นายกรัฐมนตรีชู ดูแลผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม ใช้งบหลายส่วน
นายกรัฐมนตรีแถลงขยายระยะเวลาประกาศพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ย้ำการดูแลผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม ทั้งจากงบประมาณปกติทั้งรายจ่ายประจำ งบประมาณกลาง และ พ.ร.ก. เงินกู้
ข่าวทำเนียบรัฐบาล รายงาน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีย้ำ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เพิ่มอีกหนึ่งเดือน โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 – 31 พ.ค. 63 โดยหลายข้อกำหนดยังจะคงเดิม เพื่อเน้นควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น การเดินทางของประชาชน สำหรับการผ่อนปรนมาตรการนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประกอบด้วยหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และกระทรวงมหาดไทย
นายกรัฐมนตรีแสดงความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ยืนยันว่า รัฐบาลมีมาตรการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ซึ่งจะทยอยดำเนินการตามสัดส่วนของงบประมาณที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งรายจ่ายประจำ งบประมาณกลาง และงบประมาณที่มาจาก พ.ร.ก. เงินกู้ ซึ่งจะเร่งการดำเนินงานให้ทันสถานการณ์ รวมทั้ง การให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ รวมถึงกลุ่มเปราะบางที่กำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลือ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังมอบแนวทาง ให้พิจารณากิจกรรมทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งบางจังหวัดก็กำหนดมาตรการของตนเองแล้วนั้น ต้องยึดข้อกำหนดจากส่วนกลาง แม้จะเห็นใจผู้ที่เดือดร้อนทั้งการหารายได้และการดำรงชีวิตประจำวัน แต่เป็นความจำเป็นที่ขยายระยะเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เพิ่มอีกหนึ่งเดือน อย่างไรก็ตาม จะมีการผ่อนคลายข้อกำหนดบางประการ โดยแบ่งเป็น 4 ระยะ ซึ่งแต่ระยะจะห่างกันประมาณ 14 วัน เพื่อให้มีการประเมินว่า หลังจากการผ่อนปรนมาตรการ มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังให้ภาคส่วนต่างๆ อาทิ ผู้ประกอบการรายเล็ก ผู้ประกอบการรายใหญ่ ได้มีมาตรการเพิ่มเติม ทั้งในส่วนท้องถิ่น สอดคล้องกับมาตรการทางสาธารณสุข และยึดความปลอดภัยชีวิตประชาชนเป็นหลัก โดยแบ่งสีความเสี่ยงเป็น สีขาว สีเขียว สีเหลือง และสีแดง ขอย้ำว่ารัฐบาลได้ทำงานเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนตามแผนการใช้งบประมาณปกติที่หน่วยงานของรัฐจะต้องปฏิบัติตามขั้นพื้นฐาน และมาตรการดูแลผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีทั้งมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้น ภาคเกษตรกร อาชีพอิสระ ลูกจ้างนอกระบบ นักศึกษา ประมาณ 16 ล้านคน และเกษตรกร 10 ล้านครัวเรือน จะเป็นหัวหน้าครอบครัว อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูล รวมถึงลูกจ้างประกันสังคมอีก 11 ล้านคน และรัฐบาลมีการพิจารณาเพิ่มเติม ทั้งมาตรการเยียวยาผู้พิการ โดยจะมีการชี้แจงรายละเอียดในภายหลัง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ครม.เห็นชอบต่อเวลาพ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน3
- คนไทยเฮ ครม. ไม่เห็นชอบ ยกเลิกวันหยุดนักขัตฤกษ์เดือนพฤษภาคม