ตายแล้ว 1 เชื้อแอนแทรกซ์ระบาด มุกดาหาร แผลน่ากลัวมาก กินวัวงานบุญ ปรุงสุกก็ไม่รอด

เร่งสอบสวนเคสผู้ป่วย “แอนแทรกซ์” มุกดาหาร เสียชีวิตแล้ว รายแรก หลังพบติดเชื้อจากการบริโภคเนื้อสัตว์ – สั่งห้ามฆ่าสัตว์ในพื้นที่ระบาดทันที
เพจ “Drama-addict” รายงาน ถึงการพบผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรีย “แอนแทรกซ์” (Anthrax) รายหนึ่งในพื้นที่มุกดาหาร เบื้องต้นเชื่อว่าผู้ป่วยน่าจะติดเชื้อจากการบริโภคเนื้อวัว เป็นหนึ่งในเคสที่หายาก และถือเป็น “เคสระบาดในมุกอาหาร” ที่นาน ๆ จะเกิดขึ้นในประเทศไทย
ผู้ป่วยเป็นชายซึ่งมีแผลบริเวณมือ หลังรับประทานเนื้อวัว และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการแผลที่ผิดปกติ ทางทีมแพทย์ประจำชุมชนได้สังเกตความผิดปกติจากลักษณะของแผล ซักประวัติการใช้ชีวิตของผู้ป่วย จึงรีบส่งตรวจเชิงลึกอย่างละเอียด พบว่า ผู้ป่วยมีประวัติเคยเลี้ยงวัว อีกทั้งยังมีพฤติกรรมบริโภคเนื้อวัวดิบในงานบุญ
ผลการวินิจฉัยจากทีมแพทย์ระบุชัดว่า ผู้ป่วยติดเชื้อแอนแทรกซ์ชนิดผิวหนัง (Cutaneous Anthrax) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ของเชื้อ Bacillus anthracis โดยมีการยืนยันจากภาพกล้องจุลทรรศน์ว่าพบโคโลนีของเชื้อแบคทีเรียในตัวอย่างแผลชัดเจน (ตามภาพประกอบ)
เพจดราม่าเตือนเพิ่มเติมว่า “เอาวัวควายที่ตายปริศนา ไปทำอาหารแบบปรุงสุกก็ อย่าคิดว่าจะรอดจากแอนแทรกซ์ เพราะแอนแทรกซ์ ทนความร้อนได้สูงมาก
สามารถทนอุณหภูมิ 140 องศา ได้ถึง 3 ชมถ้าต้มในน้ำเดือด จะทนได้ 30 นาที (เชื้อตัวนี้มันชอบอยู่ที่แห้งๆ)
ดังนั้นถ้าเจอวัวควายตายปริศนา เอาไปทำลาบหลู้กินกันแบบดิบๆ
ถ้าเกิดมีแอนแทรกซ์ โอกาสติดเชื้อก็สูงปิ๊ด ต่อให้เอาไปทำให้สุก ก็ยังมีโอกาสติดเชื้ออยู่ ไม่รอดอยู่ดี
ถ้าเจอวัวควายตายปริศนา ห้ามเอาไปกิน เด็ดขาด ไม่ว่าจะสุกหรือดิบก็ตาม”
ด้านกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประกาศ เพื่อให้การควบคุมโรคและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคแอนแทรกซ์ อำเภอดอนตาล จึงให้ดำเนินการจัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัด เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายโค กระบือและแพะ เข้าและออกในพื้นที่อำเภอดอนตาล ดังนี้ 1. จุดตรวจบ้านป่าพะยอม 2. จุดตรวจบ้านนาห้วยกอก 3. จุดตรวจบ้านภูวง 4. จุดตรวจหน้าสถานีตำรวจภูธรป่าไร่ ประกาศ ณ วันที่ 30 เมษายน 2568
ด้าน นายชาคริต ชมจันทร์ นายอำเภอดอนตาล ได้แจ้งที่ประชุมประจำเดือนร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการและกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่อำเภอดอนตาล เพื่อให้การควบคุมโรคและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคแอนแทรกซ์ จึงได้กำหนดมาตรการควบคุมโรค ดังนี้
1. ห้ามฆ่าสัตว์ โดยเฉพาะ โค กระบือ ในห้วงงานบุญประเพณีบุญเดือนหก (บุญบั้งไฟ) ทุกกรณี
2. โรงพยาบาลดอนตาล สาธารณสุขอำเภอดอนตาล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเหล่าหมี ได้เปิดศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค เพื่อบริการประชาชนในการตรวจเชื้อโรคแอนแทรกซ์
ดังนี้ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเหล่าหมี ศาลาประชาคม หมู่ที่ 1 บ้านเหล่าหมี
3. ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สำรวจประชาชนในพื้นที่เสี่ยง และให้บันทึกข้อมูลลงในระบบของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นการเฝ้าระวังในการแพร่ระบาดของโรคแอนแทรกช์
4.การเฝ้าระวังการติดเชื้อของโค กระบือและแพะ มอบหมายให้ปศุสัตว์อำเภอดอนตาลดำเนินการ
5. ให้กำนัน – ผู้ใหญ่บ้าน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบ ลักษณะอาการของการติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค หากประชาชนท่านใดมีอาการดังกล่าว ให้มาตรวจหาเชื้อได้ที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค
6. ให้กำนัน – ผู้ใหญ่บ้าน ประชาสัมพันธ์หากพบโค กระบือและแพะ ที่มีอาการ มีไข้สูง ไม่กินหญ้าแต่ยืนเคี้ยวเอื้อง มีน้ำลายปนเลือดไหลออกมา หายใจลำบาก ยืนโซเซ กล้ามเนื้อกระตุก ชัก ให้กักขังสัตว์ดังกล่าว และแจ้งปศุสัตว์อำเภอดอนตาลเข้ามาตรวจสอบโดยทันที
7. ให้มีการตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด ในการลักลอบขนโค กระบือและแพะ ออกจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคแอนแทรกซ์ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป ปศุสัตว์อำเภอดอนตาล จะทำการฉีดวัดวัคซีนโค กระบือและแพะ ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดโรคแอนแทรกซ์ จึงห้ามไม่ให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีการฉีดวัคซีนทำการฆ่าหรือชำแหละโค กระบือ และแพะ ในเวลา 21 วัน นับตั้งแต่มีการฉีดวัควัคซีน
หากมีปัญหาและข้อสงสัยในการระบาดของโรค สามารถติดต่อหน่วยงานราชการ ดังนี้ ที่ทำการปกครองอำเภอดอนตาล (ฝ่ายความมั่นคง) โรงพยาบาลดอนตาล สาธารณสุขอำเภอดอนตาล ปศุสัตว์อำเภอดอนตาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเหล่าหมี
ติดตาม The Thaiger บน Google News: