ข่าวภูมิภาค

วิธีเอาตัวรอดเมื่อเกิดแผ่นดินไหว

วิธีเอาตัวรอดเมื่อเกิดแผ่นดินไหว

แผ่นดินไหว – วันที่ 21 พ.ย. สร้างความตกใจอกสั่นขวัญแขวนให้กับชาวกรุงและชาวเหนือไม่น้อย หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวใน สปป. ลาว ตามรายลงานระบุว่า เวลาประมาณ 4 นาฬิกาตามเวลาประเทศไทย เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 ที่ระดับความลึก 5 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้านน้ำช้าง ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ประมาณ 19 กิโลเมตร

ต่อมาเวลา 06.50 น. ได้เกิดแผ่นดินไหวซ้ำอีกครั้ง ขนาด 6.4 ความลึก 3 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว รับรู้ได้ในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้คนที่อยู่บนตึกสูงในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลก็รู้สึกได้ถึงแรงสั่นไหว หลังจากแผ่นดินไหวหลัก ก็ได้มีอาฟเตอร์ช็อกตามมาเป็นระยะ ระดับความแรงระหว่าง 2.4-4.8

ภาพจาก: กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลจากแผ่นดินไหว ทำให้อาคารบางส่วนของโรงไฟฟ้าเมืองหงสาได้รับความเสียหาย ภาพจาก:

ต่อมา เวลา 09.23 นาฬิกา กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว รายงาน แผ่นดินไหวขนาด 3.8 ศูนย์กลางอยู่ที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน พิกัด 19.435 องศาเหนือ, 101.174 องศาตะวันออก ความลึก 8 กม. นั่นทำให้เห็นว่า แผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องไกลตัวเรา เราควรรู้จักวิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว เพื่อรักษาชีวิตให้รอดปลอดภัย

กรมอุตุนิยมวิทยาได้ให้ความรู้ในการปฏิบัติและการป้องกันตนเมื่อเกิดแผ่นดินไหวไว้ดังนี้

การปฏิบัติและการป้องกันตนเมื่อเกิดแผ่นดินไหว

ก่อนการเกิดแผ่นดินไหว

1. ควรมีไฟฉายพร้อมถ่านไฟฉาย และกระเป๋ายาเตรียมไว้ในบ้าน และให้ทุกคนทราบว่าอยู่ที่ไหน
2. ศึกษาการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
3. ควรมีเครื่องมือดับเพลิงไว้ในบ้าน เช่น เครื่องดับเพลิง ถุงทราย เป็นต้น
4. ควรทราบตำแหน่งของวาล์วปิดน้ำ วาล์วปิดก๊าซ สะพานไฟฟ้า สำหรับตัดกระแสไฟฟ้า
5. อย่าวางสิ่งของหนักบนชั้น หรือหิ้งสูง ๆ เมื่อแผ่นดินไหวอาจตกลงมาเป็นอันตรายได้
6. ผูกเครื่องใช้หนัก ๆ ให้แน่นกับพื้นผนังบ้าน
7. ควรมีการวางแผนเรื่องจุดนัดหมาย ในกรณีที่ต้องพลัดพรากจากกัน เพื่อมารวมกันอีกครั้ง ในภายหลัง
8. สร้างอาคารบ้านเรือนให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว

ระหว่างเกิดแผ่นดินไหว

1. อย่าตื่นตกใจ พยายามควบคุมสติอยู่อย่างสงบ ถ้าท่านอยู่ในบ้านก็ให้อยู่ในบ้าน ถ้าท่านอยู่นอกบ้านก็ให้อยู่นอกบ้าน เพราะส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บเพราะวิ่งเข้าออกจากบ้าน
2. ถ้าอยู่ในบ้านให้ยืนหรือมอบอยู่ในส่วนของบ้านที่มีโครงสร้างแข็งแรง ที่สามารถรับน้ำหนัก ได้มาก และให้อยู่ห่างจากประตู ระเบียง และหน้าต่าง
3. หากอยู่ในอาคารสูง ควรตั้งสติให้มั่น และรีบออกจากอาคารโดยเร็ว หนีให้ห่างจากสิ่งที่จะล้มทับได้
4. ถ้าอยู่ในที่โล่งแจ้ง ให้อยู่ห่างจากเสาไฟฟ้า และสิ่งห้อยแขวนต่าง ๆ ที่ปลอดภัยภายนอกคือที่โล่งแจ้ง
5. อย่าใช้ เทียน ไม้ขีดไฟ หรือสิ่งที่ทำให้เกิดเปลวหรือประกายไฟ เพราะอาจมีแก๊สรั่วอยู่บริเวณนั้น
6. ถ้าท่านกำลังขับรถให้หยุดรถและอยู่ภายในรถ จนกระทั่งการสั่นสะเทือนจะหยุด
7. ห้ามใช้ลิฟท์โดยเด็ดขาดขณะเกิดแผ่นดินไหว
8. หากอยู่ชายหาดให้อยู่ห่างจากชายฝั่ง เพราะอาจเกิดคลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าหาฝั่ง

หลังเกิดแผ่นดินไหว

1. ควรตรวจตัวเองและคนข้างเคียงว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ให้ทำการปฐมพยาบาลขั้นต้นก่อน
2. ควรรีบออกจากอาคารที่เสียหายทันที เพราะหากเกิดแผ่นดินไหวตามมาอาคารอาจพังทลายได้
3. ใส่รองเท้าหุ้มส้นเสมอ เพราะอาจมีเศษแก้ว หรือวัสดุแหลมคมอื่น ๆ และสิ่งหักพังแทง
4. ตรวจสายไฟ ท่อน้ำ ท่อแก๊ส ถ้าแก๊สรั่วให้ปิดวาล์วถังแก๊ส ยกสะพานไฟ อย่าจุดไม้ขีดไฟ
หรือก่อไฟจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีแก๊สรั่ว
5. ตรวจสอบว่า แก๊สรั่ว ด้วยการดมกลิ่นเท่านั้น ถ้าได้กลิ่นให้เปิดประตูหน้าต่างทุกบาน
6. ให้ออกจากบริเวณที่สายไฟขาด และวัสดุสายไฟพาดถึง
7. เปิดวิทยุฟังคำแนะนำฉุกเฉิน อย่าใช้โทรศัพท์ นอกจากจำเป็นจริง ๆ
8. สำรวจดูความเสียหายของท่อส้วม และท่อน้ำทิ้งก่อนใช้
9. อย่าเป็นไทยมุงหรือเข้าไปในเขตที่มีความเสียหายสูง หรืออาคารพัง
10. อย่าแพร่ข่าวลือ

ขอบคุณข้อมูลจาก: tmd.go.th

Aindravudh

นักเล่าเรื่อง จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ ผู้สนใจประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ผนวกกับการเริ่มต้นเส้นทางด้วยการเขียนงานวรรณกรรม ก่อนผันตัวมาเจาะประเด็นข่าวทางสังคม ออนไลน์ ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button