สมช. แจงแล้ว ให้สัญชาติไทยต่างด้าว คัดเข้ม 4 แสนคน ไม่ลิดรอนสิทธิคนไทย

สภาความมั่นคงแห่งชาติ ชี้แจง ต่างด้าวขอสัญชาติไทย ไม่ใช่เปิดรับต่างด้าวหน้าใหม่ แต่เพื่อแก้ปัญหาสถานะชนกลุ่มน้อยที่อยู่ไทยมานาน ผ่านการคัดกรองแล้วกว่า 4 แสนคนทั่วประเทศ
วันนี้ 2 กรกฎาคม 2568 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณี ต่าวด้าวขอสัญชาติไทย กระทรวงมหาดทไทย สั่งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เปิดรับคำร้องขอสัญชาติไทยแก่บุคคลไร้สัญชาติ ซึ่งกำลังเป็นประเด็นในสังคม ย้ำว่ามาตรการดังกล่าวไม่ใช่การเปิดให้แรงงานต่างด้าวหน้าใหม่เข้ามารับสิทธิ์ในทันที แต่เป็นการเร่งรัดแก้ปัญหาสถานะทางกฎหมายให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานนับสิบปี
ตามแถลงการณ์ของสมช. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติมีมติเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาสถานะของชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่ม ซึ่งได้อพยพเข้ามาพำนักในไทยตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ โดยใช้ชีวิตร่วมกับคนไทยอย่างสงบสุขมาโดยตลอด
ต่อมาในวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ครม.ได้มีมติอนุมัติตามข้อเสนอของสมช. เพื่อดำเนินการให้สถานะทางกฎหมายแก่บุคคลกลุ่มนี้อย่างเป็นระบบ ย้ำไม่ใช่แรงงานข้ามชาติหน้าใหม่
สมช.ชี้แจงเพิ่มเติมว่า กลุ่มเป้าหมายไม่ใช่แรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ลาว กัมพูชา หรือเวียดนามที่เพิ่งอพยพเข้ามาใหม่ แต่คือบุคคลที่อาศัยอยู่ในไทยมานาน มีชื่อในทะเบียนบ้าน มีข้อมูลในฐานข้อมูลของกรมการปกครอง และผ่านกระบวนการคัดกรอง พิสูจน์คุณสมบัติเบื้องต้นแล้ว
สถานะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก
- กลุ่มผู้ใหญ่ จำนวน 340,101 คน ที่จะได้รับ “ใบสำคัญถิ่นที่อยู่” เพื่อพำนักในไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
- กลุ่มเด็กที่เกิดในไทย จำนวน 143,525 คน ซึ่งเป็นบุตรหลานของกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวที่เกิดและเติบโตในไทย มีสิทธิ์ยื่นขอสัญชาติไทย
หลักเกณฑ์ทั้งหมดจะมีผลบังคับใช้ภายในกรอบระยะเวลา 1 ปี ผู้ยื่นคำขอจะต้องรับรองคุณสมบัติของตนเอง และหากให้ข้อมูลอันเป็นเท็จหรือมีพฤติการณ์เป็นภัยต่อความมั่นคง จะถูกเพิกถอนสถานะในภายหลัง
อัตราค่าธรรมเนียมเป็นทางการ
- ยื่นคำขอใบสำคัญถิ่นที่อยู่: 900 บาท
- ยื่นขอบัตรประชาชน: 100 บาท
สมช.เน้นย้ำว่า หากพบเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเงินเกินอัตรา หรือมีบุคคลใดเรียกรับผลประโยชน์จากการช่วยดำเนินการ ขอให้แจ้งศูนย์ดำรงธรรม หรือศูนย์ต่อต้านการทุจริตของกรมการปกครองโดยทันที
ไม่แย่งสิทธิ์คนไทย แต่ยกระดับคุณภาพชีวิตร่วมกัน
สมช.ระบุว่า การให้สถานะทางกฎหมายครั้งนี้ไม่ใช่การแย่งสิทธิคนไทย แต่เป็นการทำให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศเดียวกันมีความชัดเจนในระบบกฎหมาย ลดปัญหาการเอารัดเอาเปรียบ ส่งเสริมให้รัฐสามารถบริหารจัดการประชากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมย้ำว่าเป็นการเคารพหลักสิทธิมนุษยชนและยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนให้มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ราชกิจจาฯ ออกประกาศ แสดงความประสงค์ สละสัญชาติไทย 195 คน
- ด่วนที่สุด สั่งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด เปิดรับคำร้อง “ขอสัญชาติไทย” ให้คนต่างด้าว
- ฮุน มาเนต หารือ กุนซือกฎหมาย ดันคดีพิพาท ไทย-กัมพูชา ขึ้นศาลโลก
ติดตาม The Thaiger บน Google News: