
รองโฆษกสำนักนายกฯ เผย กระทรวงแรงงาน ดำเนินการชดเชยเยียวยาลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม กว่า 38 ล้านบาท
วันนี้ (27 เม.ย.) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า กระทรวงแรงงาน ดำเนินการชดเชยเยียวยาลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม ขณะเกิดแผ่นดินไหว โดยมีผู้ได้รับผลกระทบและผู้เสียชีวิตทั่วประเทศกว่า 50 ราย เฉพาะตึก สตง. กว่า 40 ราย ซึ่งได้จ่ายเงินชดเชยเยียวยาผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 38 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี นายคารม กล่าวว่า สำหรับลูกจ้างที่ประสบอันตรายขณะปฏิบัติงานจากเหตุอาคารถล่มจะได้รับการดูแลจากกองทุนเงินทดแทนดังนี้
1. กรณีบาดเจ็บ ค่ารักษาพยาบาล เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 65,000 บาท หากบาดเจ็บรุนแรงจ่ายให้สูงสุดไม่เกินหนึ่งล้านบาท ในกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลภาคเอกชน แต่หากเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่แรกจนสิ้นสุดการรักษา หรือเข้ารักษาในสถานพยาบาลเอกชนแล้วรักษาต่อในสถานพยาบาลของรัฐจนสิ้นสุดการรักษา จ่ายค่ารักษาเท่าที่จริงตามความจำเป็นจนสิ้นสุดการรักษา
ส่วนค่าทดแทนรายเดือน กรณีที่ต้องหยุดพักรักษาตัวตามคำสั่งแพทย์ จ่ายไม่เกินหนึ่งปี ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 14,000 บาทต่อเดือน
2. กรณีสูญเสียอวัยวะ/สูญเสียสมรรถภาพในการทำงาน จ่ายค่าทดแทน ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 14,000 บาท/เดือน จ่ายได้ไม่เกิน 120 เดือน
3. กรณีทุพพลภาพจ่ายค่าทดแทนรายเดือน ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 14,000 บาทต่อเดือน ตลอดชีวิต
4. กรณีตายหรือสูญหาย จ่ายค่าทดแทน ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 14,000 บาทต่อเดือน ให้กับผู้มีสิทธิเป็นระยะเวลา 10 ปี ค่าทำศพ จำนวน 50,000 บาท เงินบำเหน็จกรณีชราภาพจากกองทุนประกันสังคม

ส่วนลูกจ้างที่สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ และจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานจะได้รับค่าฟื้นฟูสมรรถภาพตามอัตรา ดังนี้
1. ค่าใช้จ่ายในกระบวนการเวชศาสตร์ฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านการแพทย์ โดยเป็นค่าใช้จ่ายทางกายภาพบำบัด ไม่เกินวันละ 200 บาท และค่าใช้จ่ายทางกิจกรรมบำบัด ไม่เกินวันละ 100 บาท โดยเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 24,000 บาท
2. ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดรักษาและการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ไม่เกิน 40,000 บาท หากมีความจำเป็นให้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 140,000 บาท แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 180,000 บาท โดยให้คณะกรรมการการแพทย์เป็นผู้มีอำนาจพิจารณา ค่าวัสดุและอุปกรณ์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู หน่วยละไม่เกินอัตราตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยเมื่อรวมกันแล้วต้อง ไม่เกิน 160,000 บาท
3. ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพ ให้จ่ายได้เฉพาะที่เป็นการฝึกตามหลักสูตรที่หน่วยงานของสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ดำเนินการ ไม่เกิน 24,000 บาท
“รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ในส่วนของค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ ค่ารักษาพยาบาลฯ และผู้ประสบภัยยังจะได้รับเงินช่วยเหลือตามระเบียบหลักเกณฑ์ของทางราชการ รวมถึงเงินชดเชยส่วนอื่น ๆ ตามสิทธิทางกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายคารม กล่าวปิดท้าย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เงินเยียวยาแผ่นดินไหว แค่ 13.45 บาท เจ้าของคอนโดถาม ค่าน้ำเปล่าหรอคะ?
- แผ่นดินไหวระดับ 3.8 อ.ปาย แม่ฮ่องสอน กลางดึก ปชช. รู้สึกถึงแรงสั่นไหว
- ปากพาซวย รวบหมอดู TikTok ทำนายแผ่นดินไหวเมียนมาซ้ำ ทำคนผวา