ข่าวการเมือง

เปิดคำแถลงงบประมาณรายจ่าย ปี 2563 ของ พลเอกประยุทธ์ :ประชุมสภาฯ

คำแถลงประกอบงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร

งบประมาณปี 2563 – คณะรัฐมนตรีขอเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยมีหลักการและเหตุผล ดังนี้

Advertisements
หลักการ
ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เป็นจำนวนไม่เกิน 3,200,000,000,000 บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยรับงบประมาณ เป็นจำนวน 3,137,290,534,200 บาท และเพื่อชดใช้เงินคงคลัง เป็นจำนวน 62,709,465,800 บาท
เหตุผล
งบประมาณสำหรับใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

ท่านประธานที่เคารพ
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่รัฐบาลนำเสนอต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้งบประมาณของแผ่นดิน แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ และนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล ให้ประสบความสำเร็จ เป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน สามารถพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

ก่อนที่กระผมจะแถลงสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กระผมขอรายงานให้ทราบถึงภาวะเศรษฐกิจทั่วไป ฐานะ และนโยบายการเงิน การคลังของประเทศ ดังต่อไปนี้

ภาวะเศรษฐกิจทั่วไป
เศรษฐกิจไทยในปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7 – 3.2 ชะลอลงจากร้อยละ 4.1 ในปี ส่งผลต่อการลดลงของการส่งออกและกระทบต่อการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้ม ภายในประเทศที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ทั้งทางด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชน แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐสำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2562 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 – 1.2ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 5.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เศรษฐกิจไทยในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0 – 4.0โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและระบบการค้าโลก ที่คาดว่าจะสามารถปรับตัวต่อมาตรการกีดกันทางการค้าได้มากขึ้นรวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวตามการเร่งเบิกจ่ายโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่มีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในช่วงปี 2563 – 2564ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนที่มีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการย้ายฐานการผลิตระหว่างประเทศในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐและภาคครัวเรือนขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจอย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2563 ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกสำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คาดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ 0.8 – 1.8และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 5.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ฐานะและนโยบายการคลัง
จากภาวะเศรษฐกิจดังกล่าว ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 คาดว่ารัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิทั้งสิ้น 2,862,000 ล้านบาท เมื่อหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 131,000 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่าย ของรัฐบาล จำนวน 2,731,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณ มีวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในการดำเนินภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างเหมาะสม เพียงพอ และไม่ส่งผลกระทบต่อหนี้สาธารณะจึงกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3,200,000 ล้านบาท เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิจำนวน 2,731,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 469,000 ล้านบาท
สำหรับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,917,357.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.45 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 60 โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาลซึ่ง เงินกู้โดยรัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 6,418,318.7 ล้านบาท
ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 512,955.1 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

Advertisements

ฐานะและนโยบายการเงิน
การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาของปี 2562 อยู่ในเกณฑ์ที่ผ่อนคลาย โดยขยายตัวชะลอลงจากอุปสงค์ต่างประเทศ แต่อุปสงค์ในประเทศยังคงขยายตัวดี แม้มี ทรงตัวในระดับต่ำ คณะกรรมการนโยบายการเงินจึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.75 ในการประชุม 4 ครั้งแรก และสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง โดยเป็นผลจากการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศซึ่งส่งผลต่อการส่งออกและเริ่มส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศมากขึ้น คณะกรรมการ นโยบายเป็นร้อยละ 1.5 ในการประชุมครั้งที่ 5 ของปี และมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งที่ 6 ของปี เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย

สำหรับฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2562 มีจำนวน 220,169.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นประมาณ 3.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

ท่านประธานที่เคารพ
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่เสนอต่อท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติในวันนี้ ได้จัดทำขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อให้การพัฒนาประเทศก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีความพร้อมที่จะดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 ในเวทีโลกได้สูงขึ้น ควบคู่ไปกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งให้ความสำคัญกับการวางรากฐานเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนว่ากระทรวงและหน่วยรับงบประมาณต่างๆ จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580)แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) แผนการปฏิรูปประเทศนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2560 – 2564)และแผนปฏิบัติราชการของกระทรวง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (พ.ศ. 2558 – 2573) กรอบแนวคิดการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 นโยบายสำคัญ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รวมทั้งการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการพัฒนาและการจัดสรรทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ความเป็นธรรมทางสังคม เสถียรภาพและความยั่งยืนทาง การคลัง ความจำเป็นและภารกิจของหน่วยรับงบประมาณเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณและเกิดผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภาครัฐโดยกำหนดแนวทางการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่สำคัญ ดังนี้

1. นำยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ยุทธศาสตร์จัดสรรงบประมาณ รวมทั้งการบูรณาการในทุกมิติ (มิติกระทรวง/หน่วยงาน มิติบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ และมิติบูรณาการเชิงพื้นที่) เป็นกรอบแนวคิดในการขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการให้มีความเชื่อมโยง สอดคล้อง สนับสนุนซึ่งกันและกัน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และไม่ซ้ำซ้อนเพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานของรัฐบาลเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้การพัฒนาประเทศบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้

2. ดำเนินภารกิจที่สอดคล้องกับนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการให้เกิดผลในปีแรก เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต แก้ไขปัญหาของประชาชน และวางรากฐานการพัฒนาประเทศสู่อนาคต รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับความ และตรวจสอบได้

3. ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพ ทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการสาธารณะระดับท้องถิ่นให้แก่ประชาชนด้านคุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทาง การคลังระหว่างท้องถิ่น รวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และประสิทธิผล การใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับหลักการตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

4. เพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงินโดยให้หน่วยรับงบประมาณที่มีเงินนอกงบประมาณหรือเงินสะสมคงเหลือ พิจารณานำเงินดังกล่าวมาใช้ดำเนินภารกิจของหน่วยงานเป็นลำดับแรกควบคู่ไปกับการพิจารณาทบทวนเพื่อชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินโครงการที่มี เพื่อนำงบประมาณดังกล่าวมาสนับสนุนนโยบายสำคัญ หรือโครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วน มีความพร้อมในการดำเนินการสูงเพื่อแก้ไขปัญหาและลดความเหลื่อมล้ำทาง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และ 2562 มาประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับศักยภาพ

5. ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 พระราช บัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีอย่างครบถ้วน

สาระสำคัญของงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

ท่านประธานที่เคารพ
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย นำเสนอต่อท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติมีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น เป็นการดำเนินนโยบายแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2,731,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีก จำนวน 469,000 ล้านบาท วงเงินงบประมาณดังกล่าวจำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,392,314.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 74.8 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุน จำนวน 655,805.7 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20.5 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 62,709.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.9 ของวงเงินงบประมาณและรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 89,170.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.8 ของวงเงินงบประมาณซึ่งอยู่ภายในกรอบวินัยการเงินการคลังโดยจะรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ดังนี้

1. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำแนกตามกลุ่มงบประมาณรายจ่าย
งบประมาณรายจ่ายที่กำหนดในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำแนกได้ดังนี้

1.1 งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 518,770.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 16.2 ของวงเงินงบประมาณประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์415,770.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13 ของวงเงินงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐเงินสำรอง เงินสมทบและเงินชดเชยของข้าราชการ เงินสมทบลูกจ้างประจำและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐสำหรับงบประมาณอีกจำนวน 103,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.2 ของวงเงินงบประมาณได้สำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐการเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง และภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐรวมทั้งส่งเสริมและเผยแพร่ประสบการณ์และองค์ความรู้ ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตลอดจนชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอาชีพงานก่อสร้าง

1.2 งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ1,131,765.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 35.4 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณตามกฎหมายจัดตั้งและตามที่ได้รับมอบหมายในเชิงนโยบายที่ต้องการผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน

1.3 งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 235,091 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 7.3 ของวงเงินงบประมาณเพื่อดำเนินงานเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องมีการวางแผนและบริหารจัดการในภาพรวมของประเทศ โดยดำเนินการภายใต้ความร่วมมือของหน่วยรับงบประมาณมากกว่า 2 หน่วยขึ้นไป ซึ่งไม่อยู่ในกระทรวงเดียวกันจำนวน 15 เรื่อง ได้แก่

1. ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดน ภาคใต้
2. ป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด
3. พัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต
4. สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว
5. พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
6. พัฒนาพื้นที่ระดับภาค
7. พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์
8. พัฒนาผู้ประกอบการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล
9. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
10. พัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้
11. เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย
12. พัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก
13. จัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม
14. บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
15. ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ

1.4 งบประมาณรายจ่ายบุคลากร รัฐบาลได้ จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 777,267.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.3 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการบุคลากรภาครัฐ (ไม่รวมค่าใช้จ่ายตามสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของบุคลากรภาครัฐที่กำหนดไว้ในงบกลาง จำนวน 415,770.9 ล้านบาท)

1.5 งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 202,268.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.3 ของวงเงินงบประมาณ จำแนกเป็นทุนหมุนเวียนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล จำนวน 4 กองทุน ทุนหมุนเวียนที่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล จำนวน 20 กองทุน

1.6 งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย 89,170.4 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 182,956.7 ล้านบาท

1.7 งบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 62,709.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.9 ของวงเงินงบประมาณ

2. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ
ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้กำหนดไว้ จำนวน 6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ โดยได้นำยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติมากำหนดเป็นกรอบโครงสร้างยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รายละเอียดการดำเนินงานที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ด้านความมั่นคง
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 428,190.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.4 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีความสุข ประเทศชาติมีความมั่นคง โดยมุ่งเน้นการปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ การสร้างความมั่นคงความปลอดภัย และความสงบสุขของประเทศ การสร้างบทบาทของไทยในอาเซียนและเวทีโลก รวมทั้ง ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการป้องกัน ปราบปรามและบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด จำแนกตามแผนงานได้ดังนี้

1) การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ งบประมาณทั้งสิ้น 5,351.9 ล้านบาท โดยปลูกฝังและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันหลักของชาติ รณรงค์เสริมสร้างความรักและภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยและชาติไทย รวมทั้งส่งเสริมให้ยึดถือหลักคำสอนที่ถูกต้องของศาสนามาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต และให้การอุปถัมภ์ศาสนาอื่น

2) การรักษาความสงบภายในประเทศ งบประมาณทั้งสิ้น 34,774.2 ล้านบาท โดยเสริมสร้างความปรองดองภายในชาติ และการรักษาความสงบเรียบร้อย สร้างความมั่นคงด้านอาชีพและรายได้ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมวัฒนธรรมสังคมเคารพกฎหมาย และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

3) การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ งบประมาณทั้งสิ้น 10,865.5 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีความปลอดภัยทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน มีเป้าหมายในการลดเหตุรุนแรงในพื้นที่ลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 โดยเพิ่มประสิทธิภาพงานข่าวกรองและบูรณาการฐานข้อมูลความมั่นคง ให้สามารถตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และภัยคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพการศึกษา ตลอดจนส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง

4) การจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ งบประมาณทั้งสิ้น 539.2 ล้านบาท โดยพัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง บริหารจัดการคดีค้ามนุษย์และแรงงานโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เพิ่มขีดความสามารถการบังคับใช้กฎหมายอย่างบูรณาการ ส่งเสริมความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ พัฒนากลไกการคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อย่างเป็นระบบ และบูรณาการระบบฐานข้อมูลในทุกมิติ สร้างความรู้ ความเข้าใจให้สามารถป้องกันตนเองจากการค้ามนุษย์ ไม่น้อยกว่า 39,000 คน และแรงงานในเรือประมงทะเลได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่ต่ำกว่า 50,000 คน

5) การป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด งบประมาณทั้งสิ้น 5,319.1 ล้านบาท โดยจัดให้มีกลไกสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกัน แก้ไขปัญหา และช่วยเหลือประชาชนจากภัยยาเสพติดอย่างเป็นระบบ จับกุมผู้ค้ายาเสพติด และเครือข่ายในพื้นที่แพร่ระบาด เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย อย่างน้อย ร้อยละ 80 หรือไม่น้อยกว่า 80,000 คดี บำบัด รักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด สร้างการยอมรับและให้โอกาสทางสังคม ไม่น้อยกว่า 220,000 ราย ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ รวมทั้งติดตามการช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดรักษาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

6) การพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ งบประมาณทั้งสิ้น 88,718.4 ล้านบาท โดยพัฒนาระบบและแผนเตรียมความพร้อมแห่งชาติให้มีความทันสมัย และปฏิบัติได้จริง หน่วยงานด้านการข่าวและประชาคมข่าวกรองมีประสิทธิภาพ จัดหายุทโธปกรณ์ที่จำเป็นเพียงพอ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกัน และรักษาผลประโยชน์ของชาติ

7) การพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติและระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ งบประมาณทั้งสิ้น 9,350.5 ล้านบาท โดยเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือและป้องกันบรรเทาสาธารณภัยและภัยพิบัติให้ได้ตามมาตรฐาน พัฒนาระบบเตือนภัยให้มีความแม่นยำและครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีความพร้อมในการสนับสนุนความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดภัยพิบัติ

8) การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง งบประมาณทั้งสิ้น 15,324.4 ล้านบาท โดยปกป้องและดูแลรักษาผลประโยชน์ทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารจัดการ ป้องกันปัญหาอาชญากรข้ามชาติและการ
ก่อการร้าย ความมั่นคงเกี่ยวกับไซเบอร์ เสริมสร้างความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน มีการตรวจติดตามและเฝ้าระวังการทำประมงให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรการด้านการประมงขององค์กรระหว่างประเทศ ไม่น้อยกว่า 250,000 ครั้ง

9) การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ งบประมาณทั้งสิ้น 5,803.1 ล้านบาท โดยเน้นการขับเคลื่อนภารกิจเชิงรุกด้านการต่างประเทศอย่างสร้างสรรค์ในทุกมิติ ส่งเสริมการสร้างและรักษาความเข้าใจที่ถูกต้องและความเชื่อมั่นของนานาประเทศที่มีต่อประเทศไทย เสริมสร้างบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศ ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้านและประเทศยุทธศาสตร์ที่สำคัญ พัฒนาระบบการให้บริการประชาชนผ่านการให้บริการด้านการกงสุลที่เป็นเลิศ เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนไทยในต่างประเทศ ตลอดจนสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศ/กลุ่มประเทศ

