ข่าวอาชญากรรม

เคสตัวอย่าง DSI เผยคดี “ไซตาพลัส” โดนโทษอ่วม ศาลจำคุก-ปรับยกทีม

DSI เดินหน้าปราบโฆษณาเกินจริง คดี “ไซตาพลัส” ศาลตัดสินจำคุก-ปรับยกทีม เตือนอย่าหลงเชื่อสรรพคุณบนโลกออนไลน์

คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 ในคดีหมายเลขดำที่ อ. 349/2568 และหมายเลขแดงที่ อ. 297/2568 ซึ่งเกี่ยวข้องกับความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และพระราชบัญญัติอาหาร

กรณีโฆษณาอาหารเสริมเกินจริง “SAITA Plus” หรือ “ไซตาพลัส” ที่อ้างสรรพคุณสามารถรักษาโรคตาได้

ล่าสุดศาลพิพากษาว่าจำเลยทั้ง 6 ราย ซึ่งประกอบด้วยนิติบุคคล 2 ราย และบุคคล 4 ราย มีความผิดฐานร่วมกันหลอกลวงนำเข้าข้อมูลอันเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ร่วมกันโฆษณาอาหารฝ่าฝืนกฎหมาย ศาลมีพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 2 – 6 คนละ 3 ถึง 5 ปี และปรับรวมตั้งแต่ 110,000 – 220,000 บาทเนื่องจากจำเลยทั้งหมดให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา สั่งให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับ 55,000 บาท จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 จำคุก 18 เดือน ปรับคนละ 55,000 บาท จำเลยที่ 5 จำคุก 36 เดือน ปรับ 110,000 บาท จำเลยที่ 6 จำคุก 18 เดือน ปรับ 110,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษ 1 ปี

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อธ.ค.2561 ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ได้รับร้องเรียนจากประชาชนและจักษุแพทย์เกี่ยวกับการโฆษณาอาหารเสริม “ไซตาพลัส” ซึ่งอ้างว่าสามารถรักษาโรคตา เช่น ต้อหิน ต้อกระจก และต้อเนื้อได้ จากการตรวจสอบทางการแพทย์ยืนยันว่า ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมดังกล่าวไม่มีส่วนผสมของสารออกฤทธิ์ใดที่สามารถรักษาโรคทางตาได้จริง และไม่สามารถใช้แทนการรักษาทางการแพทย์ได้ตามที่มีการโฆษณา

ต่อมาส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อและตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ไปใช้แล้วไม่ได้รับผลการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมตามที่เข้าใจ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ฯ จึงร้องเรียนต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อดำเนินการปิดเว็บไซต์โฆษณาเท็จ

โดยต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษ รับเป็นคดีพิเศษที่ 53/2563 ได้สอบสวนและมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 6 ราย ไปยังพนักงานอัยการ จนศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้ต้องหาผลปรากฏตามข้างต้น

ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงขอเตือนประชาชนให้ใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโฆษณาอาหารเสริมผ่านสื่อออนไลน์ ควรตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากมีการอ้างสรรพคุณรักษาโรค ให้ตั้งคำถามว่า “มีผลวิจัยรองรับหรือไม่” และ “ได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐใดหรือไม่” เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาเกินจริง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx