบฟาร์ม ทั้งในพื้นที่ระบาดของโรคและพื้นที่เสี่ยง ด้วยการประสานด่านกักกันสัตว์ อบจ. อบต. ลงพื้นที่พ่นยาฆ่าแมลง และแจกยาฆ่าแมลง รวมถึงให้คำแนะนำการป้องกัน
- รักษาสัตว์ป่วยตามอาการ เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสไม่มียาที่ใช้รักษาโดยตรง ซึ่งจำเป็นต้องรักษาตามอาการ โดยแบ่งการรักษาเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 สัตว์ป่วยแสดงอาการมีไข้ให้ดำเนินการให้ยาลดไข้ ระยะที่ 2 เริ่มแสดงอาการตุ่มบนผิวหนัง ให้ยาลดการอักเสบ ระยะที่ 3 ตุ่มบนผิวหนังมีการแตก หลุดลอก ให้ยารักษาแผลที่ผิวหนังร่วมกับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ระยะที่ 4 แผลที่ผิวหนังตกสะเก็ด ใช้ยารักษาแผลภายนอกจนกว่าจะหายดี
- การใช้วัคซีนควบคุมโรค
อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการสั่งซื้อวัคซีน LSDV จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีแหล่งผลิตในประเทศแอฟริกาใต้ รวม 60,000 โดส เนื่องจากประเทศไทยไม่มีวัคซีนดังกล่าว เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย
ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประสานงานเพื่อส่งมอบวัคซีน คาดว่าจะสามารถส่งมาถึงประเทศไทยได้ภายใน 5 วันจากนี้ และหลังจากวัคซีนเข้ามาแล้ว จะต้องได้รับหนังสือรับรองรุ่นการผลิตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ก่อนนำมาใช้ได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย คาดว่าน่าจะช่วงกลางเดือน มิ.ย.
อีกทั้งกรมปศุสัตว์ กำลังดำเนินการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอีกประมาณ 300,000 โดส จากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ในต่างประเทศ เพื่อเสริมระบบในการควบคุม ป้องกันโรค ลัมปีสกิน ในประเทศไทยโดยเร็วต่อไป
แหล่งที่มาของข่าว : รัฐบาลไทย
สามารถติดตามข่าวทั่วไทยเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวทั่วไทย
- ‘อัศวิน’ เผยคนกรุงฯเปิดจองสิทธิ์ ฉีดวัคซีน ผ่าน ไทยร่วมใจ หรือแอปฯ เป๋าตังค์
- รู้จัก ‘โรคลัมปี สกิน’ (Lumpy Skin Disease) โรคติดต่อใหม่ในโค-กระบือ