ข่าว

พระโคกินอะไร 2568 เปิดคำทำนายบ้านเมือง มีแต่เรื่องดี ค้าขายต่างประเทศรุ่งเรือง

พระโคกินอะไร วันพืชมงคล 2568 ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โหรหลวงพยากรณ์น้ำพอดี ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ พระโคเสี่ยงทายการค้า ต่างประเทศรุ่งเรือง

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 9 พฤษภาคม 2568 เนื่องในวันพืชมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปีพุทธศักราช 2568 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกรไทย ก่อนเริ่มฤดูกาลเพาะปลูก

ในการพระราชพิธีนี้คำพยากรณ์ของโหรหลวง ซึ่งได้ตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงทายหยิบผ้านุ่งสำหรับพระยาแรกนา ปรากฏว่าพระยาแรกนาได้หยิบผ้าได้ 5 คืบ ซึ่งตามคำพยากรณ์ระบุว่า

“น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี”

พืชมงคล 2568 พระโคกินน้ำ หญ้า และเหล้า

จากนั้น เป็นการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งที่ตั้งเลี้ยงพระโค ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า เพื่อทำนายความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารในปีนี้ ในปีนี้ พระโคแรกนาขวัญได้เลือกกิน น้ำ หญ้า และ เหล้า ซึ่งมีคำพยากรณ์ดังนี้

  • พระโคกิน น้ำกับหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอควร พร้อมด้วย ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารอุดมสมบูรณ์ดี
  • พระโคกิน เหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกยิ่งขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง”

พระโคที่ใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2568 นี้ กรมปศุสัตว์ได้ทำการคัดเลือกไว้จำนวน 2 คู่ ได้แก่

  • พระโคแรกนาขวัญ: พระโคพอ และ พระโคเพียง
  • พระโคสำรอง: พระโคเพิ่ม และ พระโคพูล

พระโคพอ ความสูง 164 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 226 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 214 เซนติเมตร อายุ 13 ปี

พระโคเพียง ความสูง 196 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 239 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 210 เซนติเมตร อายุ 13 ปี

พระโคเพิ่ม ความสูง 162 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 236 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 201 เซนติเมตร อายุ 15 ปี

พระโคพูล ความสูง 157 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 242 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 205 เซนติเมตร อายุ 15 ปี

ย้อนคำพยากรณ์ วันพืชมงคลปีที่แล้ว พระโคกินอะไร ?

ของกิน ที่พระโคเลือก

1. กินน้ำ หญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอควร พร้อมด้วยธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี

2.กินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกยิ่งขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง

ผ้านุ่งแต่งกาย ที่พระโคหยิบ

หยิบผ้าได้ 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี

เกร็ดความรู้ ความเป็นมาของพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในสมัยโบราณ คงจะเป็นพิธีที่มีความมุ่งหมายเพื่อบำรุงขวัญและเตือนเกษตรกรให้ปลูกพืชผลโดยเฉพาะการทำนา เพราะข้าวเป็นธัญญาหารหลักสำคัญยิ่งในการดำรงชีวิต พระมหากษัตริย์หรือประมุขของประเทศจึงเป็นผู้นำลงมือไถนาและหว่านพืชพันธุ์ธัญญาหารเป็นตัวอย่าง เพื่อเตือนราษฎรว่าถึงเวลาทำการเพาะปลูกแล้ว

ต่อมา เมื่อพระมหากษัตริย์หรือประมุขของประเทศมีพระราชภารกิจอื่น จึงโปรดแต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คือ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ให้ไปปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ เรียกว่า พระยาแรกนา ทำหน้าที่ไถนาและหว่านธัญพืช พระมเหสีหรือพระชายาที่เคยร่วมไถนาหว่าน ก็เปลี่ยนเป็นท้าวนางในราชสำนัก ออกไปทำหน้าที่หาบกระบุงพันธุ์พืชช่วยพระยาแรกนา เรียกว่า เทพี

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีชนหลายเชื้อชาติที่ปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน ได้แก่ อินเดีย จีน และกัมพูชา สำหรับประเทศไทยนั้น มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยและได้ปฏิบัติสืบต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่กระทำในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนถึงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีแต่พิธีพราหมณ์ตามแบบสมัยอยุธยา ไม่มีพิธีสงฆ์

ประวัติวันพืชมงคล

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มพิธีสงฆ์ร่วมในพิธีด้วย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหารที่นำมาตั้งในมณฑลพิธี ก่อนจะนำไปไถหว่าน เรียกพระราชพิธีนี้ว่า พระราชพิธีพืชมงคล เมื่อรวมพระราชพิธี ๒ พระราชพิธี เรียกว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นราชประเพณีสืบมา จัดการพระราชพิธี ๒ วัน วันแรก คือ พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีสงฆ์ วันรุ่งขึ้น คือ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีสิริมงคล เพื่อบำรุงขวัญเกษตรกร จึงได้กำหนดวันประกอบพระราชพิธีในวันดีที่สุดของแต่ละปี โดยเลือกวันขึ้นแรมฤกษ์ยามอันเป็นอุดมฤกษ์ตามตำราโหราศาสตร์ และอยู่ในระหว่างเดือน ๖ ทางจันทรคติ พระราชพิธีนี้จึงไม่ได้กำหนดวันในแต่ละปีตามปฏิทินได้แน่นอน ตามปกติแล้ววันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจะอยู่ในเดือนพฤษภาคมของทุกปี

การที่กำหนดในเดือน 6 ก็เพราะเป็นเดือนที่เริ่มเข้าฤดูฝนเป็นระยะเวลาเหมาะสมสำหรับเกษตรกร คือ ชาวนาจะได้เตรียมทำนาอันเป็นอาชีพหลักของไทยมาแต่โบราณ เมื่อโหรหลวงคำนวณวันอุดมมงคลฤกษ์แล้ว สำนักพระราชวังจะลงพิมพ์ในปฏิทินหลวงที่พระราชทานในวันปีใหม่ทุกปี โดยกำหนดว่า วันใดเป็นพระราชพิธีพืชมงคล วันใดเป็นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งได้กำหนดเป็นวันสำคัญของชาติ คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นวันหยุดราชการและประกาศให้มีการประดับธงชาติ

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญได้ปฏิบัติเป็นราชประเพณีสืบมาจนถึง พุทธศักราช 2475 แล้วได้เว้นว่างไป ต่อมาพุทธศักราช 2483 รัฐบาลกำหนดให้มีการพระราชพิธีเฉพาะแต่พระราชพิธีพืชมงคล ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ให้เรียกว่า รัฐพิธีพืชมงคล

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx