โควิด-19: อัปเดตทุกสิ่งที่คุณต้องรู้ อาการเบื้องต้น วิธีป้องกัน สมุนไพรป้องกันป่วย
อัปเดตทุกสิ่งที่คุณต้องรู้ COVID-19 อาการเบื้องต้น วิธีป้องกัน สมุนไพรป้องกันป่วย
โควิด -19 :
1.ไวรัสโควิด-19 สามารถแพร่กระจายเชื้อได้อย่างไร
- ส่วนใหญ่แพร่กระจายผ่านการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ผ่านทางละอองเสมหะจากการไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย
2. ระยะเวลาการมีชีวิตอยู่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสิ่งแวดล้อมภายนอก
- ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าไวรัสโควิด-19 อยู่บนพื้นผิวได้นานเพียงใด ไวรัสอาจอยู่รอดได้ในไม่กี่ชั่วโมง โดยน้ำยาฆ่าเชื้อสามารถฆ่าเชื้อไวรัสไม่ให้สามารถแพร่เชื้อได้เป็นอย่างดี
3. ประชาชนทั่วไปควรป้องกันตนเองอย่างไร เพื่อไม่ให้อยู่ในภาวะเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้มีอาการป่วย รักษาระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณตา จมูก และปาก โดยไม่ได้ล้างมือ ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือน้ำยาแอลกอฮอล์ล้างมือ 70% หากมีไข้ ไอ หายใจลำบาก ให้ไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินทาง
4. อาการของผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 มีอาการอย่างไร ?
- อาการทั่วไป ได้แก่ อาการระบบทางเดินหายใจ มีไข้ ไอ หายใจถี่ หายใจลำบาก ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบ ไตวาย หรืออาจเสียชีวิต
5. ตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เสียเงินเท่าไหร่
- ขณะนี้ภาครัฐได้ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคฉุกเฉิน ทุกโรงพยาบาลต้องรับผู้ป่วยที่เข้าข่ายเสี่ยงทั้งหมด โดยหากตรวจพบเลือดเป็นผลบวก คือติดไวรัสโควิด-19 จะได้รับค่ารักษาฟรีทั้งหมด ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
6. เชื้อสามารถแพร่กระจายในบริเวณสระว่ายน้ำได้หรือไม่
- ปัจจุบันยังไม่มีรายงานการติดเชื้อจากการว่ายน้ำในสระหรือแหล่งน้ำอื่น แต่ควรหลีกเลี่ยงสระน้ำที่มีผู้คนแออัด
7. เดินทางไปประเทศเสี่ยงอย่าง เกาหลีใต้ อิหร่าน อิตาลี หลังจากกลับมาจะโดนกักตัว 14 วันหรือไม่
- กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเสี่ยง เมื่อเดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้งดการออกไปในที่สาธารณะโดยไม่จำเป็น และให้วัดอุณหภูมิกายทุกวัน จนกว่าจะครบ 14 วัน นับจากเดินทางถึงประเทศไทย ระหว่างการสังเกตอาการ หากพบว่ามีไข้ ไอ ให้พบแพทย์โดยทันที
8. ประชาชนสามารถไปตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้สถานที่ใดบ้าง
- 1.คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
- 2. คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี
- 3. คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- 4.รพ.ราชวิถี
- 5. สถาบันบำราศนราดูร
- 6. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- 7. รพ.บำรุงราษฎร์
- 8. คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- 9. รพ.มหาราชนครราชสีมา
- 10. คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
- 11. รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- 12. ศูนย์วิจัยมาลาเรียโซโคล ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา
- 13. รพ.ลำปาง
- 14. รพ.สวรรค์ประชารักษ์
- 15. บริษัท ไบโอ โมเลกุลาร์ แลบบอราทอรีส์ (ประเทศไทย)
- 16.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (ฝ่ายไทย)
- 17.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (ฝ่ายสหรัฐอเมริกา)
- 18. สำนักป้องกันและควบคุมโรคเขตเมือง
- 19. สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 สระบุรี
- 20. รพ.นครปฐม
9. ผู้สูงอายุมีโอกาสติดเชื้อ COVID-19 มากกว่าคนทั่วไปหรือไม่
- ทุกคนมีสิทธิจะติดโรคได้เท่ากัน ในทุกอายุ เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ ทุกคนจึงยังไม่มีภูมิต้านทานต่อโรคนี้ ไม่ว่าจะร่างกายแข็งแรง จะเป็นเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ แต่ความรุนแรงของโรคอาจแตกต่างกัน โดยผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงดี หรือในอายุน้อย ความรุนแรงของโรคก็จะน้อยกว่าผู้ที่มีอายุมากหรือมีโรคประจำตัวร่วมด้วย
10.ชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตนเอง ทราบผลภายใน 10 นาที ที่นำเข้าจากประเทศเกาหลี ใช้งานได้จริงหรือไม่
- ชุดตรวจไวรัสโควิด-19 ถือเป็นเครื่องมือแพทย์ที่จะต้องขอขึ้นทะเบียนกับ อย.ก่อน และขณะนี้ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนทุกยี่ห้อ ซึ่งประชาชนไม่ควรซื้อมาตรวจเอง เพราะการตรวจวินิจฉัยต้องมีการประเมินอาการอื่นร่วมด้วย จึงมีโอกาสที่จะเกิดผลที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงได้
https://www.youtube.com/watch?v=iPxSCx4rvyI&feature=youtu.be
11.การประกาศสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 แบ่งเป็นกี่ระยะ และหมายถึงอะไร
- ระยะที่ 1 พบผู้ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ
ระยะที่ 2 มีการติดเชื้อในประเทศ ในวงจำกัด และคนภายในประเทศติดเชื้อจากผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ
ระยะที่ 3 มีการแพร่ระบาดในประเทศ ซึ่งคนภายในประเทศติดเชื้อจากคนภายในประเทศกันเอง และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว
12.หากติดเชื้อไวรัส COVID-19 จนรักษาหายแล้ว สามารถกลับมาเป็นอีกได้หรือไม่
- โดยหลักการทางไวรัสวิทยาแล้ว ในโคโรนาไวรัส การเป็นแล้วควรจะมีภูมิต้านทานที่ใช้ในการป้องกันไม่ให้โรคนี้กลับมาเป็นใหม่ได้ แต่ต้องมีการศึกษาในระยะต่อไปว่าตัวไวรัส จะมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมเหมือนเช่นในกรณีไข้หวัดใหญ่ที่สามารถเป็นแล้วเป็นอีกได้ เนื่องจากสายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกปี แต่สำหรับ COVID-19 ขณะนี้ยังไม่เห็นพฤติกรรมของไวรัสนี้ เป็นแบบไข้หวัดใหญ่แต่อย่างใด
13.ถ้ามีการเดินสวนกับผู้ป่วยไวรัส COVID-19 จะสามารถติดโรคได้หรือไม่
- การเดินสวนกันไปมาไม่สามารถติดโรคได้ เพราะโรคนี้ติดทางฝอยละออง ถ้าไม่มีการไอจาม ออกมา โอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือว่าน้อยมาก นอกจากนี้พบว่าฝอยละอองจากน้ำลายสามารถพุ่งถึงกันได้หากอยู่ในรัศมีภายใน 1 เมตร จึงได้มีการกำหนดระยะห่างระยะที่ปลอดภัยคืออย่างน้อย 2 เมตร ในช่วงที่มีการระบาดของโรค
14.เชื้อไวรัสโควิด-19 จะสามารถติดต่อกัน ผ่านระบบท่อแอร์ที่ใช้ร่วมกันในสำนักงานได้หรือไม่
- เชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ได้มีการแพร่กระจายทางอากาศ แต่มีการติดต่อกันทางการสัมผัส ดังนั้นการติดต่อกันผ่านทางท่อแอร์จึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่อาจติดเชื้อจากคนที่อยู่ในบริเวณสำนักงานเดียวกันได้
15.การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ ควรปฏิบัติตนอย่างไร
- พยายามยืนรอในจุดที่มีผู้คนไม่แออัดมากนัก มีการสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันทุกครั้งที่ใช้บริการ พกแอลกฮอล์หรือเจลล้างมือที่มีความเข้มข้นมากกว่า 70% เพื่อทำความสะอาดมือที่ใช้จับหรือโหนราวรถเมล์ รถไฟฟ้า MRT BTS ทุกครั้งหลังใช้บริการ
16.ประเทศไทยมีการประกาศให้ประเทศใดบ้าง เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายจากไวรัสโควิด-19
- ประเทศจีน (รวมฮ่องกง , มาเก๊า) ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศอิตาลี และประเทศอิหร่าน
17. เชื้อไวรัส COVID-19 สามารถเข้าทางบาดแผลในร่างกายได้หรือไม่ ?
- จากการตรวจสอบ ยังไม่พบหลักฐานว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถติดต่อเชื้อทางบาดแผลได้แต่อย่างใด
18.ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีโอกาสหายป่วยสูงหรือไม่ ?
- ผู้ป่วยทั่วไปมีโอกาสหายจากโรคได้เอง สูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ แต่หากพบว่ามีอาการป่วยรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยทันที
19.การใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้า และมีการซักด้วยผงซักฟอกตามปกติ จะสามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่ ?
- การซักผ้าด้วยผงซักฟอกและนำไปตากแดด เพียงพอที่จะฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แล้ว
20.ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ สามารถป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่ ?
- ไม่ได้ เพราะเป็นเชื้อคนละตัวกัน
21.ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นแล้ว จะเสียชีวิตทุกคนหรือไม่ ?
- ไม่ทุกคน พบอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 2-3 % เท่านั้น แต่พบว่าในกลุ่มผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวที่มีอายุมากกว่า 80 ปี สูงถึง 14–20 %
22. ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การตรวจหาไวรัสโควิด-19 ฟรี ต้องมีลักษณะอย่างไร ??
- 1. มีไข้ 37.5 °C ขึ้นไป พร้อมมีอาการ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ
- 2. มีประวัติเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วง 14 วัน ก่อนมีอาการ อาทิ
- เดินทางมาจากเขตโรคติดต่อ / พื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง
- ประกอบอาชีพที่สัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ที่เดินทางมาจากเขตโรคติดต่อ / พื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง
- สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ / ผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ
23. ยาสมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจร สามารถรักษาโรคไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่
- ฟ้าทะลายโจร เป็นยาสมุนไพรที่กรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำให้ใช้รักษาหวัด และให้กินทันที ส่วนไวรัสโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งในกลุ่มโคโรนาไวรัส ไม่ใช่เชื้อไข้หวัดใหญ่ และยังไม่เคยมีการนำฟ้าทะลายโจรมาทดลองใช้รักษาโควิด-19 แต่อย่างใด
24. ปอดของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ถูกทำลายเสียหายทุกคนหรือไม่ ?
- ไม่ทุกคน ส่วนใหญ่จะสามารถฟื้นตัวได้เอง แต่ทั้งนี้พบบางรายที่มีภูมิต้านทานทำงานผิดปกติจนปอดได้รับความเสียหาย
25. ทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่
- การใส่หน้ากากอนามัยจะช่วยป้องกันละอองฝอยที่ออกมากับลมหายใจและน้ำลาย จึงแนะนำให้ผู้ป่วยทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นๆ ขณะที่ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องเข้าพื้นที่ชุมชนที่แออัดมาก ต้องใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์เช่นกัน ส่วนผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงอาจเลือกใส่หน้ากากแบบผ้าแทนได้
26. ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระยะฟักตัว สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้หรือไม่
- จากข้อมูลในการศึกษาทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก พบว่าไวรัสโควิด-19 มีระยะฟักตัวของโรค ตั้งแต่ 1-14 วัน ในขณะนี้เริ่มมีข้อมูลว่าผู้ป่วยในระยะฟักตัวระยะท้ายๆ อาจจะส่งต่อโรคไปยังผู้อื่นได้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ โอกาสที่จะมีอาการไอ จาม หรือมีฝอยละอองออกมา มีโอกาสน้อยกว่าคนที่มีอาการ ดังนั้นคนที่ไม่มีอาการไอ หรือจาม ก็มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อน้อย แต่ทั้งนี้ทุกคนที่ต้องสงสัยว่าติดไวรัสโควิด-19 สมควรกักตัวเฝ้าระวังในบริเวณที่พักอาศัย เพื่อป้องกันการส่งต่อเชื้อให้ผู้อื่น
27. การหยิบจับ ธนบัตร หรือเหรียญ มีโอกาสทำให้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่??
- ได้ เพราะธนบัตรถือเป็นกระดาษ ในขณะที่เหรียญมีพื้นผิวสัมผัส ดังนั้นมีโอกาสที่เชื้อไวรัสโควิด-19 จะเกาะติดอยู่กับของทั้ง 2 ชนิด ลักษณะเดียวกับ ลูกบิดประตู ปุ่มลิฟท์ แป้นกดเอทีเอ็ม โทรศัพท์ ฯลฯ ดังนั้นหากสัมผัสสิ่งเหล่านี้ อย่านำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก และให้ล้างมือทันทีภายหลังสัมผัส
28. การตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในห้องแล็บมีกี่วิธี ??
- มีอยู่ 2 วิธี คือ
- 1. การตรวจหาเชื้อในทางเดินหายใจ (Real-time RT PCR) ซึ่งจะเก็บตัวอย่างส่งตรวจจากการป้ายเยื่อบุในคอ หรือป้ายเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูก การตรวจวิธีนี้ต้องระวังการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม จึงต้องทำในห้องแล็บที่ได้รับมาตรฐาน ใช้เวลาตรวจเฉพาะในห้องแล็บ 2.5-3 ชั่วโมง ต้นทุนเฉพาะในห้องแล็บอยู่ที่ครั้งละ 2,500 บาท
- 2. การตรวจจากการเจาะเลือด(Rapid test) แต่โควิด-19 เลือดไม่ใช่เป็นจุดที่มีเชื้อเป็นหลัก เพราะฉะนั้นการตรวจเลือดกรณีโรคนี้ไม่ได้เป็นการหาเชื้อ แต่เป็นการหาภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะต้องตรวจเมื่อมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นแล้ว ใช้เวลาตรวจ 15-30 นาที ปัจจุบันเป็นการนำเข้าชุดตรวจราคาอยู่ที่ 500 บาท แต่กำลังพัฒนาชุดตรวจให้อยู่ในราคาชุดละ 200 บาท
29. สมุนไพรชนิดใดบ้างที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและต้านเชื้อไวรัสต่างๆ ได้ ??
- กลุ่มเสริมภูมิคุ้มกัน เช่น พลูคาวหรือผักคาวตอง, เห็ดต่างๆ, ตรีผลา (สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม)
กลุ่มที่มีวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น ดอกขี้เหล็ก, ยอดมะยม, ใบเหลียง, ยอดสะเดา, มะระขี้นก, ฟักข้าว, ผักเชียงดา, คะน้า, มะรุม, ผักแพว มะขามป้อม, ลูกหม่อน และผักผลไม้หลากสี กลุ่มที่มีสารสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 เช่น พลูคาวหรือผักคาวตอง กะเพรา หอมแดง หอมหัวใหญ่ มะรุม ใบหม่อน แอปเปิล เปลือกผลของพืชตระกูลส้ม (ส้ม มะนาว มะกรูด ส้มซ่า)
30. เครื่องวัดอุณหภูมิมีกี่ประเภท
- 4 ประเภท คือ 1.เครื่องวัดอุณหภูมิแบบแท่งแก้ว 2.เครื่องวัดอุณหภูมิแบบดิจิตอล 3.เครื่องวัดอุณหภูมิในช่องหู 4.เครื่องวัดอุณหภูมิทางหน้าผาก
31. กรมธรรม์ประกันภัยไวรัสโควิด-19 ไม่คุ้มครองในกรณีใดบ้าง
- (1) เจ็บป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาก่อนทำประกันภัย
- (2) การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
- (3) ติดเชื้อฯ ในช่วงระยะเวลารอคอย
- (4) การตรวจวินิจฉัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อโควิด-19
32. ประโยชน์ของการตรวจแล็บ เพื่ออะไร ??
- 1.เอาไว้วินิจฉัยรักษาโรค เพื่อแสดงว่าคนนี้เป็นโรคหรือไม่เป็นโรค วิธีที่เป็นมาตรฐานใช้ทั่วโลก คือการตรวจหาเชื้อในทางเดินหายใจ หากผลแสดงว่าเจอเชื้อ แปลว่าเป็นโรค ก็ให้การรักษา และเมื่อให้การรักษาแล้วเชื้อหายหรือหมดไปหรือไม่
- 2.เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค กรณีพบผู้ที่มีเชื้อ ก็จะต้องเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้ไปแพร่เชื้อต่อให้คนอื่น ก็จะมีมาตรการกักตัว หรือแยกกัก
- 3.เป็นข้อมูลเชิงระบาดวิทยา เอาไว้ใช้ในการกำหนดมาตรการในการควบคุมโรคต่างๆ หรือประโยชน์ในการฉีดวัคซีน
33. ซื้อประกันภัยไวรัสโควิด-19 ไว้หลายฉบับ ถ้าตรวจเจอเป็นโรค บริษัทจะจ่ายทุกกรมธรรม์หรือไม่ ?
- กรณีที่กรมธรรม์ให้ความคุ้มครองเมื่อตรวจวินิจฉัยและพบว่าติดเชื้อโรคโควิด-19 จ่ายทุกกรมธรรม์ เว้นแต่กรมธรรม์สำหรับค่ารักษาพยาบาลจะเบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริง เช่น หากเรียกร้องจากบริษัทแรกครบแล้ว ในส่วนที่เหลือมาเบิกจากบริษัทที่ 2 ได้ เว้นแต่ตรวจพบในระยะเวลารอคอยที่กำหนดในกรมธรรม์ จะไม่ได้รับความคุ้มครอง
34. ไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 คืออะไร
- ไวรัสโคโรนา (Coronavirus) เป็นไวรัสที่ถูกพบครั้งแรกในปี 1960 แต่ยังไม่ทราบแหล่งที่มาอย่างชัดเจนว่ามาจากที่ใด แต่เป็นไวรัสที่สามารถติดเชื้อได้ทั้งในมนุษย์และสัตว์ ปัจจุบันมีการค้นพบไวรัสสายพันธุ์นี้แล้วทั้งหมด 6 สายพันธุ์ ส่วนสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาด คือ สายพันธุ์ที่ 7 จึงถูกเรียกว่าเป็น “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่”
35. การตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ยังไม่มีการแสดงอาการหรือมีสัญญาณเจ็บป่วย อาจได้ผลที่คลาดเคลื่อน ใช่หรือไม่
- ใช่ เพราะหากไปตรวจเลือดในช่วงเวลาที่ยังไม่มีอาการใดๆ ภูมิคุ้มกันก็ยังไม่เกิดขึ้น การไปเจาะเลือดตรวจโดยยังไม่มีอาการ หากผลเป็นลบก็จะแปลผลได้ว่า “ยังไม่มีภูมิเกิดขึ้น” ไม่ได้แปลว่า “ไม่ติดเชื้อ” เพราะอาจจะอยู่ในระยะฟักตัวโดยที่ยังไม่มีอาการ อาจจะติดเชื้อและมีอาการเกิดขึ้นภายหลังได้
36. ลวกช้อนส้อมก่อนใช้ ช่วยฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่
- ปกติแล้วเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) จะตายในน้ำอุณหภูมิที่สูงกว่า 70 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5 นาที หากน้ำที่ใช้ลวกช้อนส้อมไม่ร้อนเพียงพอ และใช้เวลาแช่ไม่นานพอ ก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสฯ ได้ อย่างไรก็ตามหากมีความกังวลใจ ควรใช้ช้อนส้อมของตัวเอง หรือล้างช้อนส้อมก่อนใช้ให้สะอาด
37. หากสงสัยว่าอาจป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถติดต่อได้ที่ไหน
- สามารถโทรศัพท์แจ้งที่ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลในสังกัด กทม.ทุกแห่ง หรือที่กรมควบคุมโรค เบอร์โทร 1422
38.การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ จะสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่ ??
- ไม่ได้ เพราะยังไม่พบหลักฐานว่าการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ จะสามารถป้องกันการรับเชื้อได้แต่อย่างใด
39. หากเราใส่หน้ากากผ้าอยู่ และมีผู้ป่วยจากการติดไวรัสวิด-19 มาจามใส่ จะส่งผลให้เราติดโรคหรือไม่
- มีโอกาสติดโรค เพราะว่าปัจจุบันหลักฐานทางการแพทย์ที่มาสนับสนุนว่าการป้องกันการติดเชื้อแบบ 100 % นั้นยังไม่พบ ดังนั้นแม้จะใส่หน้ากากผ้าเพื่อป้องกัน แต่เมื่อเราไปสัมผัสฝอยละอองแบบตรงๆ เช่นนี้ ก็มีโอกาสติดโรคได้ แต่ทั้งนี้การใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้เป็นอย่างดีจึงควรใส่เมื่อต้องออกไปในที่สาธารณะ
40.ผู้ได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 ต้องเสียชีวิตทุกรายหรือไม่
- ไม่ทุกราย โดยพบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 80 สามารถหายจากอาการป่วยได้เอง และพบผู้มีอาการป่วยหนักอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4 เท่านั้น ทั้งนี้พบว่าผู้ที่มีความเสี่ยงจากการได้รับเชื้อไวรัสฯ แล้วอาจถึงขั้นเสียชีวิต คือกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ
41. หมายเลขโทรศัพท์สำหรับติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโควิด-19 มีเบอร์ใดบ้าง ??
- สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
- สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน 1669
- ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน 1111
42. เป็นไปได้หรือไม่ ที่ผู้หายจากการเป็นไข้แล้ว จะยังมีเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ภายในร่างกาย
- เป็นไปได้ เพราะมีข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในเมืองอู่ฮั่น ที่พบว่ายังคงพบร่องรอยของเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ภายในร่างกายของผู้ติดเชื้อไวรัสฯ อีกสองสัปดาห์ ขณะที่ผลวิจัยบางส่วนพบว่ามีผู้ป่วยบางรายพบเชื้อภายในร่างกายนานถึง 37 วัน ดังนั้นจากค่าเฉลี่ยจึงคาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ไวรัสโควิด-19 จะยังคงอยู่ในร่างกายนานถึง 24 วัน
43.ไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ติดต่อทางไหน แพร่จากคนสู่คนได้อย่างไร ??
