คลัง เผย รายงาน ภาวะเศรษฐกิจ การคลังประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2564
กระทรวงการคลัง เปิดเผย รายงาน ภาวะเศรษฐกิจ การคลังประจำเดือน กุมภาพันธ์ ประจำปี 2564 โดยมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
“ภาวะเศรษฐกิจ ของประเทศไทยในเดือน กุมภาพันธ์ 2564 ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกที่ไม่รวมทองคำ นอกจากนี้ความเชื่อมั่นที่สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ภายในประเทศที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง การฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมาตรการของภาครัฐที่มีส่วนสำคัญในการพยุงกำลังซื้อของผู้บริโภค”
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า
“เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกที่ไม่รวมทองคำ นอกจากนี้ความเชื่อมั่นที่สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ภายในประเทศที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง การฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมาตรการของภาครัฐที่มีส่วนสำคัญในการพยุงกำลังซื้อของผู้บริโภค”
โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 12.3 และ 0.6 จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หรือหดตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -30.7 และ -5.9 ต่อปี ตามลำดับ
สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.7 ต่อปี เช่นเดียวกันกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 49.4 จากระดับ 47.8 ในเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) ระลอกใหม่ภายในประเทศเริ่มคลี่คลายลง ประกอบกับมีความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน COVID -19 ภายในประเทศ รวมถึงมาตรการของภาครัฐช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 18.6 ต่อปี สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -2.3 ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่นเดียวกันกับภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อปี
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ -2.6 ต่อปี แต่เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำ พบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่
- สินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผักและผลไม้ และยางพารา ขยายตัวร้อยละ 46.6 42.9 และ 22.9 ต่อปี ตามลำดับ รวมถึงการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง และเครื่องปรุงรส ที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง
- สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) อาทิ โทรศัพท์และอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาทิ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น
- สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ที่ยังคงมีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น อย่างไรก็ดี การส่งออกทองคำ และสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ยังคงลดลง
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่อง ที่ร้อยละ 19.7 ต่อปี เช่นเดียวกับการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย จีน และเอเชียใต้ ขยายตัวที่ร้อยละ 18.3 15.7 และ 13.9 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การส่งออกไปตลาดอาเซียน 9 ประเทศ ยังคงลดลงที่ร้อยละ -11.8 ต่อปี
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 85.1 จากระดับ 83.5 ในเดือนมกราคม 2564 โดยได้รับมีปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกัน COVID-19 ของภาครัฐ ส่งผลให้การดำเนินกิจการและกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการสนับสนุนกำลังซื้อของภาครัฐ อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ และการเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า สำหรับบริการด้านการท่องเที่ยว พบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) และนักธุรกิจ จำนวน 5,741 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร และจีน เป็นต้น
ในขณะที่ภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.4 ต่อปี จากการลดลงของผลผลิตข้าวเปลือก และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น
เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -1.2 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.04 ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2564 อยู่ที่ร้อยละ 52.0 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อยู่ในระดับสูงที่ 253.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
แหล่งที่มาของข่าว : Facebook Page – สถานีข่าวกระทรวงการคลัง
สามารถติดตามข่าวเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวเศรษฐกิจ
- กองสลากนำทีมปราบ ขบวนการทุจริตลอตเตอรี่ ‘หวยสแกน’ กลโกงสแกนแล้วขายต่อ
- ลงนามวันนี้ สัญญารถไฟความเร็วสูง 3 ฉบับ