16 ก.ค. 62 วันอาสาฬหบูชา ประวัติความเป็นมา
16 ก.ค. 62 วันอาสาฬหบูชา ประวัติความเป็นมา : ข่าววันอาสาฬหบูชา
ภาพจาก : Kathok Yosel Samtenling Monastery
ปีนี้ วันอาสาฬบูชา (หมายถึง การบูชาในเดือน 8) ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตรงกับวันที่ 16 กรกฎาคม ตามปฏิทินสุริยคติ วันอาสฬหบูชามีความสำคัญต่อพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ณ มฤคทายวัน ตำบลอิสิปตนะ เมืองพาราณสี ปัจจุบันอยู่ในประเทศอินเดีย
ธรรมอันเป็นปฐมถูกเรียกว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม หรือพระสูตรแห่งการแผ่ขยายธรรมจักร การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ 1 ในปัญจวัคคีย์ ประกอบด้วย โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า ได้ดวงตาเห็นธรรมหรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน
พระอัญญาโกณฑัญญะขออุปสมบทด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็นพระสาวกและภิกษุองค์แรกในโลก และทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า “วันพระธรรม” หรือ วันพระธรรมจักร อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก และ “วันพระสงฆ์” คือวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และจัดว่าเป็น”วันพระรัตนตรัย” อีกด้วย
สรุปได้ว่า วันอาสาฬบูชามีเหตุการณ์สำคัญ 4 เหตุการณ์ให้ระลึกถึง คือ
1. เป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก
2. เป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงได้พระสาวกองค์แรก
3. เป็นวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นรูปแรก
4. เป็นวันเกิดขึ้นของพระรัตนตรัย
“ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” มีหลักธรรมสำคัญ 2 ประการ คือ
1. มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง ไม่ใช่ชีวิตสุดโต่งในทางใดทางหนึ่ง
มีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ 8 ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ 8 ได้แก่
1. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
4. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต
5. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
7. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
8. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน
2. อริยสัจ ความจริงอันประเสริฐของอริยะ ได้แก่
1. ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่ามันคืออะไร ต้องยอมรับรู้ กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง ต้องเข้าใจในสภาวะโลกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ยึดติด
2. สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์
3. นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์
4. มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห่งการแก้ปัญหา อันได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ประการ