ราชกิจจา เผยแนวทางปฏิบัติวิชาชีพ พยาบาล – ผดุงครรภ์ ผู้ป่วยไม่ขอยืดวาระสุดท้าย
ราชกิจจา ได้ประกาศแนวทางปฏิบัติวิชาชีพสำหรับ พยาบาล – ผดุงครรภ์ ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ขอยืดวาระสุดท้าย หรือไม่ขอให้ทำการยื้อชีวิตต่อ
เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา (ราชกิจจา) เผยแพร่ ประกาศสภาการพยาบาล เรื่อง แนวทางการปฏิบัติของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล (พยาบาล) และการผดุงครรภ์ (ผดุงครรภ์) เกี่ยวกับหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต (มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550) ความว่า ด้วย สภาการพยาบาล สนับสนุนให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ปฏิบัติงานการพยาบาลแก่บุคคลตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ. 2553 อันเป็นการแสดงความเคารพในสิทธิของบุคคลในการตัดสินใจด้วยตนเองถึงความต้องการครั้งสุดท้ายของชีวิต
หนังสือแสดงเจตนาฯ ดังกล่าวนี้ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสื่อสารระหว่างผู้ป่วย ญาติ และผู้ให้การรักษาพยาบาลมีความเข้าใจตรงกันในความต้องการของผู้ป่วยเมื่อไม่มีสติสัมปชัญญะแล้ว
คณะกรรมการสภาการพยาบาลในคราวประชุมครั้งที่ 12/2563 วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2563 จึงมีมติให้ประกาศสภาการพยาบาล เรื่อง แนวทางการปฏิบัติของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์เกี่ยวกับหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต (มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550) ดังนี้
- ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ได้รับหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตจากผู้รับการพยาบาล ให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลฯ แจ้งให้แพทย์ผู้ให้การรักษาทราบและพิจารณาหนังสือแสดงเจตนาฯ ดังกล่าว
- กรณีแพทย์รับหนังสือแสดงเจตนาฯ ไว้ประกอบแผนการรักษาพยาบาล ให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลฯ บันทึกไว้ในบันทึกทางการพยาบาล โดยต้นฉบับหนังสือแสดงเจตนาฯ มอบให้กับผู้รับการพยาบาล และเก็บสำเนาหนังสือแสดงเจตนาฯ ไว้ในเวชระเบียน
- กรณีแพทย์ไม่รับหนังสือแสดงเจตนาฯ แพทย์จะเป็นผู้ชี้แจงเหตุผลการคืนหนังสือแสดงเจตนาฯ
- ผู้รับบริการขอทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลฯ ดำเนินการ ดังนี้
- จัดให้ผู้รับบริการพบแพทย์ผู้ให้การรักษาเพื่อให้แพทย์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำหนังสือแสดงเจตนาฯ และการจัดทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ให้เป็นไปตามระเบียบของหน่วยงาน โดยผู้จัดทำไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลฯ
- บันทึกข้อมูลไว้ในบันทึกทางการพยาบาล โดยต้นฉบับหนังสือแสดงเจตนาฯ มอบให้กับผู้รับบริการ และเก็บสำเนาหนังสือแสดงเจตนาฯ ไว้ในเวชระเบียน
ประกาศ ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 / รองศาสตราจารย์ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล
แหล่งที่มาของข่าว : คมชัดลึกออนไลน์ (KomChadLuek Online)
สามารถติดตามข่าวทั่วไปเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวทั่วไป
- ‘ปวิน’ เผย ไทยถอนฟ้องเฟซบุ๊ก หลังเจอเฟซบุ๊กฟ้องกลับ
- สหรัฐฯ เร่งตรวจสอบ ผลข้างเคียง จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน