ข่าวข่าวภูมิภาค

ครม. ยืดเวลาศึกษาเข้าร่วม CPTPP อีก 50 วัน

รองโฆษกฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. ตัดสินใจยืดเวลาศึกษาเข้าร่วม CPTPP เป็นอีก 50 วัน จากกำหนดเดิมคือวันที่ 15 เม.ย

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความลงทวิตเตอร์เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่ คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ขอขยายระยะเวลาในการศึกษาการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือCPTPPตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมCPTPPได้ส่งข้อเสนอมายังรัฐบาลออกไปอีก 50 วันจากเดิมที่สิ้นสุดกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ในวันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา

Advertisements

การขยายระยะเวลาในการศึกษาเนื่องจากคณะทำงาน 8 คณะที่รัฐบาลได้จัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับกรณีเข้าร่วมCPTPPยังต้องการระยะเวลาในการศึกษารายละเอียดต่างๆให้ครอบคลุมรอบด้านในทุกประเด็นก่อนที่จะเสนอข้อมูลให้ครม.และนายกรัฐมนตรีรับทราบ

นางสาวรัชดา กล่าวอีกว่า ในขณะนี้ยังเป็นขั้นตอนที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลและผลกระทบเพื่อตัดสินใจว่าเราจะเข้าไปเจรจาเป็นสมาชิก หรือไม่ ยังไม่ได้มีการตัดสินใจหรือมอบอำนาจให้นายกรัฐมนตรีไปเจรจาตามขั้นตอนหรือไม่ โดยข้อเสนอของคณะกรรมการวิสามัญของสภาฯที่เสนอมายังรัฐบาล หน่วยงานต่างๆที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ในคณะทำงานทั้ง 8 คณะก็ได้กลับไปทำงานโดยละเอียด แล้วภายหลังจากที่สิ้นสุดระยะเวลาที่ครม.ขยายให้ 50 วันก็จะมีการรายงานให้ ครม.และนายกรัฐมนตรีรับทราบเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจในการเข้าร่วมเจรจาในข้อตกลงดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร

“ขณะนี้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจหรือมอบหมายอำนาจให้นายกฯไปเจรจาในเรื่องซีพีทีพีพีแต่อย่างไร แต่หากข้อเสนอมีทิศทางให้ไปเจรจา ก็ต้องมีการกำหนดท่าที และข้อสงวนในการเจรจาที่จะเกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนคนไทย เกษตรกรไทย ซึ่งรัฐบาลจะต้องพิจารณาเรื่องเหล่านี้โดยรอบครอบและคำนึงถึงเรืองนี้มากที่สุด” นางสาวรัชดากล่าว

สำหรับข้อเสนอของกรรมาธิการวิสามัญ ที่ประเด็นสำคัญในการเข้าร่วม หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ของไทยจะต้องเตรียมความพร้อม 4 ประเด็น ได้แก่

1.การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าโดยไทยมีกลไกเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอยู่บ้างแล้วผ่านกลไกของกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ แต่ยังไม่ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบในทุกกลุ่ม และยังขาดความต่อเนื่อง ขณะที่กระทรวงพาณิชย์โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศอยู่ระหว่างการจัดตั้งกองทุน FTA ที่มีความต่อเนื่อง คล่องตัว และการจัดการข้อมูลที่ดีเพื่อรวบรวมข้อมูลผู้ที่ได้รับผลกระทบ และติดตามผลการช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยพัฒนาศักยภาพและยกระดับการแข่งขันได้จริง

2.ความมั่นคงทางภาคเกษตรของไทยโดยกรรมาธิการฯระบุว่าความตกลงดังกล่าว มีข้อบทที่กำหนดให้ภาคีความตกลงต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) ทำให้เกษตรกรรายย่อยได้รับผลกระทบ หรืออาจมีการแสวงหาประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของไทย ซึ่งจะต้องมีการยกระดับกฎหมายด้านการคุ้มครองพันธุ์พืชและความหลากหลายทางชีวภาพของไทย

Advertisements

โดยรัฐบาลได้รายงานว่าได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพรบ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ให้มีผลใกล้เคียงกับ UPOV1991 รวมทั้งออกกฎหมายคุ้มครองการเก็บเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองไว้ปลูกต่อได้ และจัดทำกฎหมายว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของไทยซึ่งมีกลไกเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรชีวภาพรวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ รวมทั้งเร่งสนับสนุนให้มีการปรับปรุงพันธุ์และผลิตเมล็ดพันธุ์ต่างๆเพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ในภูมิภาค

3.ความมั่นคงทางระบบสาธารณสุขในประเด็นนี้กรรมาธิการฯมีความเป็นห่วงว่าความตกลงCPTPPมีข้อกำหนดให้เปิดการนำเข้าสินค้าประเภท“remanufactured goods”ซึ่งอาจส่งผลให้มีการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ที่มีประสิทธิภาพและอายุการใช้งานน้อยกว่าเครื่องมือแพทย์สมัยใหม่ และการกำหนดไม่ให้รัฐวิสาหกิจที่มีพันธกิจในทางการแพทย์มีข้อได้เปรียบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ขององค์การเภสัชกรรมที่กำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องจัดซื้อยาจากองค์การเภสัชฯเป็นลำดับแรก 30% ของงบประมาณโดยรัฐบาลชี้แจงว่าเรื่องนี้หากเปิดให้มีการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ดังกล่าวจะต้องกำหนดนิยามและพิกัดศุลกากรเครื่องมือแพทย์ดังกล่าวให้ชัดเจน และการปรับแก้ปฎหมายที่เกี่ยวข้อง และองค์การอาหารและยา (อย.) ซึ่งจำเป็นที่จะต้องขอสงวนในส่วนนี้และขอระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเพื่อปรับตัว

4.มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเขตการค้าเสรี (Free Zone)และการกำกับดูแลมาตรฐานสินค้านำเข้า ในปัจจุบันมีข้อกำหนดว่าผู้ผลิตที่มีกระบวนการผลิตใน Free Zone และใช้วัตถุกิบภายในประเทศหรืออาเซียนไม่น้อยกว่า 40% ไทยจึงจำเป็นต้องปรับแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้โดยจะต้องศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และหารือแนวทางดำเนินการที่จำเป็นกับผู้ประกอบการใน Free Zoneส่วนเรื่องมาตรฐานสินค้าเพิ่มเติมต้องศึกษาให้รอบครอบรวมทั้งต้องระวังการฟ้องร้องจากประเทศผู้นำเข้าสินค้าด้วย

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button