เจาะลึก “แผนจักรพงษ์ภูวนาถ” ยุทธวิธีป้องกันประเทศ รับมือภัยคุกคามอธิปไตยไทย

เจาะลึก แผนจักรพงษ์ภูวนาถ ยุทธวิธีตอบโต้กัมพูชา ออกแบบมาเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน เน้นการตั้งรับและตอบโต้เพื่อป้องกันตนเอง ไม่ใช่แผนเชิงรุกหรือนำไปสู่การประกาศสงคราม
24 กรกฎาคม 2568 – สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาได้ทวีความรุนแรงขึ้นถึงขีดสุด หลังจากเหตุการณ์ทหารไทยเหยียบกับระเบิดลูกที่สองจนได้รับบาดเจ็บสาหัสขาขวาขาด รัฐบาลไทยได้ตอบโต้ทางการทูตด้วยการสั่งเรียกเอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชากลับประเทศ และส่งตัวเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยกลับประเทศ พร้อมทั้งพิจารณาปรับลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต สั่งปิดด่านและปราสาทตามแนวชายแดนทั้งหมด ขณะที่ผู้บัญชาการทหารบกได้สั่งการให้กองทัพภาคที่ 1 และกองทัพภาคที่ 2 เตรียมความพร้อมรับมือตาม แผนจักรพงษ์ภูวนาถ
ล่าสุดในช่วงเช้าวันนี้ สถานการณ์ในพื้นที่ยังคงตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเวลา 07.35 น. บริเวณปราสาทตาเมือนธม ฝ่ายไทยได้ส่งชุดประสานงานแจ้งให้ฝ่ายกัมพูชาทราบถึงการปิดพื้นที่ท่องเที่ยว แต่การพูดคุยล้มเหลวและฝ่ายกัมพูชาไม่ยอมรับ
จากนั้นฝ่ายไทยจึงได้นำลวดหนามหีบเพลงมาวางกั้นทางขึ้นปราสาท แต่ทหารฝ่ายกัมพูชาได้นำกำลังพร้อมอาวุธครบมือรวมถึงอาร์พีจีเข้ามาประชิด และมีการตั้งอาวุธปืนเผชิญหน้า จนกระทั่งเวลา 08.20 น. มีรายงานว่าทหารฝ่ายกัมพูชาได้เปิดฉากยิงในบริเวณใกล้เคียง ทำให้ทหารไทยต้องยิงตอบโต้เพื่อป้องกันตนเอง
เจาะแผน “จักรพงษ์ภูวนาถ” แผนรับมือภัยคุกคามภาคตะวันออก
หลายคนอาจสงสัยว่าแผนจักรพงษ์ภูวนาถคืออะไร ซึ่งแท้จริงแล้วแผนนี้ไม่ใช่แผนการรบกับกัมพูชาโดยตรง แต่เป็นแผนเผชิญเหตุสำหรับภาคตะวันออก ที่ออกแบบมาเพื่อ รับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยชื่อแผนได้นำมาจากพระนามของ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
โดยปกติแล้วการป้องกันประเทศจะมีแผนป้องกันประเทศ ซึ่งแผนใช้งานอยู่ในปัจจุบันจะมี 3 ขั้นก็คือ
1. ขั้นปกติ ใช้กองกำลังป้องกันชายแดนต่าง ๆ รับผิดชอบ เช่นในภาคตะวันออกที่ติดกับกัมพูชามีกองกำลังบูรพา กองกำลังสุรนารี และกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราดซึ่งเป็นกองกำลังของกองทัพเรือดูแลอยู่ ซึ่งการใช้แผนป้องกันประเทศในภาวะปกติจะมีแผนเผชิญเหตุต่าง ๆ เป็นขั้นป้องกันชายแดน
แต่ถ้ามีปัญหาด้านความมั่นคง ก็จะเข้าสู่ขั้นเตรียมการซึ่งใช่กำลังของกองทัพภาคเป็นหลัก
2. ขั้นตอบโต้หรือขั้นปฏิบัติการ ซึ่งใช้ในกรณีมีภัยคุกคามอย่างชัดเจนและต้องใช้กำลังขนาดใหญ่เข้าแก้ไขสถานการณ์ ซึ่งมีทางเลือกในการใช้กำลังแตกต่างกันไปตามภัยคุกคามและสถานการณ์
3. ขั้นป้องกันประเทศ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อการใช้กำลังในขั้นตอบโต้ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ โดยจะเป็นการระดมสรรพกำลังทั้งหมดในการป้องกันประเทศ ซึ่งก็คือการประกาศสงคราม

