สุขภาพและการแพทย์

รัฐย้ำ! ไม่ได้ห้ามเอกชนซื้อวัคซีน แต่วัคซีนผลิตไม่พอยอดสั่ง -ระวังปัญหาวัคซีนปลอม

รัฐบาลย้ำ ไม่ได้ผูกขาดจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ไม่ปิดกั้นเอกชนนำเข้า แต่ติดปัญหายอดสั่งซื้อวัคซีนทั่วโลกมีมากกว่ากำลังผลิตของบริษัทวัคซีน ทำให้เอกชนเองก็หาวัคซีนไม่ได้ ขณะเดียวกันผู้ผลิตวัคซีนหลายรายก็ไม่ขายให้รายย่อย เช่น จอห์นสันแอนด์จอห์นสันห์ก็บอกชัดเจนว่าในระยะแรกจะขายให้หน่วยงานของรัฐเท่านั้น

วันที่ 8 เม.ย. 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากกรณีที่ยังมีการเผยแพร่ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนให้ประชาชนเกิดความสับสนโดยต่อเนื่องว่า รัฐบาลผูกขาดการนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อยู่ที่ผู้ผลิตเพียงไม่กี่บริษัท และยังแสดงข้อความที่ทำให้เข้าใจว่ารัฐบาลปิดกั้นไม่ให้เอกชนนำเข้าวัคซีนนั้น รัฐบาลขอย้ำอีกครั้ง แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ชี้แจงกรณีนี้ในหลายโอกาสแล้วว่า รัฐบาลไม่ได้ผูกขาดการจัดซื้อวัคซีนเพียงบางบริษัท และไม่ได้ปิดกั้นที่เอกชนจะนำเข้าวัคซีนแต่อย่างใด

Advertisements

ทั้งนี้ ประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนคือเวลานี้ความต้องการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากทุกประเทศทั่วโลกมีสูงกว่าความสามารถในการผลิตของผู้ผลิตทุกราย หรือเรียกว่าดีมานมากกว่าซัพพลาย ตลาดเป็นของผู้ขายไม่ใช่ผู้ซื้อ และผู้ผลิตทุกรายซึ่งผลิตวัคซีนด้วยมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก(WHO) เวลานี้ก็ผลิตเพื่อส่งให้ประเทศต่างๆ ที่ทำการสั่งซื้อไว้แล้วเป็นหลักเท่านั้น

โดยข้อมูลของของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ที่รวบรวมจากแหล่งต่างๆ พบว่า ณ วันที่ 5 เม.ย. 2564 ทุกประเทศทั่วโลกมียอดจองวัคซีนโควิด-19 รวมสูงถึง 9,600 ล้านโด๊ส เพราะหลายประเทศมีคำสั่งซื้อสูงกว่าจำนวนประชากร 2-3 เท่าตัว ขณะยอดวัคซีนที่มีการฉีดแล้วอยู่ที่ 658 ล้านโด๊ส แสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตยังต้องผลิตตามยอดคำสั่งซื้อของรัฐบาลประเทศต่างๆ อีกจำนวนมาก

ดังนั้น แม้ขณะนี้รัฐบาลจะนำเข้าวัคซีนจากบริษัทคือซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า แต่ก็มีความพยายามจัดหาวัคซีนจากบริษัทอื่นเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอกับประชาชนในประเทศ แต่ยังมีข้อจำกัดการผลิตของผู้บริษัทรายอื่นที่ยังไม่เพียงพอตามข้อมูลข้างต้น

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ยังมีอีกประเด็นสำคัญที่ยังไม่มีการกล่าวถึงกันมากนักคือ วัคซีนจากผู้ผลิตทุกรายในเวลานี้เป็นการใช้แบบกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use) นั่นคือหากเกิดอะไรขึ้นจากการใช้วัคซีนกับประชาชน รัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบไม่ใช่บริษัทผู้ผลิต จึงทำให้ขณะนี้เกือบทุกประเทศทั่วโลกรัฐบาลจะเป็นผู้จัดหาและนำเข้าวัคซีน โดยถือว่าวัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะ(Public Goods) ยังไม่มีประเทศใดที่ให้ซื้อวัคซีนโควิด-19ได้เองแบบเชิงพาณิชย์(Commercial) และยังมีประเด็นที่รัฐบาลต้องระมัดระวังอีกคือ เมื่อกระจายการสั่งซื้อไปยังเอกชนแล้วอาจจะต้องบริหารจัดการอย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาว่าประชาชนได้รีบวัคซีนปลอม

“ขณะนี้ยังคงมีความพยายามสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเรื่องวัคซีนโควิด-19 โดยเฉพาะประเด็นการนำเข้าโดยเอกชน ซึ่งในประเด็นนี้ทั้งรัฐบาลไม่ขัดข้องที่เอกชนจะนำเข้า แต่ปัญหาอยู่ที่ ความต้องการวัคซีนทั่วโลกมีสูงกว่าความสามารถในการผลิต ทำให้เอกชนเองก็หาวัคซีนไม่ได้ ขณะเดียวกันผู้ผลิตวัคซีนหลายรายก็ไม่ขายให้รายย่อย เช่น จอห์นสันแอนด์จอห์นสันห์ก็บอกชัดเจนว่าในระยะแรกจะขายให้หน่วยงานของรัฐเท่านั้น ของจีนก็ต้องมีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้สั่ง สถานการณ์วัคซีนทั่วโลกเวลานี้เป็นแบบนี้ แต่แนวทางของรัฐบาลเองชัดเจนว่าหากเอกชนรายใดหาวัคซีนได้องค์การอาหารและยา(อย.)ก็พร้อมออกใบอนุญาตให้อยู่แล้ว”น.ส.ไตรศุลี กล่าว

Advertisements

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองจาก อย. และขึ้นทะเบียนในประเทศไทยแล้ว 3 บริษัท คือ ซิโนแวค แอซตร้าเซนเนกา และ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ส่วนที่อยู่ในขั้นตอนยื่นเอกสารแบบต่อเนื่อง หรือ rolling submission คือวัคซีนของบริษัท บารัต ไบโอเทค เทคโนโลยี ประเทศอินเดีย นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด

นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่อยู่ในขั้นตอนการหารือกับ อย. เพื่อเตรียมการยื่นคำขอขึ้นทะเบียน คือวัคซีนโมเดอร์นา จากสหรัฐฯ วัคซีนสปุตนิก ไฟว์ จากรัสเซีย และวัคซีน ซิโนฟาร์ม จากจีน

ไทยเกอร์นิวส์

นำเสนออัปเดตข่าวสารบ้านเมือง ข่าวล่าสุด มั่นใจว่าคุณจะทันทุกสถานการณ์ ไม่ว่า สังคมเศรษฐกิจ การเงิน การเมือง เรื่องร้อนออนไลน์ ดราม่าดารา อัปเดตบันเทิง ซีรีส์ หนัง เพลง ท่องเที่ยว กีฬา ตรวจหวย เลขเด็ด พร้อมเสิรฟ์ทุกเรื่องยาก ๆ ย่อยให้คุณเข้าใจง่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button