สุขภาพและการแพทย์

ไทยบังคับผู้สูงอายุต่างชาติอยู่ไทยชั่วคราวซื้อประกัน เริ่ม 31 ต.ค. นี้

รัฐบาลไทย เปิดระบบรองรับการทำประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (1 ปี) นำร่องกลุ่มผู้สูงอายุชาวต่างชาติทุกรายที่พำนักระยะยาว (Long stay) ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ซื้อกรมธรรม์ทั้งในและต่างประเทศ

วันนี้ (9 ตุลาคม 2562) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายนภินทร ศรีสรรพางค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงมหาดไทย พล.ต.ต.ณฐพล แสวงกิจ รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง นายสรยุทธ ชาสมบัติ รองอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และนายชยชัย แสงอินทร์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมแถลงข่าวการทำประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (1 ปี) โดยมีนพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ร่วมงาน

Advertisements

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลไทยส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพระดับโลก (Medical Hub) ทำให้ชาวต่างชาติเข้ามารับบริการรักษาพยาบาลในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องมีการคุ้มครองสุขภาพสำหรับชาวต่างชาติ และ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 อนุมัติหลักการให้เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การทำประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (ระยะ1 ปี) ให้มีการซื้อประกันสุขภาพของไทยคุ้มครองตนเองตลอดระยะเวลาที่พำนักในราชอาณาจักร มีผลบังคับใช้และพร้อมเปิดระบบรองรับการทำประกันสุขภาพในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 นำร่องในกลุ่มชาวต่างชาติผู้สูงอายุทุกรายที่เข้ามาพำนักระยะยาวในราชอาณาจักร (Long Stay) ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจประสบปัญหาสุขภาพให้ได้รับการคุ้มครองและดูแลตลอดระยะเวลาที่พำนักในราชอาณาจักรไทย ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกรมการกงสุล พ.ศ. 2562 มีผู้มาขอรับการตรวจลงตราประเภทนี้ 80,950 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ดร.สาธิตกล่าวต่อว่า การซื้อกรมธรรม์สามารถซื้อได้ทั้งในและต่างประเทศ แบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.longstay.tgia.org จำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่า 40,000 บาท กรณีผู้ป่วยในไม่น้อยกว่า 400,000 บาท ผู้ที่ซื้อประกันสุขภาพของบริษัทต่างประเทศ จะต้องมีจำนวนเงินเอาประกันภัยไม่น้อยกว่าการทำประกันสุขภาพของไทยตามที่กำหนดไว้ ขณะนี้มีบริษัทประกันสุขภาพภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ 14 บริษัท โดยมอบให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดทำเว็บไซต์กลางหรือแอปพลิเคชันที่เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ของหน่วยงานต่างๆ เป็นจุดบริการข้อมูล (One Stop Service) เพื่อให้ข้อมูลอาทิ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณสมบัติในการตรวจลงตรา รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ วิธีการทำประกันช่องทางการทำประกันสุขภาพ และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเล่าเรื่อง จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ ผู้สนใจประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ผนวกกับการเริ่มต้นเส้นทางด้วยการเขียนงานวรรณกรรม ก่อนผันตัวมาเจาะประเด็นข่าวทางสังคม ออนไลน์ ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button