10) การสนับสนุนด้านความมั่นคง งบประมาณทั้งสิ้น 1,574.6 ล้านบาท โดยการบริหารจัดการสภาวะแวดล้อมของประเทศ ให้มีความมั่นคง ปลอดภัย มีเอกราช อธิปไตย และมีความสงบเรียบร้อย มุ่งเน้นการพัฒนาคน เครื่องมือ เทคโนโลยี และระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ให้มีความพร้อมสามารถรับมือกับภัยคุกคามและภัยพิบัติได้ทุกรูปแบบ และใช้กลไกการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการทั้งกับภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ บนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล

11) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง งบประมาณทั้งสิ้น 56,569.7 ล้านบาท โดยการสร้างความพร้อมด้านการป้องกันประเทศ การดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีและความร่วมมือในการดำเนินงานด้านความมั่นคงระหว่างประเทศไทยกับมิตรประเทศ และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง งบประมาณทั้งสิ้น 194,000 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวน 380,803.1 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.9 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการขยายตัว อย่างยั่งยืน สมดุลและมีเสถียรภาพโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ พัฒนาเขตพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกและเขตเศรษฐกิจพิเศษ การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว การพัฒนาผู้ประกอบการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต พัฒนาภาคเกษตรสร้างมูลค่า การพัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล การพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จำแนกตามแผนงานได้ดังนี้

1) การพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ งบประมาณทั้งสิ้น 97,389 ล้านบาท โดยการเชื่อมโยงระบบคมนาคมทางราง ทางน้ำ ทางถนนและทางอากาศให้ทั่วถึงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ มีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ ก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 2 สายทาง ขยายช่องจราจรทางหลวงแผ่นดิน แก้ไขปัญหาการจราจรในปริมณฑลและภูมิภาค ยกระดับทางหลวงชนบท รถไฟความเร็วสูง ตามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย และรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี- ปากน้ำโพ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และนครปฐม-ชุมพร และเตรียมการสำรวจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการเวนคืนที่ดินสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ ได้แก่ สาย เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร เพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ และปรับปรุงท่าเรือในแม่น้ำและท่าเรือชายฝั่งทะเล พัฒนาท่าอากาศยาน ในภูมิภาค 29 แห่ง ตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) รวมทั้งเชื่อมโยงการค้าสู่รูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

2) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก งบประมาณทั้งสิ้น 17,009.1 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และพื้นที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี โดยพัฒนาและขยายศักยภาพโครงสร้าง พื้นฐานด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ที่เชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งในทุกมิติแบบไร้รอยต่อ ได้แก่ พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งทางถนนไม่น้อยกว่า 500 กิโลเมตร ก่อสร้างสถานีรถไฟอู่ตะเภา เตรียมพื้นที่สำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน พัฒนาปรับปรุงร่องน้ำและท่าเทียบเรือ และพัฒนาพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา ส่งเสริมการพัฒนาเมืองในรูปแบบเมืองอัจฉริยะ จัดตั้งสถาบันไอโอทีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งอนาคต รวมทั้งการพัฒนาบุคลากร ด้านการวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 50,000 คน รวมทั้งจัดทำมาตรการในการดูแลและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับชุมชน

3) การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ งบประมาณทั้งสิ้น 6,954.6 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษให้เป็นศูนย์กลาง ความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มมูลค่าการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวในพื้นที่ อาทิ ก่อสร้างและขยายช่องจราจรทางหลวง และทางหลวงชนบท พัฒนาด่านศุลกากร ด่านสินค้าเกษตรชายแดน การวางผังเมือง การเพิ่มประสิทธิภาพการบริการคนเข้าเมืองและรักษาความปลอดภัย

4) การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว งบประมาณทั้งสิ้น 7,371.4 ล้านบาท เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีเป้าหมายของสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้านการท่องเที่ยวต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21 เพิ่มสัดส่วนรายได้เมืองรอง และเพิ่มอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันโดยให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวในสาขาที่มีศักยภาพ อาทิ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความงาม และแพทย์แผนไทย การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ และการท่องเที่ยวเชื่อมโยงภูมิภาค โดยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคม สิ่งอำนวยความสะดวกในแหล่งท่องเที่ยว ปรับปรุงและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมระบบความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว ตลอดจนพัฒนาบุคลากรและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในทุกระดับ

5) การพัฒนาผู้ประกอบการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล งบประมาณทั้งสิ้น 1,886.9 ล้านบาท เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีความรู้และความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจ ยกระดับความรู้ การบริหารจัดการธุรกิจสมัยใหม่ พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าและบริการ โดยสนับสนุนให้มีการขยายธุรกิจเข้าสู่สากลมากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งข้อมูลที่สำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจอย่างเป็นระบบ รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาของอุตสาหกรรม สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน โดยมีเป้าหมายให้ SME ไทยไม่น้อยกว่า 200,000 ราย สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี

6) การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต งบประมาณทั้งสิ้น 1,313.5 ล้านบาท เพื่อ เพิ่มอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในสาขาอุตสาหกรรมและบริการ ร้อยละ 4.2 และเพิ่มผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการตลอดห่วงโซ่ อุปทาน ร้อยละ 2.2 โดยพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ยกระดับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง สนับสนุนการนำทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ประโยชน์ สร้างเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio-economy) ผลักดันการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมระบบราง และอากาศยาน ส่งเสริมการวิจัย พัฒนา สร้างนวัตกรรม อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมบริการทางการแพทย์ ไม่น้อยกว่า 20 ต้นแบบ พัฒนาการจัดการฐานข้อมูลอุตสาหกรรม และการคาดการณ์เทคโนโลยีในอนาคต

7) การพัฒนาพื้นที่ระดับภาค งบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 11,542.3 ล้านบาท เพื่อให้พื้นที่ระดับภาคสามารถดำเนินการตามนโยบายและแผนพัฒนาระดับภาค โดยเน้นการทำงานเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเพื่อเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรม การค้าและการลงทุน การขยายตัวทางเศรษฐกิจ พัฒนาโครงข่ายการคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงไปสู่พื้นที่ทางเศรษฐกิจหลัก เสริมสร้างความเข้มแข็งตามเศรษฐกิจชายแดนและพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2 ยกระดับผลผลิตเกษตรกรรมเป็นฐานการผลิตด้านเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย รวมทั้งการใช้นวัตกรรมในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้มีเป้าหมายมูลค่าสินค้าเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2 และเพิ่มศักยภาพภาคการท่องเที่ยวและบริการ โดยสร้างมูลค่าจากต้นทุนทางวัฒนธรรม วิถีชุมชน อารยธรรม และธรรมชาติด้วยแนวทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และยั่งยืน ให้มีเป้าหมาย รายได้จากการท่องเที่ยวและบริการขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10

8) การเกษตรสร้างมูลค่า งบประมาณทั้งสิ้น 7,791.3 ล้านบาท เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวม ในประเทศของสาขาเกษตร และสามารถแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำที่มีมูลค่าสูง โดยการนำผลการวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ประโยชน์ร่วมกับการบริหารจัดการที่เหมาะสม อาทิ บริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม เชิงรุกออนไลน์ (Zoning Agri-Map) ไม่น้อยกว่า 204,000 ไร่ ยกระดับการผลิตสู่การเกษตรกรสมัยใหม่ด้วยการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ไม่น้อยกว่า 4,000 แปลง ส่งเสริมเกษตรพันธสัญญา และการนำสินค้าเกษตรมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะการนำยางพารามาเป็นส่วนประกอบ ในงานก่อสร้างทาง บำรุงทาง และงานอำนวยความปลอดภัย บริหารจัดการด้านการตลาดสินค้าเกษตรโดยลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับห้างค้าปลีกชั้นนำและผู้ส่งออกในการรับซื้อผลไม้ตามฤดูการผลิต จับคู่ธุรกิจระหว่างสหกรณ์วิสาหกิจชุมชนไทยกับต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ไม่น้อยกว่า 15 สินค้า ตลอดจนการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านปศุสัตว์ และสนับสนุนอาชีพประมงบนพื้นฐานการรักษาทรัพยากรทางทะเลให้มีความสมบูรณ์

9) การพัฒนาพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ งบประมาณทั้งสิ้น 3,900.8 ล้านบาท โดยการกระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกภูมิภาคของประเทศ ส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่ ยกระดับความน่าอยู่ของเมือง โดยใช้แผนผังภูมินิเวศเพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาเมืองน่าอยู่ จัดทำผังพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งโบราณคดี วัฒนธรรม ประเพณีและอัตลักษณ์ท้องถิ่น และสนับสนุนการจัดทำฐานข้อมูลด้านการพัฒนาเมือง รวมถึงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย โดยดำเนินการวางผังเมืองระดับต่างๆ รวม 118 ผัง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม พัฒนาเมือง 72 แห่ง และจัดรูปที่ดิน 1,199 ไร่ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่ และมีสภาพแวดล้อมที่ดี

10) การพัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน งบประมาณทั้งสิ้น 475.5 ล้านบาท โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดหาพลังงานและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน รักษาอัตราการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลวในประเทศไม่น้อยกว่า 190,000 บาร์เรลต่อวัน มีการกระจายชนิดของเชื้อเพลิงอย่างเหมาะสม และมีระบบรองรับเหตุฉุกเฉินด้านพลังงานพร้อมสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน สร้างความรู้และความเข้าใจด้านการประกอบกิจการปิโตรเลียมให้แก่ประชาชน ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในระดับตำบลและชุมชนเพิ่มขึ้น 120 แห่ง รวมทั้งกำกับดูแลกิจการ และจัดทำนโยบายด้านพลังงาน เพื่อให้พลังงานมีคุณภาพ และราคาที่เหมาะสมเป็นธรรม ตลอดจนส่งเสริมการผลิตและใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้น

11) การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล งบประมาณทั้งสิ้น 1,737.2 ล้านบาท โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและบริการที่มีประสิทธิภาพอย่างเท่าเทียม ผ่านโครงข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชนเพิ่มขึ้น 3,200 แห่ง สนับสนุนศูนย์ดิจิทัลชุมชน 250 ศูนย์ ส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) อย่างยั่งยืน และพัฒนาศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ได้มาตรฐานสากล ตลอดจนจัดให้มีมาตรการเฝ้าระวัง รับมือภัยคุกคาม และรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมทั้งจัดระบบขนส่งผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อรองรับการนำรถยนต์ส่วนบุคคลไปบริการรับส่งคนผ่านแอพพลิเคชั่น

12) การพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม งบประมาณทั้งสิ้น 4,350.2 ล้านบาท โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสมัยใหม่ พัฒนามาตรฐานระบบคุณภาพ และการวิเคราะห์ทดสอบที่เป็นที่ยอมรับตามข้อตกลงระหว่างประเทศและสอดรับกับความจำเป็นของอุตสาหกรรมปัจจุบันและอนาคต ส่งเสริมการวิจัยพัฒนา 3,300 ผลงาน เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการต่อยอดธุรกิจ พัฒนากระบวนการและผลิตภัณฑ์ในรูปแบบการดำเนินงานร่วมกัน ระหว่างผู้ใช้ ผู้พัฒนา และผู้ให้บริการเทคโนโลยีทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน/ สนับสนุนโครงสร้างด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อาทิ ก่อสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์ ระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) และการส่งเสริมการผลิตและพัฒนาบุคลากร ตลอดจน การสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชน

13) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม งบประมาณทั้งสิ้น 20,082.2 ล้านบาท เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ผ่านการดำเนินการ 4 ด้าน คือ ด้านการพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ด้วยการสนับสนุนการเพิ่มบุคลากรด้านการวิจัยในภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ด้านสังคมโดยประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เกี่ยวกับการศึกษา สุขภาพ และการเข้าถึงบริการและสวัสดิการของรัฐ รวมถึงการเตรียมความพร้อมของประชาชนไทยเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล และการเข้าสู่สังคมสูงวัย ด้านความสามารถในการแข่งขัน โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อนำไปใช้ในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและบริการ โครงสร้างพื้นฐาน การอนุรักษ์และฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการมลพิษที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการก๊าซเรือนกระจก และพลังงานหมุนเวียน ด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนการวิจัยเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งระดับชุมชน โดยสร้างต้นแบบ เพื่อการพัฒนาในพื้นที่จริง เพื่อนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำและมีการเจริญเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน

14) การสนับสนุนด้านการสร้างความ สามารถในการแข่งขัน งบประมาณทั้งสิ้น 78,150.8 ล้านบาท โดยการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติ ผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกสมัยใหม่ พัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคมและขนส่ง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและดิจิทัล เพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ พัฒนาคนรุ่นใหม่ รวมถึงปรับรูปแบบธุรกิจ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ส่งเสริมสินค้าอัตลักษณ์ไทยให้มีมูลค่าเพิ่มจากการใช้นวัตกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา สนับสนุนการสร้างแบรนด์การค้าประเทศไทยและพัฒนาช่องทางการตลาดหลายรูปแบบ ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย ตลอดจนยกระดับสถานประกอบการเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว 2,100 ราย พัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม (Zoning) ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ได้รับรองมาตรฐานและคุณภาพ 3,000 ผลิตภัณฑ์

15) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความ สามารถในการแข่งขัน งบประมาณทั้งสิ้น 78,563.9 ล้านบาท โดยการจัดทำข้อมูลเศรษฐกิจการค้า ดูแลมาตรฐานสินค้า ราคาและบริการ ทั้งภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ เจรจาขยายตลาดและปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าและการลงทุน ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และทรัพย์สินทางปัญญา สนับสนุนศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม ตลอดจนการซ่อมบำรุงถนน ในโครงข่ายทางหลวงและทางหลวงชนบทระยะทาง ไม่น้อยกว่า 118,600 กิโลเมตร อำนวยความปลอดภัยให้กับประชาชนผู้ใช้ทาง 6,276 แห่ง และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความ สามารถในการแข่งขัน งบประมาณทั้งสิ้น 42,284.4 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็น จำนวน 571,073.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 17.8 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อพัฒนาคนไทยในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ และมีสุขภาวะที่ดี ตลอดจนมีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 โดยปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย มุ่งเน้นการทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การยกระดับศักยภาพของแรงงาน เพื่อวางรากฐาน ระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต และการเตรียมคนไทย สู่ศตวรรษที่ 21 จำแนกตามแผนงานได้ดังนี้

1) การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ งบประมาณทั้งสิ้น 1,305.2 ล้านบาท โดยสนับสนุนผู้เรียนและประชาชนกลุ่มเป้าหมายให้มีการศึกษาที่มีคุณภาพหลากหลาย ตามความถนัดและความสามารถทางพหุปัญญาของมนุษย์ สอดคล้องกับศักยภาพของบุคคล โดยปรับเปลี่ยนบทบาทครูเป็นครูยุคใหม่ ไม่น้อยกว่า 37,000 คน พัฒนาและยกระดับการศึกษาให้มีคุณภาพสอดคล้องกับบริบท ที่เปลี่ยนแปลง ไม่น้อยกว่า 347,000 คน พัฒนาสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่น้อยกว่า 75 คุณวุฒิวิชาชีพ ส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) ไม่น้อยกว่า 1,000 คน และเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ ไม่น้อยกว่า 66,000 คน

2) การพัฒนาพื้นที่ระดับภาค งบประมาณทั้งสิ้น 463.9 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ระดับภาคด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมโครงการในการเป็นมัคคุเทศก์ เพื่อยกระดับมาตรฐานบริการและส่งเสริมธุรกิจแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของภาค ส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีสุขภาพดีและเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่มีมาตรฐานภายใต้ระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนยกระดับสถานบริการสาธารณสุขที่มีความพร้อมให้เป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

3) การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม งบประมาณทั้งสิ้น 609.9 ล้านบาท เพื่อให้คนไทยทั้งประเทศ มีคุณธรรม จริยธรรม และความเป็นไทยที่ดีงาม รวมทั้งมีจิตสำนึกที่ดีและมีค่านิยมที่พึงประสงค์ มีความรักและความภูมิใจในความเป็นไทย ส่งเสริมชุมชนและท้องถิ่นให้เป็นฐานในการอนุรักษ์ พัฒนาและสืบสานมรดกทางศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิต เพื่อให้สังคมไทยมีความสุข และเสริมสร้างภาพลักษณ์ความเป็นไทยสู่สากลให้เป็นที่ยกย่องและยอมรับของนานาชาติ

4) การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต งบประมาณทั้งสิ้น 18,052.4 ล้านบาท โดยจัดสวัสดิการสนับสนุนเบี้ยเด็กแรกเกิด 0 – 6 ปี และขยายฐานรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ไม่น้อยกว่า 1,666,600 คน สนับสนุนอาหารเสริม (นม) และอาหารกลางวันให้เด็กวัยเรียน ไม่น้อยกว่า 1,520,000 คน และส่งเสริมการยกระดับศักยภาพ ทักษะและสมรรถนะวัยทำงานให้มีคุณภาพมาตรฐานสอดคล้องกับความสามารถเฉพาะบุคคล ความต้องการของตลาดแรงงาน และเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมการศึกษาตลอดชีวิต ไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพให้กับผู้สูงอายุที่ต้องการทำงานเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพ อย่างยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้

5) การเสริมสร้างให้คนมีสุขภาวะที่ดี งบประมาณทั้งสิ้น 38,884.4 ล้านบาท โดยการส่งเสริมระบบการแพทย์ให้ทั่วถึง จัดให้มีหมอครอบครัว 1,560 ทีม ยกระดับความรู้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จำนวน 80,000 คน ให้เป็นหมอประจำบ้านเพื่อดูแลสุขภาพคนในชุมชนส่งเสริมระบบบริการการแพทย์แผนไทย การแพทย์ผสมผสาน การแพทย์พื้นบ้าน รวมถึงการเร่งรัดผลิตแพทย์ ไปสู่ชนบทให้เพียงพอในพื้นที่ห่างไกล สร้างเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ พัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินครบวงจรและระบบการส่งต่อ รวมทั้งสนับสนุนการเป็นเมืองศูนย์กลางบริการสุขภาพในอาเซียน

6) การเสริมสร้างศักยภาพการกีฬา งบประมาณทั้งสิ้น 2,970.6 ล้านบาท โดยส่งเสริมการออกกำลังกาย การเล่นกีฬาและการประกอบกิจกรรมนันทนาการของประชาชนทุกกลุ่มทุกวัย สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์ สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการออกกำลังกาย การกีฬาและนันทนาการ ส่งเสริมการพัฒนานักกีฬาของชาติตั้งแต่ระดับเยาวชนที่มีทักษะด้านการกีฬาสู่ความเป็นเลิศและกีฬาเพื่อการอาชีพ ส่งเสริมสนับสนุนการเข้าร่วมแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติ

7) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม งบประมาณทั้งสิ้น 175.4 ล้านบาท โดยส่งเสริมการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อใช้ประโยชน์ในการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหาทางสุขภาพ และส่งเสริมการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมด้านสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน ทุกช่วงวัย อีกทั้งส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนของประเทศอย่างยั่งยืน เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าจากต่างประเทศ

8) การสนับสนุนการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ งบประมาณทั้งสิ้น 16,365.5 ล้านบาท โดยปรับปรุงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์ โปรแกรมเมอร์ ภาษา สนับสนุนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ในวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้สะเต็มศึกษา พัฒนาครูแกนนำภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค (Boot Camp) พัฒนาโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ไม่น้อยกว่า 7,000 แห่ง และยกระดับคุณภาพโรงเรียนระดับอำเภอด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) ไม่น้อยกว่า 20,000 คน รวมถึงการพัฒนาสื่อดิจิทัลด้านอาชีพและวิชาชีพเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษา ส่งเสริมสนับสนุนทุนการศึกษา นักเรียน นักศึกษาและครู เพื่อพัฒนาให้เป็น ผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ตอบสนองความต้องการของประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนประชาชนกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการฝึกอาชีพ และบุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาศักยภาพ
นอกจากนี้ได้มีการพัฒนาการศึกษาระดับอาชีวศึกษา โดยพัฒนาคุณภาพวิชาชีพ และพัฒนาแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 ขยายโอกาสการศึกษาวิชาชีพและพัฒนาทักษะวิชาชีพ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน 24,700 คน ส่งเสริมสถานศึกษาอาชีวศึกษาให้มีความเป็นเลิศเฉพาะทาง และเชื่อมโยงการศึกษากับภาคธุรกิจ โดยการขยายและยกระดับอาชีวศึกษาทวิภาคีสู่คุณภาพมาตรฐานร่วมกับสถานประกอบการ ไม่น้อยกว่า 62,100 แห่ง ตลอดจนสนับสนุนความร่วมมือผลิตกำลังคนด้านอาชีวศึกษาเพื่อตอบสนองภาคการผลิตและบริการในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ควบคู่กับการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และพัฒนาบัณฑิตพันธุ์ใหม่ รวมถึงการเร่งรัดการผลิตแพทย์และบุคลากรด้านพยาบาล ในสังกัดสถาบันอุดมศึกษา

9) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ งบประมาณทั้งสิ้น 76,658.7 ล้านบาท โดยนำนโยบายและแผนการศึกษาไปสู่การปฏิบัติ ให้บริการการศึกษานอกระบบในพื้นที่เป้าหมายให้ได้รับการส่งเสริมด้านการรู้หนังสือและพัฒนาทักษะชีวิต ไม่น้อยกว่า 770,900 คน จัดการแหล่งเรียนรู้ในระดับตำบลที่มีความพร้อมในการให้บริการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ไม่น้อยกว่า 1,700 แห่ง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รับบริการการศึกษาตามอัธยาศัย 11,800,000 คน รวมทั้งพัฒนาผู้เรียนที่มีอัจฉริยภาพและความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนการทดสอบวัดผลการเรียนรู้รวบยอดระดับชาติขั้นพื้นฐาน ตลอดจนสนับสนุนเด็กด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีทักษะอาชีพที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานตาม 5 กลุ่มอาชีพที่กำหนดไว้ พัฒนาศักยภาพเด็กผู้มีความสามารถพิเศษ ไม่น้อยกว่า 11,600 คน พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี 20,000 คน และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพด้านทรัพยากรมนุษย์ งบประมาณทั้งสิ้น 415,587.8 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 765,209.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 23.9 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยกระจายศูนย์กลางความเจริญให้ทั่วถึง เพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นพลังทางสังคมในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการตนเอง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย การพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก และการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม จำแนกตามแผนงานได้ดังนี้

1) การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย งบประมาณทั้งสิ้น 875.2 ล้านบาท โดยเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจให้ผู้สูงอายุเตรียมความพร้อมในทุกมิติ ส่งเสริมและพัฒนาระบบการออมและการจัดการการเงินเพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิต ผู้สูงอายุได้รับการเสริมสร้างทักษะด้านอาชีพมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 77,000 คน พัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ในชุมชน พัฒนางานอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน 74,000 คน ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งปรับปรุงที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก สถานที่สาธารณะให้เหมาะสมและปลอดภัยกับผู้สูงอายุ สร้างความตระหนักให้แก่ครอบครัว ชุมชน สังคม หน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการเสริมสร้างชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ

2) การพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก งบประมาณทั้งสิ้น 3,185.6 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น โดยประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาศักยภาพประชาชนในชุมชน สนับสนุนการเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยการผลิต ส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์ ช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร เพื่อให้ชุมชนและเกษตรกรมีรายได้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น สามารถเข้าถึงแหล่งทุนและที่ดินทำกิน ไม่น้อยกว่า 200,000 ราย พัฒนาและส่งเสริมอาชีพเกษตรกร ไม่น้อยกว่า 500,000 ราย พัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่องและคนกลุ่มใหม่ที่จะเข้าสู่ภาคเกษตรในอนาคต ส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชนในการผลิตสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ไม่น้อยกว่า 24,800 ราย/กลุ่ม และส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร และพัฒนา สินค้าชุมชน ไม่น้อยกว่า 5,900 ผลิตภัณฑ์ และยกระดับโครงสร้างการผลิตในอุตสาหกรรม เกษตรแปรรูปอย่างครบวงจร ตลอดจนส่งเสริมพัฒนากลไกการบริหารจัดการและกลไกตลาด ผ่านระบบสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้สามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าชุมชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10

3) การพัฒนาพื้นที่ระดับภาค งบประมาณทั้งสิ้น 43.1 ล้านบาท เพื่อให้พื้นที่ระดับภาคสามารถดำเนินการตามนโยบายและแผนพัฒนา ระดับภาค โดยมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น มีการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน พัฒนาคุณภาพฝีมือแรงงาน สร้างโอกาสให้กลุ่มคนผู้มีรายได้น้อยมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง

4) การเสริมสร้างพลังทางสังคม งบประมาณทั้งสิ้น 12,482.9 ล้านบาท โดยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการสร้างครอบครัวที่แข็งแรง เด็กและเยาวชนได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง ส่งเสริมบทบาทสตรีในการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม และพัฒนาทักษะอาชีพให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ เสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมขององค์กรด้านคนพิการและเครือข่าย สนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณะอย่างทั่วถึง ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวง และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ไม่น้อยกว่า 255,000 ราย รวมทั้ง ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมตามแนวทางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างความเข้มแข็งชุมชนในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน 16,000 ราย จัดทำข้อมูลที่ดินประเทศ โดยมีเป้าหมาย 11,000 ราย / 2,000 ระวาง สร้างค่านิยมความเป็นไทย เสริมสร้างองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น อนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถาน โบราณวัตถุ และแหล่งเรียนรู้มรดกทางศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนสถาบันการศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

5) การส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งบประมาณทั้งสิ้น 308,275.3 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งต้องการให้มีการกระจายอำนาจมากขึ้น และให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการดำเนินงาน ที่สำคัญ คือ สนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่นักเรียนโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน เด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ไม่น้อยกว่า 716,000 คน สนับสนุนอาหารเสริม (นม) และอาหารกลางวัน ให้เด็กวัยเรียน ไม่น้อยกว่า 5.2 ล้านคน ชุดอุปกรณ์สำหรับห้องเรียนคุณภาพแห่งการเรียนรู้ด้านสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ (DLTV) 6,902 แห่ง รวมทั้งก่อสร้างระบบระบายน้ำและถนนสายหลักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 17 แห่ง ก่อสร้างและปรับปรุงถนน 5,844 สายทาง ระบบประปาหมู่บ้าน 1,307 แห่ง ก่อสร้าง/การปรับปรุงและพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ 1,057 แห่ง สนับสนุนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 9.6 ล้านคน เบี้ยยังชีพความพิการ ไม่น้อยกว่า 1.9 ล้านคน และส่งเสริมให้มีระบบการกำจัดขยะมูลฝอยและการบำบัด น้ำเสีย 23 แห่ง

6) การส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ งบประมาณทั้งสิ้น 24,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการดำเนินการแบบบูรณาการครอบคลุมทุกมิติการพัฒนาของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ที่มีความสอดคล้องกับทิศทาง การพัฒนาระดับภาค และระดับประเทศ โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ สามารถลดความเหลื่อมล้ำของความเจริญเติบโตระหว่างพื้นที่ มีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ การสนับสนุนให้จังหวัดกลุ่มจังหวัด ดำเนินโครงการภายใต้แผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดที่มีการบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน เชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไปสู่การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่โดยใช้ “ห่วงโซคุณค่า” ที่เชื่อมโยงแผนงาน/โครงการ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ทรัพยากร- ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

7) การสร้างหลักประกันทางสังคม งบประมาณทั้งสิ้น 274,531.7 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันทางสังคมและสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยได้รับการรักษาพยาบาลภายใต้ระบบประกันสุขภาพที่ทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้เพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า จาก 3,426.56 บาทต่อหัว เป็น 3,600 บาทต่อหัว และเพิ่มสิทธิประโยชน์ของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงในเด็ก นำร่องบริการป้องกันกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี รวมทั้ง เพิ่มบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงให้ครอบคลุมทุกสิทธิ์ สนับสนุนการสร้างที่อยู่อาศัย บ้านมั่นคง 5,500 ครัวเรือน บ้านพอเพียง 11,500 ครัวเรือน พัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร 3,115 ครัวเรือน จัดทำเคหะชุมชนและบริการชุมชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง 4,198 หลัง และจัดหาอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย 5,357 หน่วย รวมทั้งให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ส่งเสริมการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ช่วยเหลือคุ้มครองผู้ประสบปัญหาทางสังคม ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่งและคนขอทาน ส่งเสริมบทบาทและพัฒนาศักยภาพอาสาสมัคร เครือข่าย และภาคประชาสังคม พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนกลุ่มเป้าหมายพิเศษในพื้นที่ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อดูแลประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรมในราคาสินค้าและบริการอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการสร้างหลักประกันสังคมและสวัสดิการให้สามารถเข้าถึงระบบประกันสังคม อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ครอบคลุมผู้ประกันตนสำหรับแรงงานในระบบและนอกระบบ เป้าหมายไม่น้อยกว่า 16.99 ล้านคน รวมถึงสร้างความปลอดภัยและอนามัยสุขภาพ ในการทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

8) การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา งบประมาณทั้งสิ้น 83,141.1 ล้านบาท เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานอย่างทั่วถึงให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานในระบบและนอกระบบตามสิทธิที่กำหนดไว้ โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่น้อยกว่า 10,521,000 คน สนับสนุนใช้เทคโนโลยีทางไกลผ่านดาวเทียม ไม่น้อยกว่า 10,400 แห่ง และเทคโนโลยีทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ 15,000 แห่ง อุดหนุนนักเรียนพิเศษยากจน ไม่น้อยกว่า 889,300 คน รวมทั้งส่งเสริมกองทุนเพื่อความเสมอภาค ทางการศึกษา เพื่อให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านคน ได้รับความช่วยเหลือ และสนับสนุนให้เข้าถึงการศึกษาที่สอดคล้องกับความจำเป็นรายบุคคล และให้มีโอกาสสำเร็จการศึกษาและพัฒนาได้เต็มศักยภาพ ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน

9) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม งบประมาณทั้งสิ้น 9.1 ล้านบาท เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสังคมไปใช้อ้างอิงและต่อยอดเชิงลึก หรือนำไปแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนาหน่วยงาน รวมทั้งวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งและความเสมอภาคทางสังคม คุ้มครองการใช้แรงงานอย่างถูกต้องและเป็นธรรม
10) การสนับสนุนด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม งบประมาณทั้งสิ้น 41,648.7 ล้านบาท เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร โดยจัดสวัสดิการตามแนวทางประชารัฐผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.6 ล้านคน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเข้าถึงปัจจัย พื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ รวมทั้งส่งเสริมการออมเพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำนาญและประโยชน์ตอบแทนแก่สมาชิกเมื่อสิ้นสภาพ 1.3 ล้านคน ผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ สนับสนุนโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ สถาบันเกษตรกรได้รับการช่วยเหลือ ด้านหนี้สิน รวมทั้งสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ

11) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและ ความเสมอภาคทางสังคม งบประมาณทั้งสิ้น 6,167.5 ล้านบาท โดยสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานตามกฎหมาย สร้างค่านิยมให้คนไทยรักษามรดกศิลปวัฒนธรรม และมีความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของท้องถิ่นไทย ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และเผยแพร่ทางวัฒนธรรม และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาส และความเสมอภาคทางสังคม งบประมาณทั้งสิ้น 10,849.2 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ด้านการสร้างการเติบโต บนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 118,700.2 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.7 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อการพัฒนาทรัพยากรและการรักษาสิ่งแวดล้อม และการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจภาคทะเลให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ปัญหาหมอกควันและไฟป่า และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่เมือง ชนบท เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม เชิงนิเวศและให้ความสำคัญกับการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จำแนกตามแผนงานได้ดังนี้

1) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ งบประมาณทั้งสิ้น 59,431.1 ล้านบาท โดยการจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อระบบประปา 124,545 ครัวเรือน จัดการน้ำภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมอย่างสมดุลและเพิ่มผลิตภาพการใช้น้ำ 334.4 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์จากแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น 345,387 ไร่ บรรเทาสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจ 603,778 ไร่ และปลูกป่าฟื้นฟู 24,350 ไร่ รวมทั้งช่วยเหลือและแก้ปัญหาภัยแล้ง เป้าหมายพื้นที่ประสบภัยแล้งได้รับการช่วยเหลือตามแผนปฏิบัติการฝนหลวงไม่น้อยกว่าร้อยละ 75

2) การจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม งบประมาณทั้งสิ้น 416.5 ล้านบาท โดยดำเนินการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะและของเสียอย่างเป็นระบบ จัดการมลพิษที่แหล่งกำเนิด เพิ่มศักยภาพการจัดเก็บ ขนส่ง การกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน ของเสียอันตราย ขยะติดเชื้อ และกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายให้ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องไม่น้อยกว่า 21.3 ล้านตัน จัดทำระบบการอนุญาตการระบายมลพิษ จัดการมลพิษที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสารเคมีในภาคเกษตรทั้งระบบให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายและกำกับดูแลแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศในพื้นที่วิกฤต

3) การพัฒนาพื้นที่ระดับภาค งบประมาณทั้งสิ้น 8,761.8 ล้านบาท เพื่อให้พื้นที่ระดับภาคสามารถดำเนินการตามนโยบายและแผนพัฒนาระดับภาค โดยดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาระบบการจัดการฐานข้อมูลทรัพยากร จัดระบบบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม ป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง แก้ปัญหามลพิษ ไฟป่าหมอกควัน น้ำท่วมและภัยแล้ง รวมทั้งพัฒนาระบบป้องกันชุมชนเมือง

4) การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ งบประมาณทั้งสิ้น 3,900.8 ล้านบาท โดยพัฒนากลไกและมาตรการในการอนุรักษ์ ปกป้อง คุ้มครอง ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์ความหลากหลาย ชีวภาพอย่างยั่งยืน เฝ้าระวัง ป้องกัน และตรวจติดตามการบุกรุกป่าอย่างบูรณาการ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์พื้นที่ต้นน้ำอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน 102.56 ล้านไร่ จัดกิจกรรมชุมชนไม้มีค่าและพื้นที่สีเขียวนอกเขตอนุรักษ์ เพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจฐานชีวภาพและอนุรักษ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในและนอกถิ่นกำเนิด แก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า สนับสนุนการปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ พัฒนาแหล่งเรียนรู้และแหล่งอนุรักษ์ ฟื้นฟู พันธุ์พืชใกล้สูญพันธุ์ พันธุ์พืชที่ถูกคุกคาม เพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวด้วยการบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และส่งเสริมการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าธรรมชาติที่เสื่อมโทรม กำหนดสิทธิในที่ดินแก่ประชาชน ด้วยการจัดหาที่ดินทำกินให้ชุมชน 202,000 ไร่ เพื่อแก้ไขปัญหาราษฎรที่อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท

5) การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคม เศรษฐกิจภาคทะเล งบประมาณทั้งสิ้น 287.2 ล้านบาท โดยพัฒนาและเพิ่มสัดส่วนกิจกรรมทางทะเลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจฐานชีวภาพทางทะเล ฟื้นฟูปะการังและหญ้าทะเลโดยการปลูกเสริม 210 ไร่ และรักษาระบบนิเวศและสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ ตลอดจนคุ้มครอง อนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง โดยการมีส่วนร่วม 3,151 กิโลเมตร

6) การจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง สภาวะภูมิอากาศ งบประมาณทั้งสิ้น 1,217.3 ล้านบาท เพื่อให้ประเทศสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ ลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 51 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ด้วยการสร้างความร่วมมือของภาคีต่าง ๆ ส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลดการเผา ส่งเสริมการไถกลบ และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในพื้นที่เกษตร รวมทั้งพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Ecological Industrial Town) 15 จังหวัด และเสริมสร้างขีดความสามารถในการลดมลพิษภาคอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกของโรงงาน

7) การสนับสนุนด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม งบประมาณทั้งสิ้น 11,582.9 ล้านบาท เพื่ออนุรักษ์ รักษา และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยสนับสนุนแหล่งน้ำเพื่อดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำและการจัดรูปที่ดินเพื่อการชลประทาน และส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ
8) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม งบประมาณทั้งสิ้น 14,162.3 ล้านบาท โดยสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ เช่น บำรุงรักษาโครงการชลประทาน เป็นต้น การป้องกันไฟป่า พัฒนาแหล่งเรียนรู้และแหล่งอนุรักษ์พันธุ์พืช และสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรแร่ และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อม งบประมาณทั้งสิ้น 18,940.3 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 6 : ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวน 504,686.3 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 15.8 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐสมัยใหม่ให้มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส รับผิดชอบและตรวจสอบได้ ปรับขนาดองค์กรให้มีความเหมาะสมกับภารกิจ การปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้มีความทันสมัย เสมอภาค เป็นธรรม มีความเป็นสากล ตลอดจนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อความเป็นธรรม เสมอภาค โปร่งใส รวดเร็ว และทั่วถึง จำแนกตามแผนงานได้ ดังนี้

1) การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ งบประมาณทั้งสิ้น 957.1 ล้านบาท โดยการปลูกฝังวิธีคิด และปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต มีค่านิยมในการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบผ่านกระบวนการในการถ่ายทอดความรู้ มุ่งเน้นการสร้างและพัฒนากลไก มาตรการ แนวทางในการป้องกันการทุจริตในองค์กรของหน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานคดีทุจริต ให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เพื่อภาพลักษณ์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ดีขึ้น สนับสนุนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริตและประพฤติมิชอบ

2) การพัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ งบประมาณทั้งสิ้น 18,160 ล้านบาท โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการให้บริการภาครัฐ พัฒนาโครงสร้างและระบบการบริหารจัดการภาครัฐสมัยใหม่ บริหารกำลังคนภาครัฐให้สอดคล้อง กับโครงสร้างหน่วยงานและภารกิจ มีความคล่องตัว และยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม มีความสามารถสูง และเป็นมืออาชีพ พัฒนาการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ คลอบคลุม 76 จังหวัด นำระบบดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงานและการตัดสินใจ เพื่อลดขั้นตอนและลดภาระค่าใช้จ่าย อำนวยความสะดวกแก่ภาคประชาชนและภาคธุรกิจผ่านศูนย์บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว (One Stop Service) รวมทั้งอำนวยความเป็นธรรมและความเสมอภาคให้กับประชาชนผ่านศูนย์ดำรงธรรม

3) การพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม งบประมาณทั้งสิ้น 1,252.3 ล้านบาท โดยพัฒนากลไกทางด้านกฎหมายให้มีความเข้มแข็ง สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสมแก่ผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ส่งเสริมการให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการ การประนอมข้อพิพาท การระงับข้อพิพาท และทางเลือกอื่นแทนการใช้กระบวนการทางศาล

4) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม งบประมาณทั้งสิ้น 28.6 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐให้เข้ากับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ในการป้องกันและปราบปรามทุจริต เพื่อนำไปสู่การสร้างความยุติธรรมที่เท่าเทียมกันทางสังคมและเป็นพื้นฐานสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

5) การสนับสนุนด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐงบประมาณทั้งสิ้น 7,254.6 ล้านบาท โดยสนับสนุนการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการให้องค์กรมีประสิทธิภาพภายใต้หลักธรรมาภิบาล มีส่วนร่วมปลูกฝังค่านิยม ความซื่อสัตย์สุจริต ความมัธยัสถ์ เพื่อประโยชน์ สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน และนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำและเอื้อต่อการพัฒนา

6) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ งบประมาณ ทั้งสิ้น 381,427.9 ล้านบาท โดยการพัฒนาระบบการบริการประชาชน และระบบการบริหารจัดการงานยุติธรรม รัฐสภา ศาล และหน่วยงานอิสระของรัฐ และรวมค่าใช้จ่ายตามสิทธิและประโยชน์ต่างๆ ของบุคลากรภาครัฐที่กำหนดไว้ในงบกลาง อาทิ เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ เงินสำรอง เงินสมทบและเงินชดเชยของข้าราชการ เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ และเงินสมทบของลูกจ้างประจำ และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐงบประมาณทั้งสิ้น 95,605.9 ล้านบาท

รายการค่าดำเนินการภาครัฐ

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้จำนวน 431,336.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.5 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ

รายจ่ายงบกลาง จำนวน 96,500 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรงและภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ ตลอดจนชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอาชีพงานก่อสร้าง
การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 272,127.1 ล้านบาท เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 89,170.4 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จำนวน 182,956.7 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐให้เกิดเสถียรภาพทางการคลังและการเงิน รวมทั้งการรักษาวินัยทางการคลัง

รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 62,709.5 ล้านบาท เพื่อเป็นรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังที่ได้จ่ายไปแล้วตามพระราชบัญญัติ เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายและสนับสนุนเสถียรภาพความมั่นคงทางการคลัง

ท่านประธานที่เคารพและท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่รัฐบาลได้แถลงมานั้น เป็นเพียงส่วนสำคัญหนึ่งของกรอบแนวทางหลักในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินที่จะต้องนำมาแถลงให้ทราบ สำหรับเอกสารประกอบได้มีการจัดทำให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 10 และมาตรา 11 และนำเสนอต่อท่านประธานและท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติทุกท่านแล้ว ดังนี้

1. คำแถลงประกอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

2. รายรับรายจ่ายเปรียบเทียบระหว่างปีที่ล่วงมาแล้ว ปีปัจจุบัน และปีที่ขอตั้งงบประมาณ รายจ่าย แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 1 (เล่มคาดส้ม)

3. คำอธิบายเกี่ยวกับประมาณการรายรับและวิธีหาเงินส่วนที่ขาดดุล แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 2 (เล่มคาดเขียว)

4. คำชี้แจงเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายที่ขอตั้ง ซึ่งรวมถึงการแสดงผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณและความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 (เล่มคาดแดง) และฉบับที่ 4 (เล่มคาดเหลือง)

5. รายงานเกี่ยวกับสถานะทางการเงินโดยรวมของรัฐวิสาหกิจ แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 5 (เล่มคาดม่วง)

6. รายงานเกี่ยวกับสถานะเงินนอกงบประมาณ และแผนการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณโดยรวมของหน่วยรับงบประมาณ แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 7 (เล่มคาดชมพู)

7. คำอธิบายเกี่ยวกับหนี้ของรัฐบาลทั้งที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันและหนี้ที่เสนอเพิ่มเติม แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 5 (เล่มคาดม่วง)

8. ผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายงบประมาณของปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้ว แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 6 (เล่มคาดน้ำเงิน)

9. ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

รัฐบาลเชื่อมั่นว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่นำเสนอนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงเจตนาอันแน่วแน่ของรัฐบาลในการใช้จ่ายงบประมาณ เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อวางรากฐานในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่สำคัญของประเทศในทุกด้าน โดยเฉพาะผลกระทบ ในด้านคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับทุกภาคส่วน เพื่อเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนการยกระดับศักยภาพประเทศให้ก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วบนหลักการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระยะ 20 ปีข้างหน้า
ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติต่อไป

กระผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านประธานและท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติจะให้การสนับสนุนและรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เพื่อรัฐบาลจะได้ยึดถือเป็นหลักในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนสืบไป

Aindravudh

นักเล่าเรื่อง จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ ผู้สนใจประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ผนวกกับการเริ่มต้นเส้นทางด้วยการเขียนงานวรรณกรรม ก่อนผันตัวมาเจาะประเด็นข่าวทางสังคม ออนไลน์ ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button