หมอธีระ แจงข้อดี ‘วัคซีนโควิด’ แต่ละยี่ห้อ แนะไทยเหมาะฉีดเข็มเดียวจบ
หมอธีระ เผยข้อดี วัคซีนโควิด แต่ละยี่ห้อ ทั้งสรรพคุณ ความปลอดภัย การเก็บรักษา พร้อมแนะนำว่าไทยเหมาะกับการฉีดเข็มเดียวจบ ลดปัญหาตามฉีดเข็มสอง
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ รองหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ฝ่ายนวัตกรรมและเทคโนโลยี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ Facebook ส่วนตัว อัปเดตสถานการณ์โควิด-19 ในวันนี้ (2 มี.ค.) พร้อมทั้งเผยข้อดีของ วัคซีนโควิด แต่ละยี่ห้อ ทั้งสรรพคุณ ความปลอดภัย การเก็บรักษา
นอกจากนี้ หมอธีระยังแนะนำเพิ่มเติมว่าหากมีวัคซีนแบบฉีดเข็มเดียวจบ จะเหมาะกับประเทศไทยมาก เพราะจะลดป้ญหาการติดตามคนมาฉีดเข็มที่สองได้
โพสต์ดังกล่าว ระบุว่า: “สถานการณ์ทั่วโลก 2 มีนาคม 2564…เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 286,922 คน รวมแล้วตอนนี้ 114,936,822 คน ตายเพิ่มอีก 6,140 คน ยอดตายรวม 2,548,336 คน
- อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 53,346 คน รวม 29,297,183 คน ตายเพิ่มอีก 1,159 คน ยอดตายรวม 526,914
- คนอินเดีย ติดเพิ่ม 10,974 คน รวม 11,122,986 คน
- บราซิล ติดเพิ่ม 35,742 คน รวม 10,587,001 คน
- รัสเซีย ติดเพิ่ม 11,571 คน รวม 4,257,650 คน
- สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 5,455 คน รวม 4,182,009 คน
- อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลักหมื่นต่อวัน
- แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงบังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
- แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่หลักร้อยถึงพันกว่า แนวโน้มดูลดลง
- ในขณะที่แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักพัน
- เกาหลีใต้ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนสิงคโปร์ เมียนมาร์ จีน ไทย ฮ่องกง และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
หากดูตามข้อมูลวิชาการที่มีขณะนี้ ทั้งในเรื่องสรรพคุณด้านการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการและแบบไม่มีอาการ การลดความรุนแรงของโรคหรือการเสียชีวิต และผลต่อสายพันธุ์ไวรัสที่กลายพันธุ์ ดูแล้ววัคซีนของ Pfizer/Biontech, Moderna, และ Johnson&Johnson น่าจะมีข้อได้เปรียบ ตัวเลือกถัดๆ มาคือ Novavax และ Astrazeneca
แต่หากดูเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับการเก็บรักษาและความสะดวกในการฉีด ที่ดูจะมีภาษีดีสุดคือ Johnson&Johnson เพราะฉีดเพียงครั้งเดียว และเก็บในตู้เย็นได้ ส่วนวัคซีนตัวอื่นๆ ก็มีข้อจำกัดแตกต่างกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีการฉีดสองครั้ง
ในขณะที่หากดูข้อมูลเรื่องความปลอดภัย จากการฉีดในสถานการณ์จริง ไม่ใช่ในงานวิจัย ขณะนี้ที่ดูมีข้อมูลเรื่องนี้และน่าจะมั่นใจได้มากคือ Pfizer/Biontech, Moderna, และ Astrazeneca
ส่วนวัคซีนอื่นๆ นั้น หน่วยงานของแต่ละประเทศที่นำมาใช้ก็คงต้องขอรายละเอียดเชิงลึก เช่น ผลการศึกษาระยะที่ 3 อย่างละเอียด (ฉบับเต็ม) ซึ่งจะทำให้เข้าใจโครงสร้างประชากรที่ศึกษา สถานที่และวิธีการทำการวิจัยในแต่ละประเทศ ผลที่เกิดขึ้นในการวิจัยทั้งในแง่สรรพคุณและความปลอดภัย นอกจากนี้ยังควรขอข้อมูลผลที่เกิดจากการนำไปฉีดในสถานการณ์จริงทั้งเรื่องจำนวนคนที่ได้รับ ข้อมูลประชากร สรรพคุณและความปลอดภัยในแต่ละช่วงเวลาจากระบบติดตามผลการฉีดของแต่ละประเทศด้วย ทั้งนี้หากได้ข้อมูลดังกล่าวมา ควรนำเสนอให้ประชาชนในประเทศได้รับทราบ หรือหากมีข้อสงสัยจะได้ซักถามจนกระจ่างก่อนตัดสินใจ
หากวิเคราะห์สถานการณ์ของเรา…ส่วนตัวแล้วประเมินว่า ถ้ามีวัคซีนที่ฉีดครั้งเดียวก็น่าจะมีประโยชน์ไม่น้อย เพราะจะลดปัญหาด้านภาระการติดตามคนมาฉีดเข็มสองได้อย่างมาก
ในขณะเดียวกันการมีวัคซีนที่มีสรรพคุณสูง ทั้งในแง่การป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ และแบบไม่มีอาการ (ซึ่งช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อได้) ก็จะช่วยให้ประเทศมีต้นทุนความเข้มแข็งด้านการป้องกันการระบาดของโรคมากขึ้น โอกาสฟื้นตัวก็จะเร็วขึ้นหรือมากขึ้น
แต่หากต้นทุนความเข้มแข็งด้านการป้องกันมีจำกัด…การระบาดซ้ำก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มาก ฟื้นตัวได้ยากกว่า
ทั้งนี้ต้นทุนความเข้มแข็งด้านการป้องกันการระบาดนั้น มี 4 เรื่อง ได้แก่
- ศักยภาพของระบบการตรวจคัดกรองโรค ที่ควรทำได้มากและครอบคลุมทุกพื้นที่
- พฤติกรรมการป้องกันตัวของประชาชน (ใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่ห่างๆ ลดพฤติกรรมเสี่ยง และการสังเกตอาการตนเองเพื่อไปตรวจได้เร็ว)
- นโยบายประเทศที่ไม่นำความเสี่ยงเข้าสู่ประเทศ
- ชนิดวัคซีนที่มีใช้ในประเทศ ทั้งในเรื่องสรรพคุณ ความปลอดภัย การเข้าถึงและความครอบคลุม”
ณ ปัจจุบัน ย้ำอีกครั้งว่า สถานการณ์ระบาดยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ขอให้รักตัวเอง รักครอบครัว ป้องกันตัวเสมอ ใช้ความรู้ที่ถูกต้องเป็นแสงส่องทาง ตัดสินใจประพฤติปฏิบัติด้วยสติ และหลักความเป็นเหตุเป็นผล ด้วยรักและปรารถนาดี
ที่มา: Facebook – Thira Woratanarat
- รถขนวัคซีนโควิดให้โชค ถูกหวยรางวัลที่ 1 ออกเลขตรง ๆ
- ‘อนุทิน’ แจง ทำไมไทยได้วัคซีนแอสตราเซเนกาช้า
- เพจดังแฉ! แขก VIP ฉีดวัคซีน ก่อน จนท. แพทย์
- ฝรั่งเศสเคาะฉีด วัคซีนแอสตราเซเนกา กับ ปชช. อายุมากกว่า 65 ปี