- ไวรัสโคโรนา (โควิด-19) แพร่กระจายเชื้อได้จากละอองฝอย จากการไอหรือจาม น้ำลาย น้ำมูก ซึ่งหากร่างกายสูดดมของผู้ติดเชื้อจะสามารถรับเชื้อไวรัสโคโรนาเข้าสู่ร่างกายได้
45. เราควรป้องกันตนเองอย่างไรไม่ให้ได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่ออยู่ในร้านอาหาร
- ควรจำกัดเวลาอยู่ในร้านให้น้อยที่สุด คอยรักษาระยะห่างจากผู้อื่น อย่างน้อย 1 เมตร นอกจากนี้ควรชำระเงินด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ ลดการสัมผัสกับสิ่งต่างๆ และใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
46.อาการของผู้ติดไวรัสโควิด-19 มีความแตกต่างจากการเป็นไข้หวัดธรรมดาอย่างไร
- อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และติดเชื้อไข้หวัด จะมีลักษณะอาการที่คล้ายกัน คือเป็นไข้และไอจาม แต่สิ่งที่ต่างกัน คือผู้ที่เป็นไข้หวัดธรรมดา จะมีอาการอื่นร่วมด้วย อาทิ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ส่วนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะรู้สึกหายใจลำบาก
47. ไวรัสโควิด-19 สามารถติดต่อได้เฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุหรือไม่
- ไม่ ข้อเท็จจริงคือ ไวรัสโควิด-19 สามารถติดต่อได้ในทุกช่วงวัย แต่พบว่ากลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับเชื้อไวรัสฯ อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
48. ผู้ได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 จะแสดงอาการป่วยทันทีเลยหรือไม่
- ไม่ทันที เพราะไวรัสโควิด-19 มีระยะฟักตัว อยู่ที่ประมาณ 2-14 วัน โดยพบว่าบางราย อาจไม่พบข้อบ่งชี้อาการป่วยที่สามารถสังเกตเห็นได้
49.ไวรัสโคโรนา (โควิด-19) มีจุดกำเนิดมาจากที่ใด
- ตามข้อมูลในเบื้องต้นมีข้อมูลสันนิษฐานว่าเกิดจากการติดเชื้อจากสัตว์ในตลาดสดอู่ฮั่น ประเทศจีน คาดว่าน่าจะเกิดมาจากงู โดยเชื้อส่งผ่านจากค้างคาวมาสู่งูและงูไปยังมนุษย์
50.หากมารดาที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 การให้นมบุตรจะเป็นการแพร่เชื้อหรือไม่
- ยังไม่มีรายงานวิจัยใดๆ ที่พบว่ามารดาที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะสามารถแพร่เชื้อไวรัสฯ ผ่านนมสู่ลูกได้ แต่การดูแลบุตรอย่างใกล้ชิดอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อบุตรที่อาจได้รับเชื้อไวรัสฯ จากมารดาได้ จากการไอหรือจาม (เช่นเดียวกับการเป็นไข้หวัดใหญ่)
51. ในร่างกายมนุษย์สามารถสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้เองหรือไม่
- ได้ เมื่อได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสฯ ได้เอง ยกเว้นว่าการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันจะบกพร่อง ซึ่งส่งผลให้บางรายที่ได้รับเชื้อไวรัสฯ มีอาการป่วยหนัก และต้องพบแพทย์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : รัฐบาลไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับ โควิด-19
- ตกงานจากโควิด-19 ประกันสังคมจ่าย 50% นาน 6 เดือน
- ธรรมศาสตร์หยุดเรียน 16-22 มี.ค. ป้องกันโควิด-19
- COVID-19: หมอแนะเลื่อนหยุดสงกรานต์ หวั่นโควิด-19 แพร่เพราะการเดินทาง
- มิสเตอร์ป๋อง พิธีกรมวยชื่อดัง ยืนยันติดโควิด-19 พร้อมสู้โรคร้าย
- โควิด-19 สถิติ 23 มีนา ติดเชื้อ 336,000 ราย อิตาลีตายพุ่ง 5,476 ราย