เปิดโผ 9 พระคาร์ดินัล ขึ้นสืบทอดตำแหน่งประมุของค์ที่ 267 ต่อจาก โป๊ปฟรานซิส

จับตาคอนเคลฟเลือกโป๊ปองค์ที่ 267 วิเคราะห์ 9 พระคาร์ดินัลตัวเต็ง (Papabili) สืบทอดตำแหน่งต่อจากโป๊ปฟรานซิส มีลุ้นทั้งโป๊ปเอเชีย และโป๊ปผิวสีคนแรกในรอบหลายศตวรรษ
หลังการสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก ลำดับที่ 266 เมื่อวันจันทร์ที่ 21 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ทุกสายตาทั่วโลกต่างจับจ้องไปยังนครรัฐวาติกัน เพื่อรอคอยกระบวนการสำคัญตามประวัติศาสตร์ นหนึ่งในนั้นก็คือการประชุมเลือกตั้งพระสันตะปาปา (Conclave) เพื่อเลือกประมุขพระองค์ใหม่ ลำดับที่ 267
สำนักข่าวต่างประเทศ theguardian เปิดเผยว่า แม้การคาดการณ์ผลการประชุมคอนเคลฟ จะเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากท่าทีของเหล่าพระคาร์ดินัลอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดการลงคะแนนหลายรอบ และมีการใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนหรือสกัดกั้นผู้ที่ตนเองพอใจหรือไม่พอใจ แต่ในขณะนี้กระแสการคาดการณ์ในหมู่นักวิเคราะห์และผู้สังเกตการณ์วาติกัน ได้กำลังพุ่งเป้าไปที่พระคาร์ดินัลหลายท่าน ที่มีโอกาสก้าวขึ้นมาสืบทอดตำแหน่ง หรือที่เรียกว่า “ปาปาบิเล่” (Papabile)
1. คาร์ดินัล ปิเอโตร ปาโรลิน (Pietro Parolin)
คาร์ดินัล ปิเอโตร ปาโรลิน (Pietro Parolin) จากอิตาลี ปัจจุบันอายุ 70 ปี ดำรงตำแหน่งเลขาธิการแห่งรัฐวาติกัน ซึ่งเปรียบเสมือนรัฐมนตรีต่างประเทศ มาตั้งแต่ปี 2013 และถือว่ามีความใกล้ชิดกับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ทำให้ถูกมองว่าเป็น “สายกลาง” และ “ผู้สืบทอดแนวทางเดิม” (Continuity Candidate)
ท่านมีบทบาทสำคัญในการทูต โดยเฉพาะการเจรจาที่ละเอียดอ่อนกับจีนและตะวันออกกลาง และได้รับความไว้วางใจจากนักการทูตฝ่ายโลก อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงเรื่องการแต่งตั้งบิชอปกับรัฐบาลจีนเมื่อปี 2018 ก็ทำให้ท่านถูกวิจารณ์จากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ขณะที่ผู้สนับสนุนมองว่าท่านเป็นนักอุดมคติผู้กล้าหาญและส่งเสริมสันติภาพ

2. คาร์ดินัล หลุยส์ อันโตนิโอ ตาเกล (Luis Antonio Tagle)
คาร์ดินัล หลุยส์ อันโตนิโอ ตาเกล (Luis Antonio Tagle) จากฟิลิปปินส์ ปัจจุบันอายุ 67 ปี เป็นอดีตอาร์คบิชอปแห่งมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ หากได้รับเลือก ท่านจะสร้างประวัติศาสตร์ในฐานะ “สมเด็จพระสันตะปาปาชาวเอเชียพระองค์แรก”
ในยุคที่ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคนี้ คาร์ดินัลตาเกลเคยถูกมองว่าเป็นตัวเก็งที่จะสืบทอดแนวทางก้าวหน้าของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส แต่ระยะหลังดูเหมือนความนิยมจะลดลง ท่านเคยชี้ว่าท่าทีของศาสนจักรต่อคู่รักเพศเดียวกันและผู้หย่าร้างอาจแข็งกร้าวเกินไป แต่ขณะเดียวกันก็ต่อต้านสิทธิในการทำแท้งในฟิลิปปินส์

3. คาร์ดินัล ปีเตอร์ ตุรก์สัน (Peter Turkson)
คาร์ดินัล ปีเตอร์ ตุรก์สัน (Peter Turkson) จากกานา ปัจจุบันอายุ 76 ปี ถือเป็นอีกหนึ่งความหวังในการเป็น “สมเด็จพระสันตะปาปาผิวสีพระองค์แรกในรอบหลายศตวรรษ” ท่านมีบทบาทโดดเด่นในการขับเคลื่อนประเด็นความยุติธรรมทางสังคม ทั้งเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ความยากจน และความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกันก็ยืนยันตามหลักคำสอนดั้งเดิมในเรื่องฐานันดรสงฆ์ การแต่งงานระหว่างชายหญิง และเพศวิถี แม้จะมีท่าทีผ่อนปรนมากขึ้นต่อกฎหมายที่ลงโทษเพศเดียวกันในแอฟริกา และยังเคยแสดงจุดยืนเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

4. คาร์ดินัล ปีเตอร์ แอร์เดอ (Péter Erdő)
คาร์ดินัล ปีเตอร์ แอร์เดอ (Péter Erdő) จากฮังการี ปัจจุบันอายุ 72 ปี อาร์คบิชอปแห่งเอสเตอร์กอม-บูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ท่านคือตัวแทนคนสำคัญของ “สายอนุรักษ์นิยม” ผู้สนับสนุนหลักคำสอนและข้อเชื่อดั้งเดิมอย่างแข็งขัน หากได้รับเลือกจะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากแนวทางของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
คาร์ดินัลแอร์เดอได้รับการยอมรับด้านสติปัญญาและความรู้ทางวัฒนธรรม และเคยเป็นที่ชื่นชอบของคาร์ดินัล จอร์จ เพลล์ ผู้ล่วงลับ อย่างไรก็ตาม ท่านเคยแสดงจุดยืนคัดค้านสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสในประเด็นการรับผู้อพยพเมื่อปี 2015

5. คาร์ดินัล มัตเตโอ ซุปปี (Matteo Zuppi)
คาร์ดินัล มัตเตโอ ซุปปี (Matteo Zuppi) จากอิตาลี ปัจจุบันอายุ 69 ปี อาร์คบิชอปแห่งโบโลญญา ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นคาร์ดินัลโดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสในปี 2019 ท่านถูกมองว่าอยู่ในปีกหัวก้าวหน้า และคาดว่าจะเป็นผู้สืบทอดของสมเด็จพระสันตะปาปาผู้ล่วงลับ โดยเฉพาะการมีความห่วงใยต่อคนจนและคนชายขอบ
ท่านมีท่าทีค่อนข้างเสรีต่อความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกัน และได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตสันติภาพของวาติกันสำหรับยูเครน ซึ่งได้เข้าพบทั้งผู้นำทางศาสนาของรัสเซียและประธานาธิบดียูเครนมาแล้ว

6. คาร์ดินัล โฮเซ โตเลนติโน คาลาซา เดอ เมนดอนซา (José Tolentino Calaça de Mendonça)
คาร์ดินัล โฮเซ โตเลนติโน คาลาซา เดอ เมนดอนซา (José Tolentino Calaça de Mendonça) จากโปรตุเกส ปัจจุบันอายุ 59 ปี เป็นผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดในกลุ่มรายชื่อพระคาร์ดินัลทั้งหมด ขณะนี้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสมณกระทรวงวัฒนธรรมและการศึกษา
ท่านมีความคิดเห็นตรงกันกับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสในหลายประเด็น และสนับสนุนให้ศาสนจักรมีปฏิสัมพันธ์กับวัฒนธรรมสมัยใหม่ ท่านเคยแสดงความเห็นใจต่อมุมมองที่เปิดกว้างเรื่องความสัมพันธ์เพศเดียวกัน รวมถึงมีความใกล้ชิดกับนักบวชหญิงสายเฟมินิสต์ อย่างไรก็ตาม การที่อายุน้อยอาจเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน

7. คาร์ดินัล มาริโอ เกร็ก (Mario Grech)
คาร์ดินัล มาริโอ เกร็ก (Mario Grech) จากมอลตา ปัจจุบันอายุ 68 ปี เลขาธิการสมัชชาพระสังฆราช (Synod of Bishops) เป็นอีกท่านที่น่าสนใจ ท่านเคยถูกมองว่าเป็นสายจารีต แต่ได้ปรับเปลี่ยนมาสู่แนวคิดที่ก้าวหน้ามากขึ้น หลังสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้รับเลือก ซึ่งผู้สนับสนุนมองว่าเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความสามารถในการเติบโตและปรับตัว ท่านเคยวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำยุโรปที่จำกัดการทำงานของเรือช่วยผู้อพยพ และแสดงการสนับสนุนแนวคิดเรื่องสังฆานุกรหญิง (Female Deacons)

8. คาร์ดินัล ปิแอร์บัตติสตา ปิซซาบัลลา (Pierbattista Pizzaballa)
คาร์ดินัล ปิแอร์บัตติสตา ปิซซาบัลลา (Pierbattista Pizzaballa) จากอิตาลี ปัจจุบันอายุ 60 ปี ดำรงตำแหน่งอัครบิดรละตินแห่งเยรูซาเลม (Latin Patriarch of Jerusalem) มาตั้งแต่ปี 2020 มีบทบาทสำคัญในการดูแลคริสตชนในดินแดนศักดิ์สิทธิ์
ท่านเป็นที่จดจำจากการเสนอตัวเองเป็นตัวประกันแลกกับเด็กที่ถูกฮามาสจับตัวไปหลังเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2566 และได้เดินทางเยือนกาซาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 มีการคาดว่า ท่านจะสืบทอดแนวทางบางด้านของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส แต่คงไม่ค่อยแสดงความเห็นในประเด็นขัดแย้งต่อสาธารณะมากนัก

9. คาร์ดินัล โรเบิร์ต ซาราห์ (Robert Sarah)
คาร์ดินัล โรเบิร์ต ซาราห์ (Robert Sarah) จากกินี ปัจจุบันอายุ 79 ปี อดีตประธานสมณกระทรวงพิธีกรรมและศีลศักดิ์สิทธิ์ ท่านเป็นตัวแทนของ “สายจารีตดั้งเดิม (Orthodox)” และเคยถูกมองว่าพยายามวางตัวเป็นอำนาจคู่ขนาน กับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
ท่านเคยร่วมเขียนหนังสือปกป้องการถือพรหมจรรย์ของบาทหลวงกับสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 และเคยประณามอุดมการณ์เรื่องเพศ รวมถึงพูดถึงภัยจากลัทธิอิสลามหัวรุนแรง ท่านเป็นอีกหนึ่งรูปที่มีโอกาสสร้างประวัติศาสตร์เป็น “สมเด็จพระสันตะปาปาผิวสีพระองค์แรกในรอบหลายศตวรรษ”

การเลือกตั้งสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่เป็นการตัดสินใจที่สำคัญอย่างยิ่งต่อทิศทางในอนาคตของคริสตจักรโรมันคาทอลิก แม้จะมีปาปาบิเล่หลายท่าน แต่ผลลัพธ์สุดท้ายยังคงเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก และทั่วโลกต่างเฝ้ารอสัญญาณควันสีขาวจากโบสถ์น้อยซิสทีนในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้
ข้อมูลจาก theguardian
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เผยภาพแรก “โป๊ปฟรานซิส” ในหีบพระศพ เริ่มขั้นตอนประวัติศาสตร์คาทอลิก
- วาติกันแถลง สาเหตุสิ้นพระชนม์ “โป๊ปฟรานซิส” ปรารถนาไม่ประดับหลุมศพ
- ย้อนภาพ โป๊ปฟรานซิส เยือนไทย ปี 62 เข้าเฝ้าฯ ในหลวง-สมเด็จพระสังฆราช