ส่วนแผนเผชิญเหตุอย่างแผนจักรพงษ์ภูวนาถมักจะใช้งานตั้งแต่ขั้นปกติไปจนถึงขั้นตอบโต้ ซึ่งใช้สำหรับการรับมือหนทางปฏิบัติฝ่ายตรงข้าม (Enemy Course of Action) ที่อันตรายที่สุด ซึ่งจะไม่ใช่แผนหลัก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง แผนเผชิญเหตุอย่างแผนจักรพงษ์ภูวนาจะไม่นำไปสู่การประกาศสงครามหรือการระดมพลทั่วประเทศ เนื่องจากจำกัดการใช้กำลังอยู่ในขั้นปกติจนถึงขั้นตอบโต้
ที่สำคัญแผนเผชิญเหตุอย่างแผนจักรพงษ์ภูวนาถเป็นแผนที่ออกแบบมาตั้งรับและเข้าตีตอบโต้ ซึ่งหมายถึงการ เน้นที่การป้องกันตนเองและการโจมตีเพื่อผลในการป้องกันตนเอง ไม่ใช่แผนเชิงรุกเพื่อยึดครองดินแดนหรือทำลายข้าศึก ซึ่งเสมือนเป็นการแสดงเจตนาของของไทยว่าต้องการป้องกันตนเองจากการที่กำลังพลของตนต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่เกิดจากทุ่นระเบิดของกัมพูชา
แผนจักรพงษ์ภูวนาถ กับกรณีเขาพระวิหาร ปี 54
สำหรับแผนจักรพงษ์ภูวนาถ คือแผนเผชิญเหตุสำหรับพื้นที่ชายแดนภาคตะวันออกที่กองทัพบกจัดทำขึ้นเพื่อรับมือสถานการณ์ความตึงเครียด โดยเคยถูกนำมาใช้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพมาแล้วในช่วงการปะทะที่ เขาพระวิหารเมื่อปี พ.ศ. 2554 แผนดังกล่าวมีขั้นตอนที่เป็นระบบ เริ่มตั้งแต่การสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกองทัพภาคที่ 1 และ 2 เตรียมความพร้อมของกำลังพลและยุทโธปกรณ์ ควบคู่ไปกับการประสานงานด้านการข่าวกรองเพื่อประเมินภัยคุกคามอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ หลักการสำคัญที่สุดของแผนจักรพงษ์ภูวนาถ คือการใช้กลไกที่เหมาะสมเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติและความปลอดภัยของประชาชนเป็นอันดับแรก โดยแผนดังกล่าวมีลักษณะเป็นการตั้งรับและเตรียมเข้าตีตอบโต้เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น ไม่ใช่แผนเชิงรุกที่มุ่งสร้างสงครามหรือขยายความขัดแย้ง
เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ “พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย”
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (ประสูติ 3 มีนาคม พ.ศ. 2426) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง ทรงเป็นพระอนุชาในรัชกาลที่ 6 และเป็นพระเชษฐาในรัชกาลที่ 7 ทรงเป็นเจ้านายที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการปฏิรูปกองทัพสยามให้มีความทันสมัย

หลังจากทรงศึกษาเบื้องต้นในพระบรมมหาราชวังและประเทศอังกฤษแล้ว ในปี พ.ศ. 2440 สมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ได้ทรงชักชวนให้รัชกาลที่ 5 ส่งพระราชโอรสมาศึกษาต่อที่รัสเซีย พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถย้ายมาทรงศึกษา วิชาการทหาร ณ โรงเรียนนายร้อยมหาดเล็กในราชสำนักรัสเซีย จนสำเร็จการศึกษาและได้รับการบรรจุเข้าเป็นนายทหารประจำการในกองทัพรัสเซีย สร้างความพอพระราชหฤทัยให้แก่สมเด็จพระจักรพรรดิเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อเสด็จนิวัติสยามในปี พ.ศ. 2449 สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถได้ทรงนำความรู้มาพัฒนากองทัพในหลายด้าน ทรงดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น ผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบก และเสนาธิการทหารบก ทรงริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนเสนาธิการ และมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจของสยามในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
พระกรณียกิจที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือการวางรากฐานกิจการการบินของไทย เมื่อครั้งยังทรงเป็นเสนาธิการทหารบก ได้ทรงมีดำริจัดตั้งแผนกการบินขึ้น และได้คัดเลือกนายทหาร 3 นายไปศึกษาวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส ได้แก่
- นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ ผู้บังคับกองพันพิเศษ กองพลที่ 5
- นายร้อยเอก หลวงอาวุธสิขิกร ผู้รั้งผู้บังคับกองพันพิเศษ กองพลที่ 9
- นายร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต ผู้บังคับกองร้อยที่ 2 โรงเรียนนายร้อยชั้น 75 มัธยม
จนเมื่อสำเร็จการศึกษากลับมา ก็ได้เลือกตำบลดอนเมืองเป็นที่ตั้งของสนามบิน และยกระดับหน่วยงานขึ้นเป็น กองบินทหารบก ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นกองทัพอากาศไทยในปัจจุบัน ด้วยพระเกียรติคุณนี้ พระองค์จึงได้รับการถวายพระสมัญญานามว่า “พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย”
ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงมีบทบาททางการเมืองอย่างสูงในฐานะรัชทายาทโดยอนุโลม และทรงเป็นที่ปรึกษาสำคัญของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในกิจการบ้านเมืองต่างๆ สำหรับพระชนม์ชีพส่วนพระองค์ ทรงอภิเษกสมรสกับสตรีชาวรัสเซีย หม่อมคัทริน และมีพระโอรสเพียงพระองค์เดียวคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ก่อนจะเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2463 สิริพระชนมายุ 37 พรรษา ทรงเป็นต้นราชสกุล “จักรพงษ์”
ที่มา: FB/ thaiarmedforce.com , สถาบันพระปกเกล้า
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ด่วน! กัมพูชาเปิดฉากยิง ตรงข้ามฐานหมูป่า ทหารไทยยิงตอบโต้
- กัมพูชา อ้าง “ไทยเป็นผู้รุกราน” เปิดฉากยิงก่อน จึงจำเป็นต้องโจมตีกลับ
- ด่วน! ทหารเหยียบกับระเบิดซ้ำ ขาขวาขาด สั่งปิดปราสาท-ด่าน
ติดตาม The Thaiger บน Google News: