พระราชประวัติ กษัตริย์จิกมี องค์ที่ 5 แห่งภูฏาน ราชันย์แห่งประชาชน

เปิดพระราชประวัติ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก กษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ได้รับการขนานนาม ‘ราชันย์แห่งประชาชน’
วันที่ 25 เมษายน 2568 สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก และสมเด็จพระราชินีแห่งภูฏาน ทรงรับเสด็จ ถวายผ้าแพรคล้องพระหัตถ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เยือนราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการ (State Visit) ตามคำทูลเชิญของสมเด็จพระราชาธิบดี ระหว่างวันที่ 25 – 28 เมษายน 2568
วันนี้ทีมงาน The Thaiger นำเสนอพระราชประวัติประวัติสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก

ประวัติ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี กษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชอาณาจักรภูฏาน
สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (Jigme Khesar Namgyel Wangchuck) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2549 หลังจากพระราชบิดา สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก สละราชสมบัติ
พระราชประวัติ
- พระราชสมภพ : 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 ณ โรงพยาบาล Paropakar Maternity and Women’s Hospital กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล
- พระราชบิดา : สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก
- พระราชมารดา : สมเด็จพระราชินีอาชี เชอริง ยังดอน
พระองค์ทรงศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่ Phillips Academy และ Cushing Academy ในสหรัฐอเมริกา ต่อมาเข้าศึกษาที่ Wheaton College และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจาก Magdalen College มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร

การครองราชย์
พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2549 มีพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 100 ปีของราชวงศ์วังชุก
พระองค์ทรงสืบสานแนวคิด ‘ความสุขมวลรวมประชาชาติ’ (Gross National Happiness) ที่พระราชบิดาทรงริเริ่ม และทรงนำพาภูฏานเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2551
พระราชินีและพระราชโอรส-ธิดา
เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2554 พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา
พระราชโอรสและพระราชธิดา
- เจ้าชายจิกมี นัมเกล วังชุก ประสูติเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ทรงเป็นมกุฎราชกุมาร
- เจ้าชายจิกมี อูเกน วังชุก ประสูติเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2563
- เจ้าหญิงโซนัม ยังเดน วังชุก ประสูติเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2566

พระราชกรณียกิจสำคัญ
การพัฒนาเมือง Mindfulness City: ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 พระองค์ทรงเปิดเผยแผนการสร้างเมืองเศรษฐกิจใหม่ชื่อ ‘Mindfulness City’ บริเวณชายแดนทางใต้ของภูฏาน โดยเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับแนวคิดความสุขมวลรวมประชาชาติ
รวมทั้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้การนำของพระองค์ ภูฏานยังคงเป็นประเทศที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิติดลบ โดยมีพื้นที่ป่าครอบคลุมมากกว่า 70% ของประเทศ ด้วยพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ส่งผลให้พระองค์ได้รับการขนานนามว่าเป็นกษัตริย์ของประชาชน (People’s King) เนื่องจากพระราชจริยวัตรที่เรียบง่ายและใกล้ชิดกับประชาชน
ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯ เยือนราชอาณาจักรภูฏาน
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 เวลา 06.47 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังท่าอากาศยานทหารดอนเมือง เพื่อประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการ (State Visit) ตามคำทูลเชิญของสมเด็จพระราชาธิบดี แห่งภูฏาน ระหว่างวันที่ 25 – 28 เมษายน 2568
การเสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ เป็นการกระชับมิตรภาพและความร่วมมืออันใกล้ชิด ระหว่างราชอาณาจักรทั้งสองให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จากการมีมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกันในความเลื่อมใสในบวรพระพุทธศาสนาและสายสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ทั้งสอง รวมทั้งระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินถึงท่าอากาศยานนานาชาติเมืองพาโร ราชอาณาจักรภูฏาน สมเด็จ พระราชาธิบดี และสมเด็จพระราชินีแห่งภูฏาน ทรงรับเสด็จ และถวายผ้าแพรคล้องพระหัตถ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี
ตามธรรมเนียมท้องถิ่นในการรับเสด็จ ผ้าแพรสีขาวทำจากผ้าไหม เรียกว่า คาดาร์ (Khadar) ในภาษาซงข่า ใช้มอบให้แขกสำคัญในพิธีกรรมทางศาสนา และแขกสำคัญผู้มาเยือน ผ้าแพรสีขาวเป็นสัญลักษณ์ของความปรารถนาดีจากผู้ให้ไปยังผู้รับ
จากนั้น ทรงพระดำเนินผ่านแถวกองทหารเกียรติยศ และผู้มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทั้งฝ่ายภูฏานและฝ่ายไทย แล้วประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงแรมเพมาโกะ ทิมพู (Hotel Pemako Thimphu) ซึ่งเป็นโรงแรมที่ประทับ ตลอดเส้นทางที่เสด็จพระราชดำเนินผ่าน มีนักเรียนและประชาชนชาวภูฏานเป็นจำนวนมาก มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ
รวมทั้งมีการจัดแสดงทางวัฒนธรรมของภูฏานถวายให้ทอดพระเนตร เป็นการถวายพระเกียรติและถวายการต้อนรับตามธรรมเนียมท้องถิ่นของภูฏาน






อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เลขมงคล ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯ เยือนราชอาณาจักรภูฏาน
- สมเด็จพระราชินีเจตซุน แห่งภูฏาน เสด็จเยี่ยม พระองค์ภา
ติดตาม Thaiger The บน Google News: