กัมพูชา แบนนำเข้าเนื้อจากไทย หวั่นแอนแทรกซ์ระบาด ตามรอยลาว

ผวาแอนแทรกซ์ไทย กัมพูชา ประกาศ ระงับนำเข้าปศุสัตว์ และผลิตภัณฑ์เนื้อทุกชนิด หลัง สปป.ลาว สั่งแบนจากเคสคนตายที่มุกดาหาร
เพจเฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว ได้รายงานเมื่อวันพุธที่ 7 พฤษภาคม 2568 ว่า ทางการกัมพูชาเป็นประเทศล่าสุดที่ประกาศใช้มาตรการ ระงับการนำเข้าปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์จากประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคแอนแทรกซ์ หลัง สปป.ลาว ที่ได้ออกมาตรการคล้ายกันไปก่อนหน้านี้
กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของกัมพูชา คือหน่วยงานที่ออกประกาศดังกล่าว โดยให้เหตุผลถึงความจำเป็นในการป้องกันการแพร่ระบาด แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่พบการติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์ภายในประเทศกัมพูชาก็ตาม
เว็บไซต์ข่าว ขแมร์ ไทมส์ ของกัมพูชา รายงานเพิ่มเติมว่า ทางการกัมพูชากำลังติดตามสถานการณ์ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ได้สั่งห้ามการนำเข้าปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์จากจุดผ่านแดนไทยทุกแห่ง พร้อมกำชับให้หน่วยงานชายแดนปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวด

กรมสุขภาพสัตว์และการผลิตสัตว์ของกัมพูชา ยังได้สั่งตั้งเครือข่ายตอบสนองฉุกเฉินครอบคลุม 25 จังหวัดและกรุงพนมเปญ เพื่อเฝ้าระวังสุขภาพปศุสัตว์อย่างเต็มกำลัง
ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ข่าว เดอะ พนมเปญ โพสต์ รายงานว่า กระทรวงสาธารณสุขกัมพูชาได้ออกแถลงการณ์เตือนประชาชนถึงอันตรายของโรคแอนแทรกซ์ โดยเน้นย้ำว่า แม้เป็นโรคที่พบได้น้อย แต่มีความรุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มปศุสัตว์และสัตว์ป่า เชื้อแอนแทรกซ์มีความสามารถในการสร้างสปอร์ที่ทนทานสูง สามารถปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายสิบปี
การตัดสินใจของกัมพูชา เกิดขึ้นภายหลังจากที่รัฐบาลลาวได้ออกคำสั่งระงับการนำเข้าเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อม้า และเนื้อแกะจากประเทศไทยอย่างไม่มีกำหนดไปเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม เป็นต้นมา มาตรการของ สปป.ลาว เป็นผลโดยตรงจากกรณีพบชายไทยวัย 53 ปี ในจังหวัดมุกดาหาร เสียชีวิตจากโรคแอนแทรกซ์ เมื่อวันที่ 30 เมษายน

นับเป็นผู้เสียชีวิตรายแรกของไทยจากโรคนี้ในรอบกว่า 30 ปี (นับตั้งแต่ปี 2537) ผู้เสียชีวิตรายดังกล่าวมีอาการผื่นขึ้นและแผลพุพองที่มือ ซึ่งสอดคล้องกับอาการติดเชื้อแอนแทรกซ์ เหตุการณ์นี้ทำให้พื้นที่อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ถูกประกาศเป็นเขตควบคุมโรค และมีการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกว่า 638 ราย
โรคแอนแทรกซ์เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bacillus anthracis สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้หลายทาง ทั้งการสัมผัสสัตว์หรือซากสัตว์ที่ติดเชื้อ การรับประทานเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนและปรุงไม่สุก หรือการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อเข้าไป ซึ่งเป็นช่องทางที่อันตรายที่สุด อาการอาจปรากฏหลังได้รับเชื้อตั้งแต่ 1 วัน ถึง 2 เดือน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ลาวผวา สั่งห้ามนำเข้าเนื้อจากไทย หวั่นแพร่เชื้อแอนแทรกซ์ หลังเสียชีวิตรายแรกในรอบ 30 ปี
- เตือน “แอนแทรกซ์” ระบาดใกล้ไทย ติดเชื้อสัตว์สู่คน พบผู้ป่วยสะสม 4 ราย
- ตายแล้ว 1 เชื้อแอนแทรกซ์ระบาด มุกดาหาร แผลน่ากลัวมาก กินวัวงานบุญ ปรุงสุกก็ไม่รอด
ติดตาม The Thaiger บน Google News: