
แหล่งแทง พระเอกดังเวียดนาม หน้าเบี้ยว เป็นอัมพาต เกือบหมดหล่อ เตือน 3 นิสัยวัยรุ่นชอบ ทำลายสุขภาพ
แฟนคลับต่างตกใจ แหล่งแทง (Lãnh Thanh) นักแสดงหนุ่มเวียดนามชื่อดังวัย 30 ปี ออกมาเผยว่า เขาเข้ารับการรักษาด้วยการฝังเข็มทั่วใบหน้า หลังตรวจพบว่าเป็น โรคอัมพาตใบหน้า หรืออัมพาตเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 (Peripheral Facial Palsy)
เจ้าตัวโพสต์เล่าอาการผ่านโซเชียลมีเดียว่า จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นหลังเดินทางจากดาลัดกลับนครโฮจิมินห์เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ก่อนจะไปว่ายน้ำแล้วรู้สึกแสบตาข้างซ้าย จากนั้นเริ่มปวดที่บริเวณคอ บ่า ไหล่ คิดว่าแค่อาการปวดจากการเดินทาง กระทั่งตื่นเช้ามาวันถัดมา กลับพบว่าครึ่งใบหน้าซ้ายของเขาเริ่มชา แสดงอาการเบี้ยวชัดเจน
“ตอนแรกผมคิดว่าเป็นแค่น้ำในสระ หรืออาการเมื่อยค้าง… แต่ความจริงคือสัญญาณที่ร่างกายพยายามเตือนเราแล้ว”
รู้จัก อัมพาตเส้นประสาทที่ 7 อันตรายที่คนรุ่นใหม่มักมองข้าม
โรคนี้ในแพทย์แผนจีนเรียกว่า “ปากเบี้ยวตาเบี้ยว” สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย โดยมีอาการเด่นชัดคือ กล้ามเนื้อใบหน้าข้างหนึ่งอ่อนแรง ควบคุมไม่ได้ พูดหรือยิ้มแล้วปากเบี้ยว ดื่มน้ำแล้วหก หลับตาไม่สนิท หนังตาตก ตาแห้ง
สัญญาณแรกๆ มักปวดที่ขมับ หรือกรามด้านใดด้านหนึ่ง รู้สึกไวต่อเสียง หรือมีการรับรสผิดปกติ
หากไม่รีบรักษา อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนถาวร เช่น กล้ามเนื้อหดเกร็ง, กระจกตาอักเสบ, น้ำตาไหลขณะกินอาหาร (เรียกว่า “น้ำตาจระเข้”) หรือแม้แต่ใบหน้าบิดเบี้ยวถาวร
เตือน 3 พฤติกรรมที่ “อย่าทำ” ถ้าไม่อยากหน้าเบี้ยว
จากประสบการณ์ของเขาเอง แหล่งแทงระบุว่า มี 3 พฤติกรรมที่วัยรุ่นจำนวนมากชอบทำ แต่เสี่ยงมาก ได้แก่
- นอนดึก-พักผ่อนไม่พอ ระบบประสาทอ่อนล้า ภูมิคุ้มกันตก
- อาบน้ำกลางคืน / โดนลมเย็นช่วงดึก เสี่ยงร่างกายช็อกจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนกะทันหัน
- ใช้ร่างกายหนัก พักน้อยหลังเดินทางหรือเปลี่ยนสภาพอากาศ: ทำให้ภูมิร่างกายเสียสมดุล
- “ผมเองก็เป็นคนทำงานหนัก เครียดสะสม และชะล่าใจเรื่องอุณหภูมิ เหล่านี้แหละที่กลายเป็นจุดเริ่มของโรค” เขาเล่า
แพทย์เวียดนามได้ออกมาให้ความรู้เพิ่มเติมว่า กลุ่มเสี่ยงที่ควรระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ คนที่ถูกลมเย็นจัด หรืออาบน้ำหลังเหงื่อออก
ผู้ป่วยโรคทางหู-จมูก เช่น หูชั้นกลางอักเสบ หรือไซนัสเรื้อรัง ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ผู้ที่เคยกระแทกบริเวณกรามหรือขมับ หญิงตั้งครรภ์ หรือคนที่พักผ่อนน้อย มีความเครียดสะสม
โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้หากวินิจฉัยเร็ว โดยแพทย์แนะนำว่า หากรักษาภายใน 7-14 วันแรก ด้วยวิธีฝังเข็ม กระตุ้นไฟฟ้า และใช้ยาประคองระบบประสาท ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด โอกาสฟื้นตัวมีสูงมาก
แนวทางป้องกัน นอนหลับให้เพียงพอ รักษาอุณหภูมิร่างกายให้สมดุล หลีกเลี่ยงลมแรงและอาบน้ำช่วงดึก รักษาโรคหู-จมูก-คอ ให้หายขาด บำรุงสุขภาพ ลดความเครียด และงดสุราจัด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สาวเตือนภัย คนนอนน้อย หลังตื่นมาใบหน้าเบี้ยวครึ่งเดียว ด้วยวัย 31 ปี
- นุ๊ก ฟาดด้วยหลักฐาน หลังโดนหล่าวหาว่าโกหก ปมหน้าเบี้ยว
- กระแต อาร์สยาม โต้หน้าเบี้ยวไม่เกี่ยวกับศัลยกรรม
ติดตาม The Thaiger บน Google News: