ข่าวภูมิภาค

เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศวทม. เร่งช่วยเหลือโลมาริซโซส์ สายพันธุ์หายาก หลังพบเกยตื้นหาดไร่เลย์

เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. วันนี้(19 ก.พ.62) เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน(ศวทม.) และเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพฯ อาสาสมัครมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ตช่วยกันลำเลียงโลมาริซโซส์ เพศผู้ ที่ได้ทำการเคลื่อนย้ายมาจากจ.กระบี่ ด้วยรถพยาบาลสัตว์ทะเลหายากเคลื่อนที่ ลงจากรถเพื่อนำไปไว้ในบ่ออนุบาลของศูนย์ฯที่เตรียมไว้ ก่อนให้สัตวแพทย์ทำการรักษาตามอาการ

จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่าเป็นโลมาริสโซส์ วัยเด็ก ความยาวประมาณ 250เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม สภาพผอมและอ่อนแรง ไม่สามารถทรงตัว หรือว่ายน้ำได้ นอกจากนี้พบบาดแผลบริเวณโหนกหัวด้านซ้าย ซึ่งเกิดจากการเกยตื้นจำนวนหลายแห่ง เจ้าหน้าที่จึงต้องช่วยพยุงตัว ให้ยา และสังเกตุอาการอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ โลมาริซโซส์ ตัวดังกล่าว เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน(ศวทม.) ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง จ.กระบี่ ว่าพบโลมาเกยตื้นบริเวณฝั่งตะวันออกของหาดไรเลย์จังหวัดกระบี่ เวลาประมาณ 16.00 น. ของวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา จึงให้ทำการขนย้ายโลมามายังบ่อเพาะเลี้ยงของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่ และประคองตัวโลมาพร้อมสังเกตอาการเบื้องต้นไว้ก่อนที่เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายากฯจะเดินทางไปรับตัวกลับมายังศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน(ศวทม.)จ.ภูเก็ตในช่วงเช้าวันนี้

น.ส.พัชราภรณ์ แก้วโม่ง สัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก เปิดเผยว่า โลมาริซโซส์ ตัวดังกล่าวเกยตื้นจากอาการป่วย เบื้องต้นพบว่าโลมามีสภาพร่างกายซูบผอม มีบาดแผลหลายแห่ง เจ้าหน้าที่ต้องดูแลสังเกตุอาการอย่างใกล้ชิด โดยโลมาริซโซส์เป็นโลมาที่ค่อนข้างจะพบเห็นได้ยาก เพราะอาศัยอยู่ในน้ำลึก มักอยู่รวมกันเป็นฝูง เมื่อป่วยจึงแยกตัวออกจากฝูงมาเกยตื้น พบได้ในเขตน้ำลึกนอกฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ที่จ.ภูเก็ตเคยมีประวัติการพบเกยตื้นเมื่อหลายปีก่อน

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า โลมาริซโซส์นั้นจะมีขนาดที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของตระกูล ซึ่งเมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาด ประมาณ 4 เมตร ทั้งเพศผู้และเพศเมีย ซึ่งร่างกายส่วนหน้านั้นจะมีความแข็งแรงเป็นอย่างมาก ครีบส่วนหน้าจะเป็นครีบที่มีความยาวที่สุดในทุกส่วนของร่างกายปลาโลมา ส่วนหัวนั้นจะมีรูปร่างแบบกระเปาะ และ มีรอยย่นในแนวตรงยาวของพื้นที่ส่วนหน้า สีจะเปลี่ยนไปตามอายุขึ้นเรื่อยๆ และในช่วงอายุไม่มากจะมีสีเทาถึงน้ำตาล หลังจากนั้นก็จะมีสีดำ และเริ่มมีสีสว่างขึ้นเรื่อยๆพร้อมกับการเข้าสู่วัยเจริญเติบโต

ภาพจาก ศวทม.และอาสาสมัครมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button