ข่าวภูมิภาค

เตรียมเฮ! รฟม. เตรียมดำเนินกิจการรถไฟฟ้าให้แก่จังหวัดภูเก็ต

ย้อนรอย กว่า 10 ปี ที่คนภูเก็ตรอคอยรถไฟฟ้ารางเบา เตรียมเฮ! มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าให้แก่จังหวัดภูเก็ต พังงา เชียงใหม่ และ นครราชสีมาแล้ว

นับเป็นข่าวที่น่ายินดีสำหรับคนจังหวัดภูเก็ต พังงา เชียงใหม่ และนครราชสีมา หลังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดจังหวัดให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าให้แก่จังหวัดภูเก็ต พังงา เชียงใหม่ และนครราชสีมา เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา

สำหรับภูเก็ต เป็นอีกหนึ่งจังหวัด ที่มีความพยายามในการผลักดันให้โครงการรถไฟฟ้ารางเบาเกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร และระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่ โดยความพยายามดังกล่าวเกิดขึ้นมายาวนานกว่า 10 ปีแล้ว มีการใช้งบประมาณในการศึกษาความเป็นไปได้จำนวนมหาศาล ที่ผ่านมา มีภาคเอกชน และนักลงทุนชาวต่างชาติเดินพบกับผู้ว่าราชการจังหวัดหลายคน รวมทั้งการเดินทางไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศเพื่อผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
เนื่องจากจังหวัดภูเก็ต เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของประเทศและมีชื่อเสียงในระดับโลก ด้วยความเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังทำให้ความเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด มีธุรกิจน้อยใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่มากมาย รวมไปถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง บวกกับผู้คนที่เข้ามาอาศัยและท่องเที่ยวมากขึ้นในทุกๆ ปี ทำให้เกิดปัญหาด้านการสัญจรที่ไม่สะดวกมากมาย ซึ่งที่ผ่านมา มีการศึกษาความเหมาะสมของโครงการมาแล้วหลายครั้ง จนกระทั่งล่าสุด ทางกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าภาพในการดำเนินโครงการ

หลังได้รับมอบหมาย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เข้าหารือจังหวัดภูเก็ต เพื่อเร่งศึกษา PPP ร่วมทุนโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต เตรียมเสนอ ครม. ในเดือน เม.ย.นี้ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการ PPP Fast Track คาดว่าจะสามารถเชิญชวนร่วมลงทุนได้ในไตรมาส 3 ปี 2562 และจะใช้ระยะเวลาพิจารณาข้อเสนอ ซึ่งจะรู้ผลผู้ชนะและลงนามสัญญาได้ประมาณกลางปี 2563 และมีแผนจะเริ่มก่อสร้างในปีเดียวกัน โดยใช้เวลาในการก่อสร้าง 3.5 ปี สามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 66
โดยให้ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี ในการให้บริการ ในช่วงเวลา 30 ปี (ปี 66-96) ประมาณการรายได้โครงการจากค่าโดยสารรวม 7.45 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ โครงการเป็น PPP รูปแบบคล้ายกับสายสีชมพูและสายสีเหลือง โดยภาครัฐจะอุดหนุนค่าก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 1.78 หมื่นล้านบาท ค่างานที่เกี่ยวข้องกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1.5 พันล้านบาท โดยให้เอกชนลงทุนไปก่อน รวมทั้งลงทุนระบบรถไฟฟ้า และจัดหาขบวนรถไฟฟ้า การเดินรถและการซ่อมบำรุงรักษา

สำหรับการดำเนินโครงการ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดย รฟม. จะเริ่มดำเนินการในระยะที่ 1 ก่อน ซึ่งเป็นช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กม. โดยมีสถานีทั้งหมด 21 สถานี แบ่งเป็นสถานีระดับพื้นดิน 19 สถานี สถานียกระดับ 1 สถานี และสถานีใต้ดิน 1 สถานี ซึ่งการปรับเปลี่ยนสถานีจะทำให้มูลค่าการก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีกจุดละ 500-800 ล้านบาท ที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ ดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว ส่วนระยะที่ 2 เริ่มจากช่วงท่านุ่น-เมืองใหม่ ระยะทาง 16.8 กม.

อย่างไรก็ตาม โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต มีมูลค่าโครงการ ประมาณ 3.48 หมื่นล้านบาท ส่วนค่าเวนคืนคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.5 พันล้านบาท โดยขณะนี้โครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ และยังไม่มีการเปิดให้ประมูลแต่อย่างใด ซึ่งตามแผนการดำเนินงาน ทาง รฟม.คาดว่าจะสามารถขออนุมัติดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ราวเดือนเมษายนนี้
ทั้งนี้ ในส่วนของการกำหนดอัตราค่าโดยสารแบบระยะทาง สูงสุดประมาณ 100-137 บาทต่อเที่ยว หรือแรกเข้า 18 บาท เก็บตามระยะทาง กม.ละ 2 บาท โดยจากการวิเคราะห์พบว่า โครงการนี้จะให้ผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) ประมาณ 12.5%
โครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการใหญ่ มีนักลงทุนจากต่างประเทศให้ความสนใจ ได้แก่ ฝรั่งเศส อิตาลี จีน ญี่ปุ่น ส่วนเอกชนไทย มีผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 ราย ได้แก่ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้ง (BTS) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ให้ความสนใจ และบริษัทผู้รับเหมารายใหญ่ รวมทั้งกลุ่มทุนท้องถิ่น เช่น บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button