ประจวบ ไชยสาส์น อดีตรมต. ฉายา ‘อิดี้อิสาน’ เสียชีวิตแล้ว
ประจวบ ไชยสาส์น อดีตรมต. ฉายา ‘อิดี้อิสาน’ เสียชีวิตแล้ว
วันนี้ 1 เมษายน 2563 นายประจวบ ไชยสาส์น อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง เสียชีวิตแล้วเมื่อเวลา 07.10 น. ที่โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาการุณย์ ด้วยโรคมะเร็งปอด และวันนี้จะมีการเคลื่อนศพไปบำเพ็ญกุศล ที่วัดเทพศิรินทราวาสศาลา 14 โดยจะสวดศพ 3 วันและเก็บศพไว้
ประวัติ
นายประจวบ ไชยสาส์น (20 สิงหาคม พ.ศ. 2487 – 1 เมษายน พ.ศ. 2563) เกิดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2487 สำเร็จการศึกษา จาก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมรสกับนางทองพูน ไชยสาส์น มีบุตร 4 คน คือ จารุภรณ์ ไชยสาส์น, จักรพรรดิ ไชยสาส์น, ต่อพงษ์ ไชยสาส์น และจิราภรณ์ ไชยสาส์น ต่อมาได้หย่ากับภรรยาในภายหลัง
ปัจจุบันสมรสกับ นางทับทิม ไชยสาส์น มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ วชิระ ไชยสาส์น, อัจฉรา ไชยสาส์น และสุดารัตน์ ไชยสาส์น นายประจวบ เป็นที่รู้จักกันในฉายา “อีดี้อีสาน”
งานการเมือง
นายประจวบ ไชยสาส์น เข้าสู่การเมืองโดยการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุดรธานี หลายสมัย และได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในปี พ.ศ. 2529 ในตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง อาทิ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และทบวงมหาวิทยาลัย
นายประจวบ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในพรรคการเมืองหลายพรรค อาทิ รองเลขาธิการพรรคแนวประชาธิปไตย กรรมการพรรคแนวร่วมประชาธิปไตย อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตเลขาธิการพรรคชาติพัฒนา อดีตหัวหน้าพรรคเสรีธรรม และต่อมาได้ตัดสินใจยุบพรรคเสรีธรรม รวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรับตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย
การถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง
ในปี พ.ศ. 2549 นายประจวบ ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่ถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 อีกด้านหนึ่งนายประจวบ ไชยสาส์น ใช้เวลาในระหว่างถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง (พ.ศ. 2553) เข้ารับการศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง ของสถาบันวิทยาการตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในรุ่นที่ 11 และเป็นรุ่นเดียวกันกับนักการเมืองชื่อดังอีกหลายคน อาทิ นายสรอรรถ กลิ่นประทุม นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ นายแพทย์บุรณัชย์ สมุทรักษ์ ฯลฯ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2532 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
- พ.ศ. 2531 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
ที่มา: วิกิพีเดีย