สุขภาพและการแพทย์

ภาษีผ้าอนามัย รัฐโต้ เก็บแค่ 7% ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย

เก็บภาษีผ้าอนามัยจริงหรือไม่ รัฐโต้ เก็บแค่ 7% ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย

ภาษีผ้าอนามัย – จากกรณีวันที่ 16 ธันวาคม สื่อหลายสำนักได้นำเสนอข่าวคำสัมภาษณ์ของ โฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวถามพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในกรณีที่ตัดสินใจให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เก็บภาษีในอัตราสูง ตั้งแต่มติ ครม.วันที่ 17 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา

ต่อมา #ภาษีผ้าอนามัย ถูกทวีตในโลกสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง ระบุไม่เห็นด้วยต่อการจัดให้ภาษีผ้าอนามัยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย จนเกิดปรากฎการณ์ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทย

Advertisements

ทว่าเรื่องกลับกลายเป็นโอละพ่อ เพราะทางฝ่ายรัฐบาลหลายหน่วยงาน ได้ประสานเสียงแก้ข่าวว่า การเก็บภาษีผ้าอนามัย เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ไม่เป็นความจริง

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาลได้ออกมาชี้แจงว่า “ยืนยันนะคะว่า กรมสรรพสามิตไม่มีการเก็บภาษีผ้าอนามัยในอัตราภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยถึง 40% ตามข่าวแน่นอน เนื่องจากสินค้าชนิดนี้ไม่ได้ถูกระบุในพิกัดการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต ดังนั้นภาษีผ้าอนามัยจึงจะถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ตามราคาของสินค้าเหมือนสินค้าชนิดอื่น ๆ

สินค้าฟุ่มเฟือย หมายถึง สินค้าที่ไม่มีความจำเป็นกับชีวิต หรือไม่กระทบกับชีวิตประจำวัน แต่ผ้าอนามัยจัดอยู่ในสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ดังนั้นจึงไม่มีการเก็บภาษีโดยใช้หลักเกณฑ์ภาษีฟุ่มเฟือย”

ศ.ดร.นฤมล กล่าวต่อว่า “เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ประชุมครม. ไม่ได้มีการหยิบยกเรื่องภาษีผ้าอนามัยมาประชุมแต่อย่างใด”

https://www.facebook.com/watch/?v=2429712050461938

Advertisements

ด้านกรมสรรพสามิต ออกมาเปิดเผยว่า นายวิวัฒน์ เขาสกุล รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีข่าวปรากฏว่า ปัจจุบันรัฐบาลเก็บภาษีผ้าอนามัยสูง ทำให้ผ้าอนามัยมีราคาแพงนั้น กรมสรรพสามิตขอเรียนชี้แจงว่าไม่มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตผ้าอนามัย ผ้าอนามัยไม่เป็นสินค้าที่อยู่ในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพราะไม่ถูกจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ปัจจุบันถูกเรียกเก็บเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ vat เท่านั้น ตามหลักการ ภาษีสรรพสามิตจะเรียกเก็บเฉพาะสินค้าหรือบริการที่บริโภคแล้วส่งผลต่อสุขภาพและศีลธรรมอันดี และสินค้าฟุ่มเฟือยหรือเกินความจำเป็นต่อการดำรงชีพ หรือมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่รัฐใช้ในการจำกัดการบริโภคสินค้าหรือบริการบางประเภทเท่านั้น ซึ่งผ้าอนามัยถือเป็นสินค้าจำเป็นจึงไม่เข้าข่ายสินค้าฟุ่มเฟือย

ส่วน ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้แถลงว่า ข่าวเป็นภาษีผ้าอนามัยในหมวดสินค้าฟุ่มเฟือย เป็น “ข่าวปลอม”

“ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับกรณีที่มีผู้เผยแพร่ข้อความในสื่อออนไลน์ ในประเด็นเรื่อง นายกฯ เก็บภาษีผ้าอนามัยสูง ชี้เป็นสินค้าฟุ้มเฟือย นั้นทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า ข้อมูลที่ปรากฏตามสื่อดังกล่าวนั้น เป็น ข้อมูลเท็จ

จากกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการขึ้นภาษีผ้าอนามัย หลังมีโฆษกพรรคการเมืองหนึ่ง กล่าวถึงการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและเก็บภาษีในอัตราสูงถึง 40% และไม่มีการควบคุมราคานั้น ล่าสุดทางกรมสรรพสามิต โดยนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ยืนยันว่า ที่ผ่านมากรมสรรพสามิตไม่มีการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยในอัตราภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยถึง 40% ตามข่าวที่กล่าวอ้าง เนื่องจากสินค้าชนิดนี้ไม่ได้ถูกระบุในการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต ดังนั้นภาษีผ้าอนามัยจึงจะถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ตามราคาของสินค้าเหมือนสินค้าชนิดอื่นๆ”

ทั้งนี้ เมื่อค้นในราชกิจจานุเบกษา พบว่า เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 ได้ออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 53 พ.ศ.2562 เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม เพื่อดูแลป้องกันการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่ายหรือการกำหนดเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรม โดยกำหนดสินค้าควบคุม 96 รายการ หนึ่งในนั้นมีผ้าอนามัยรวมอยู่ด้วย

Aindravudh

นักเล่าเรื่อง จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ ผู้สนใจประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ผนวกกับการเริ่มต้นเส้นทางด้วยการเขียนงานวรรณกรรม ก่อนผันตัวมาเจาะประเด็นข่าวทางสังคม ออนไลน์ ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button