ขนลุกซู่ สาวจีนไอไม่หยุด พบปอดติดเชื้อรา เหตุกินเมนูนี้ ชามเดียวเกือบไม่รอด

สาวจีน วัย 30 ปี ไอแห้งไม่หยุด ตรวจปอดผงะ ติดเชื้อราจากซุปนกพิราบที่กินไป 2 สัปดาห์ก่อน แพทย์เตือนภัยเชื้อร้ายจากมูลนก หากรุนแรงอาจถึงขั้นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
อุทาหรณ์ครั้งใหญ่คนชอบกินสัตว์ปีก กรณีของ ‘น.ส.เซี่ย’ (นามสมมติ) สาวชาวจีนวัย 30 ปีที่ต้องเผชิญกับประสบการณ์ระทึกขวัญ มีอาการไอแห้งเรื้อรังนานนับสัปดาห์หลังตรวจร่างกายพบภาพเอกซเรย์บริเวณปอดที่ปรากฏลักษณะคล้ายใบหน้าปีศาจ ก่อนที่แพทย์จะสืบหาความจริงจนพบสาเหตุว่าสาเหตุเธอติดเชื้อราในปอดเชื่อมโยงกับอาหารที่เคยทานเมื่อสองสัปดาห์ก่อนหน้า
ตามรายงานของสื่อท้องถิ่น น.ส.เซี่ย เข้ารับการรักษาที่แผนกโรคระบบทางเดินหายผลของโรงพยาบาลในเครือมหาวิทยาลัยการแพทย์กว่างโจว ด้วยอาการไอแห้งต่อเนื่อง ผล CT Scan บริเวณหน้าอกพบการติดเชื้อหลายจุดในปอดทั้งสองข้าง มีโพรงอากาศจำนวนมาก น.พ. หลิว จื้อเทา หัวหน้าแพทย์แผนกโรคระบบทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤต สังเกตเห็นลักษณะพิเศษบนภาพ CT Scan ที่มีรูปร่างคล้ายใบหน้าปีศาจจนสงสัยว่าอาจเป็นโรคปอดอักเสบจากเชื้อคริปโตค็อกคัส (Cryptococcal Pneumonia)
เบื้องต้น แพทย์สอบถามสาววัย 30 ปี ว่าได้สัมผัสกับนก สัตว์ปีก หรือเลี้ยงสัตว์เลี้ยงใด ๆ หรือไม่ แต่ผู้ป่วยปฏิเสธ แพทย์จึงตรวจเลือดเพื่อหาแอนติเจนของเชื้อคริปโตค็อกคัส และส่องกล้องตรวจหลอดลมพร้อมเก็บตัวอย่างของเหลวในถุงลมไปตรวจหาเชื้อ ซึ่งในวันต่อมา ผลการตรวจทั้งเลือดและของเหลวในถุงลมปอดต่างก็ให้ผลบวกต่อแอนติเจนของเชื้อคริปโตค็อกคัส ประกอบกับการตรวจพันธุกรรมเชื้อขั้นสูง (tNGS) ที่ตรวจพบเชื้อคริปโตค็อกคัส นีโอฟอร์แมนส์ จำนวนมาก ยืนยันการวินิจฉัยว่าเป็นโรคปอดอักเสบจากเชื้อคริปโตค็อกคัสสายพันธุ์ใหม่

เมื่อทราบผลการตรวจเลือด น.ส.เซี่ย นึกขึ้นได้ว่าเมื่อประมาณสองสัปดาห์ก่อน เธอได้นกพิราบสองตัวมาจากเพื่อนจึงเลี้ยงไว้ที่บ้านเป็นเวลา 4 วัน จากนั้นจึงนำมาเชือดและปรุงเป็นซุปรับประทาน ทีมแพทย์เชื่อว่าการติดเชื้อคริปโตค็อกคัสเชื่อมโยงกับการเชือดนกพิราบในครั้งนั้น โชคดีที่หลังจากการรักษาตามขั้นตอนเธอหายเป็นปกติและสามารถกลับบ้านได้
แพทย์อธิบายเพิ่มเติมว่า เชื้อราคริปโตค็อกคัส นีโอฟอร์แมนส์ (Cryptococcus neoformans) เป็นเชื้อราที่พบได้ทั่วไปในมูลนกพิราบ ดิน และพืชที่เน่าเปื่อย เมื่อแห้งจะก่อตัวเป็นละอองลอยในอากาศ สามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านการสูดดมทางระบบทางเดินหายใจ กลุ่มเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อนี้ เช่น ผู้ที่เลี้ยงนกพิราบ ผู้ที่รักนก คนทำสวน หรือผู้ที่สัมผัสกับนกหรือดินเป็นเวลานาน รวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ หรือผู้ที่ใช้ยาฮอร์โมนเป็นเวลานาน
อาการของโรคปอดอักเสบจากเชื้อคริปโตค็อกคัสในระยะเริ่มแรกอาจไม่มีอาการแสดง หรือมีอาการเล็กน้อยคล้ายไข้หวัด เช่น ไอ มีไข้ต่ำ ๆ เจ็บหน้าอก ทำให้ถูกมองข้ามได้ง่าย หากอาการรุนแรง อาจมีไข้สูง หายใจลำบาก หรือไอเป็นเลือด และหากไม่ได้รับการควบคุมอย่างทันท่วงที ประมาณ 10% ของผู้ป่วยอาจเกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 60% ถึง 80% นับเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง
ข้อมูลจาก : ctwant
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เช็กอาการ ‘โรคปอดติดเชื้อ’ มีวิธีรักษาและป้องกันอย่างไร
- โรคปอดติดเชื้อระบาดชัยภูมิ ตรวจแล้วไม่ใช่โรคใหม่ ขอ ปชช. อย่าแตกตื่น
- ผู้ประกอบการขอโทษปม บันจี้จัมป์ขาด ทำ นทท. หวิดดับ ยืนยันไม่พบปอดติดเชื้อ
ติดตาม The Thaiger บน Google News: