เตือน “แอนแทรกซ์” ระบาดใกล้ไทย ติดเชื้อสัตว์สู่คน พบผู้ป่วยสะสม 4 ราย

เพจดัง โพสต์คลิปสัตว์ล้มตายจากประเทศเพื่อนบ้าน วอนจับตา “โรคแอนแทรกซ์” ระบาดประชิดชายแดนไทย รู้จัก 3 ช่องทางติดสู่คน-วิธีป้องกัน ก่อนสาย
สถานการณ์โรคระบาดในสัตว์บริเวณชายแดน กลายเป็นประเด็นที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เมื่อเพจเฟซบุ๊กชื่อดัง บิ๊กเกรียน ได้ออกมาโพสต์ข้อความพร้อมคลิปวิดีโอ ส่งสัญญาณเตือนภัยถึงการระบาดอย่างรุนแรงของ โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่งผลให้สัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ล้มตายเป็นจำนวนมาก สร้างความหวั่นวิตกว่าเชื้อร้ายอาจแพร่ระบาดข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย
โพสต์ดังกล่าวจากเพจ บิ๊กเกรียน ระบุข้อความเรียกร้องให้เกิดการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พร้อมติดแฮชแท็ก #ฝั่งเพื่อนบ้านระบาดสัตว์เลี้ยงล้มตาe!!” ประกอบคลิปวิดีโอที่เผยให้เห็นภาพน่าสลดใจของซากสัตว์จำนวนมาก บ่งชี้ถึงความรุนแรงของสถานการณ์โรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้นประชิดชายแดนไทย
ทำความรู้จัก “แอนแทรกซ์” ภัยร้ายจากสัตว์สู่คน
แม้ในประเทศไทยจะพบการระบาดของโรคแอนแทรกซ์ได้น้อยมากในปัจจุบัน ด้วยระบบการควบคุมโรคที่ดี แต่การรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะเมื่อมีสถานการณ์ระบาดในพื้นที่ใกล้เคียง
โรคแอนแทรกซ์เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Bacillus anthracis มักพบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กินหญ้าเป็นอาหาร โดยเฉพาะสัตว์กีบ เช่น วัว ควาย แพะ แกะ ความเสี่ยงในไทยอาจมาจากเนื้อสัตว์ดิบที่ลักลอบนำเข้าจากพื้นที่ชายแดน โดยที่เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ 3 ช่องทางหลัก ดังนี้

1. ทางผิวหนัง
- เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ป่วย เนื้อสัตว์ หรือซากสัตว์ที่ติดเชื้อ ทำให้เกิดแผลลักษณะเป็นตุ่มพุพอง มีสะเก็ดสีดำตรงกลาง ร่วมกับอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต
2. ทางระบบทางเดินอาหาร
- เกิดจากการกินเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อแบบปรุงไม่สุก หรือสุก ๆ ดิบ ๆ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง ท้องเสียรุนแรง อาจมีเลือดออกในทางเดินอาหาร
3. ทางการหายใจ
- เป็นช่องทางที่อันตรายที่สุด เกิดจากการสูดหายใจเอาสปอร์ของเชื้อที่ปนเปื้อนในขนสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์เข้าไป ทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรง หายใจลำบาก และอาจเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว

รู้ทัน ป้องกันได้ เชื้อแอนแทรกซ์
เพื่อความปลอดภัยของประชาชน มีข้อแนะนำในการป้องกันตนเองจากโรคแอนแทรกซ์ ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือนำเนื้อสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือตายอย่างผิดปกติมารับประทาน
2. หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ดิบ หรือปรุงแบบสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่ไม่ทราบแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ
3. หากจำเป็นต้องสัมผัสซากสัตว์ ควรใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงมือ หน้ากากอนามัย
4. หากมีประวัติสัมผัสสัตว์ป่วย หรือกินเนื้อสัตว์ที่ต้องสงสัย แล้วเกิดอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ เกิดแผลหรือตุ่มดำตามผิวหนัง ปวดท้อง ท้องเสียรุนแรง หรือหายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยง
5. ผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับสัตว์ หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยง หากสงสัยว่าอาจสัมผัสเชื้อ ควรเข้ารับการประเมินจากแพทย์ แม้จะยังไม่มีอาการก็ตาม
ต่อมา เพจ สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว รายงานว่า “พบผู้ป่วย ‘โรคแอนแทรกซ์’ เพิ่มอีกราย ผู้ติดเชื้อสะสม เป็น 4 ราย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร รายงานสถานการณ์ “โรคแอนแทรกซ์” จังหวัดมุกดาหาร วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 เวลา 08.00 น. พบผู้ป่วยยืนยันรายใหม่วันนี้ 1 ราย สะสมรวม 4 ราย เสียชีวิต 1 ราย อยู่ระหว่างรักษา 3 ราย ที่รพ.มุกดาหาร 2 ราย และ รพ.ดอนตาล 1 ราย ขณะที่ผู้สัมผัสยังอยู่ในระยะเฝ้าระวังโรค 98 ราย และสิ้นสุดระยะเวลาเฝ้าระวังโรคแล้ว 538 ราย”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ตายแล้ว 1 เชื้อแอนแทรกซ์ระบาด มุกดาหาร แผลน่ากลัวมาก กินวัวงานบุญ ปรุงสุกก็ไม่รอด
- มุกดาหาร ประกาศยกย่อง ‘หมอนนชยา’ วินิจฉัยพบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ จนหยุดยั้งการระบาดใหญ่ได้
- จับตา เด็ก 2 ขวบกัมพูชา ป่วยไข้หวัดนกตาย รายที่ 2 ของปี หวั่นระบาดใหญ่
อ้างอิง : เฟซบุ๊ก เพจ บิ๊กเกรียน
ติดตาม The Thaiger บน Google News: