ทำความรู้จัก หมึกบลูริง หมึกพิษที่ฤิทธิ์สามารถทำคนเป็นอัมพาตได้
หมึกบลูริง คืออะไร? มาทำความรู้จักกับหมึกขนาดเล็กที่มีพิษรุนแรงจนสามารถทำให้ผู้รับพิษเป็นอัมพาต จนถึงตายได้
หมึกบลูริง คือ จัดเป็นหมึกขนาดเล็กจำพวกหนึ่ง ตัวเต็มวัยมีขนาด 4-5 เซนติเมตร และหนวดยาวประมาณ 15 เซนติเมตร จุดเด่น คือสีสันตามลำตัวที่เป็นจุดวงกลมคล้ายแหวนสีน้ำเงินหรือสีม่วงซึ่งสามารถเรืองแสงได้เมื่อถูกคุกคาม ตัดพื้นลำตัวสีขาวหรือเขียว
หมึกชนิดนี้สามารถพบทั้งในอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน อาศัยอยู่ในเขตน้ำตื้นชายฝั่ง ที่มีหน้าดินทั้งแบบโคลน กรวด ทราย
พิษของหมึกบลูริงหรือหมึกสายสีน้ำเงินมีชื่อว่า มาคูโลทอกซิน ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพิษของปลาปักเป้าที่มีชื่อว่า เทโทรโดทอกซิน
สามารถพบพิษนี้ได้ในต่อมน้ำลายปาก หนวด ลำไส้ และต่อมหมึก พิษชนิดนี้จะทำลายระบบประสาททำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ หายใจไม่ออก เนื่องจากกล้ามเนื้อกะบังลมและหน้าอกไม่ทำงาน ทำให้ไม่สามารถนำอากาศเข้าสู่ปอดได้ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต ปัจจุบันยังไม่มียาแก้พิษ
ซึ่งพิษชนิดนี้ไม่สามารถสลายด้วยการปรุงสุกได้ เนื่องจากพิษสามารถทนความร้อนได้มากกว่า 200 องศาเซลเซียส
อย่างไรก็ตาม สามารถทำการปฐมพยาบาลผู้รับพิษได้ โดยต้องหาวิธีนำอากาศเข้าสู่ปอด เช่น เป่า และนำตัวส่งแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยผู้ป่วยจะฟื้นเป็นปกติภายใน 24 ชั่วโมง และอาการจะดีขึ้นตามลำดับ เว้นแต่ว่าจะขาดอากาศนานเกินไปจนสมองตาย