ยูเนสโกขึ้นทะเบียน แหล่งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กัมพูชา เป็นมรกดโลก จารึกเครื่องเตือนใจ

ยูเนสโกขึ้นทะเบียน 3 แหล่งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คุกตวลสเลง-ทุ่งสังหารในกัมพูชาเป็นมรดกโลก เพื่อประวัติศาสตร์ที่ต้องจดจำไว้เป็นเครื่องเตือนใจ
องค์การยูเนสโก (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียน 3 สถานในประเทศกัมพูชา ซึ่งเคยใช้เป็นคุกและลานประหารในยุคฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดงเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน ให้เป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ โดยนายกรัฐมนตรีกัมพูชาหวังว่าการขึ้นทะเบียนครั้งนี้จะเป็นเครื่องย้ำเตือนให้คนทั่วโลกต้องปกป้องสันติภาพไว้เสมอ และใช้ความแข็งแกร่งจากประวัติศาสตร์อันมืดมนที่สุดมาสร้างอนาคตที่ดีกว่า
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11 ก.ค. 68) คณะกรรมการมรดกโลกได้มีมติรับรองสถานที่ 3 แห่งของกัมพูชาที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมโดยระบอบเขมรแดง เข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลกอย่างเป็นทางการ เพื่ออนุรักษ์ไว้ในฐานะที่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และเป็นเครื่องเตือนใจถึงโศกนาฏกรรมที่มนุษยชาติเคยก่อขึ้น
1. พิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตวลสเลง ตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ ที่นี่คืออดีตโรงเรียนมัธยมที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นเรือนจำ S-21 อันน่าสะพรึงกลัว คาดว่ามีนักโทษการเมือง ปัญญาชน และประชาชนผู้บริสุทธิ์ถูกนำมาคุมขังและทรมานที่นี่ราว 15,000 คน
2. ศูนย์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เจืองเอ็ก เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘ทุ่งสังหาร’ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงพนมเปญ ที่นี่คือสถานที่ที่นักโทษจาก S-21 จะถูกนำตัวมาประหารชีวิตในยามค่ำคืน มีการขุดพบร่างผู้เสียชีวิตกว่า 6,000 ร่างจากหลุมศพหมู่กว่า 100 หลุมในบริเวณนี้
3. อดีตเรือนจำ M-13 ตั้งอยู่ในจังหวัดกัมปงชนัง เป็นเรือนจำยุคแรกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของเขมรแดง เพราะเป็นสถานที่ที่ใช้ในการคิดค้นและทดสอบวิธีการสอบสวน ทรมาน และสังหารนักโทษ ปัจจุบันเหลือเพียงที่ดินรกร้างที่มีร่องรอยของหลุมคุมขังนักโทษอยู่จาง ๆ

สำหรับเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชาเกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2518-2522 ภายใต้การปกครองของกลุ่มเขมรแดงที่นำโดย พล พต (Pol Pot) ซึ่งได้รีเซ็ตปฏิทินสู่ปีที่ศูนย์ พยายามสร้างสังคมเกษตรกรรมอันบริสุทธิ์ ปราศจากชนชั้น การเมือง หรือทุนนิยม ด้วยการกวาดต้อนผู้คนออกจากเมือง บังคับใช้แรงงานอย่างหนัก จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการอดอยาก, การทรมาน และการสังหารหมู่ไปราว 2 ล้านคน
ด้าน สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้กล่าวว่า “ขอให้การขึ้นทะเบียนครั้งนี้เป็นเครื่องเตือนใจอันยาวนานว่าสันติภาพเป็นสิ่งที่ต้องปกป้องไว้เสมอ”
ขณะที่ นายยุก จาง ผู้รอดชีวิตจากทุ่งสังหารและผู้อำนวยการศูนย์เอกสารกัมพูชา กล่าวว่า สถานที่เหล่านี้คือ “ภูมิทัศน์แห่งความทรงจำร่วมกันของเราในกัมพูชาที่จะทำให้การสอนประวัติศาสตร์เขมรแดงมีประสิทธิภาพและเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น”
แม้ว่า พล พต จะเสียชีวิตไปในปี 2541 ก่อนที่จะถูกนำตัวขึ้นศาล แต่ศาลพิเศษที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติก็ได้ตัดสินลงโทษแกนนำคนสำคัญของเขมรแดงไป 3 คน รวมถึงอดีตผู้บัญชาการเรือนจำ S-21 ก่อนที่ศาลจะยุติการดำเนินงานไปในปี 2565 การขึ้นทะเบียนมรดกโลกในครั้งนี้จึงเป็นการจารึกประวัติศาสตร์บาดแผลครั้งสำคัญนี้ไว้ให้โลกได้จดจำตลอดไป

ข้อมูลจาก : france24
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กัมพูชา ร้องยูเนสโก้ช่วยตรวจสอบ กล่าวหา วัดภูม่านฟ้า ลอก นครวัด
- แจงแทนเขมร เสนอประเพณีแต่งงานกัมพูชา ต่อยูเนสโก ไม่ได้สอดไส้ชุดไทย
- เปิด 4 เหตุผล งานแต่งเขมรสอดไส้ชุดไทย มีโอกาสยื่นยูเนสโกผ่านสูง รู้แล้วมีอึ้ง
ติดตาม The Thaiger บน Google News: