เครื่องดื่มยอดฮิต กินทุกวัน เสี่ยงไขมันพอกตับ ไม่รู้ตัว หมอชี้ น้ำตาลแฝงสูง

หมอเจด เตือนภัย ‘กาแฟส้ม’ เครื่องดื่มยอดฮิตคนรุ่นใหม่ ดื่มทุกวันต้องระวัง เสี่ยงไขมันพอกตับไม่รู้ตัว เหตุมีน้ำตาลแฝงสูงจากน้ำส้มและน้ำเชื่อม แนะ 5 วิธีดื่มให้ปลอดภัย ลดความเสี่ยง
กำลังเป็นประเด็นสุขภาพที่ได้รับความสนใจอย่างมาก สำหรับโพสต์ของ นายแพทย์เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ หรือที่หลาย ๆ คนรู้จักกันในชื่อ “หมอเจด” รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ที่ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก หมอเจด ให้ความรู้และเตือนภัยเกี่ยวกับเครื่องดื่มยอดฮิตอย่าง “กาแฟส้ม” ซึ่งแม้จะดูสดชื่นและมีส่วนผสมของผลไม้ แต่หากดื่มเป็นประจำทุกวันอย่างไม่ระมัดระวัง อาจนำไปสู่ภาวะไขมันพอกตับ (Non-Alcoholic Fatty Liver Disease: NAFLD) โดยไม่รู้ตัว
หมอเจด อธิบายว่า กาแฟส้มเป็นเครื่องดื่มที่หลายคนชื่นชอบ เพราะรสชาติเข้มข้นของกาแฟที่ตัดกับความเปรี้ยวหวานของน้ำส้ม ให้ความรู้สึกสดชื่น จนกลายเป็นเมนูประจำของใครหลายคน อย่างไรก็ตาม ความน่ากังวลอยู่ที่ปริมาณ ‘น้ำตาล’ ที่ซ่อนอยู่ในกาแฟส้มแต่ละแก้ว

1. กาแฟส้มน้ำตาลเยอะกว่าที่คิด!
ถึงจะดูเหมือนเครื่องดื่มเฮลท์ตี้ เพราะมีน้ำส้มสดที่ให้วิตามินซี แต่กาแฟส้มส่วนใหญ่ไม่ได้จบแค่กาแฟกับน้ำส้ม มันมักจะมาพร้อม น้ำเชื่อม หรือ ไซรัป ที่เพิ่มรสหวานเจี๊ยบเข้าไปอีก หรือบางร้านใส่น้ำส้มสำเร็จรูปที่มีน้ำตาลอยู่แล้ว โดยสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เช่น แอสปาร์แตม (Aspartame) หรือซูคราโลส (Sucralose) ที่พบในเครื่องดื่มแบบ น้ำตาล 0% แม้จะช่วยลดปริมาณพลังงาน แต่ก็อาจกระตุ้นการอักเสบในระดับเซลล์ ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของตับในระยะยาว
ลองนึกดูนะ กาแฟส้มแก้วหนึ่ง ถ้าเติมทั้งน้ำส้ม น้ำเชื่อม และส่วนผสมหวานอื่น ๆ คุณอาจได้รับน้ำตาลเกิน 20-30 กรัมต่อแก้วเลยทีเดียว น้ำตาลเหล่านี้ถ้าร่างกายใช้ไม่หมด มันจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมัน และสะสมอยู่ในตับ ซึ่งถ้าปล่อยนาน ๆ ตับของคุณอาจกลายเป็นที่สะสมไขมันแบบไม่รู้ตัว
2. ไขมันพอกตับ กินกาแฟส้มบ่อยอาจจะเป็นไม่รู้ตัว
ไขมันพอกตับ ฟังดูเหมือนไม่ร้ายแรง แต่ถ้ามันเกิดขึ้นแล้วไม่ได้รับการดูแล อาจนำไปสู่ปัญหาใหญ่ เช่น ตับอักเสบ (Steatohepatitis) หรือในระยะรุนแรงอาจถึงขั้น ตับแข็ง (Cirrhosis) หรือเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งตับได้
สาเหตุหลักของไขมันพอกตับ มักมาจากพฤติกรรมกินหวานเกิน หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมาก ๆ โดยเฉพาะฟรุกโตส (Fructose) ซึ่งเป็นน้ำตาลชนิดหนึ่งที่พบในน้ำผลไม้ น้ำเชื่อม หรือไซรัป มันจะถูกส่งไปที่ตับและเปลี่ยนเป็นไขมันโดยตรง ที่แย่ไปกว่านั้น ไขมันพอกตับเป็นภาวะที่มักไม่มีอาการชัดเจนในช่วงแรก คุณอาจรู้ตัวอีกทีเมื่อตับเริ่มอักเสบแล้ว
3. น้ำส้มดีจริงไหม?
น้ำส้มสดนั้นดีต่อร่างกายในแง่ของการให้ วิตามินซี และ สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน แต่ปัญหาคือ น้ำส้มแม้จะสดแค่ไหน ก็ยังมีปริมาณน้ำตาลฟรุกโตสสูงมากอยู่ดี น้ำส้มหนึ่งแก้วขนาด 250 มิลลิลิตร อาจมีน้ำตาลประมาณ 20-25 กรัม ซึ่งถือว่าเยอะ พอเอาน้ำส้มมาใส่ในกาแฟ แล้วเติมน้ำเชื่อมหรือส่วนผสมอื่นเข้าไปอีก อาจเพิ่มน้ำหนักและกระตุ้นไขมันพอกตับได้แบบไม่รู้ตัว
4. กาแฟดี แต่ต้องดื่มให้เป็น
จริงๆ แล้วกาแฟธรรมดามีประโยชน์ต่อสุขภาพมากนะ เพราะในกาแฟมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น คลอโรเจนิก แอซิด (Chlorogenic Acid) ที่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ และอาจช่วยป้องกันไขมันพอกตับในบางกรณี แต่ประเด็นคือ กาแฟส้มไม่ได้แค่กาแฟล้วน ๆ มันมีทั้งน้ำตาล คาเฟอีน
บางครั้งก็มีส่วนผสมอื่นที่เพิ่มแคลอรีไปอีก ถ้าดื่มแบบนี้ทุกวัน สิ่งที่คุณได้ไม่ใช่แค่ประโยชน์จากกาแฟ แต่คุณจะได้ทั้งน้ำตาลส่วนเกิน และพลังงานที่ร่างกายไม่ได้ใช้ ซึ่งเป็นตัวการหลักของไขมันพอกตับ
5. ดื่มกาแฟส้มยังไงให้ไม่พังสุขภาพ?
อยากดื่มกาแฟส้มแบบไม่เสี่ยงต่อไขมันพอกตับ? จริง ๆ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเลิกดื่ม แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มให้เหมาะสม ด้วยเคล็ดลับง่าย ๆ แบบนี้
- ลดความหวานให้มากที่สุด ถ้าชงเอง เลี่ยงการเติมน้ำเชื่อมหรือใช้น้ำส้มคั้นสดแบบไม่เติมน้ำตาล ถ้าซื้อจากร้าน เลือกแบบหวานน้อยที่สุด หรือบอกให้ร้านไม่ใส่น้ำเชื่อมเลย
- ดื่มให้น้อยลง กาแฟส้มอาจเป็นเครื่องดื่มโปรด แต่ไม่ควรดื่มทุกวัน ควรจำกัดการดื่มไว้สัปดาห์ละ 2-3 ครั้งพอ เพื่อให้ตับมีเวลาฟื้นตัวและจัดการไขมันส่วนเกิน
- สมดุลอาหารในแต่ละวัน ถ้าวันไหนดื่มกาแฟส้ม ให้ระวังไม่กินอาหารหรือขนมหวานอื่น ๆ ที่เพิ่มปริมาณน้ำตาลในวันเดียวกัน และพยายามกินผัก ผลไม้สด หรือโปรตีนดี ๆ เพื่อช่วยควบคุมสมดุลพลังงาน
- หมั่นออกกำลังกาย การออกกำลังกายช่วยเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน และลดการสะสมไขมันในร่างกายได้ดี รวมถึงช่วยให้การทำงานของตับดีขึ้น
- ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในคนที่เริ่มมีปัจจัยเสี่ยง เช่น น้ำหนักเกิน มีไขมันในเลือดสูง หรือโรคเบาหวาน ควรตรวจค่าเอนไซม์ตับ (AST, ALT) และระดับน้ำตาลในเลือดอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อเฝ้าระวังภาวะไขมันพอกตับ
ทั้งนี้ ทาง หมอเจด ได้ทิ้งท้ายไว่ว่า “กาแฟส้มเป็นเครื่องดื่มที่อร่อยและสดชื่น แถมดูเหมือนจะดีต่อสุขภาพ แต่ความหวานและน้ำตาลที่ซ่อนอยู่ในแก้วนี้ถ้าดื่มบ่อย ๆ โดยไม่คำนึงถึงปริมาณน้ำตาลจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพระยะยาว อย่างที่บอกตลอดนะครับ ไม่ได้ห้ามให้กินนะ แค่ต้องปรับ ถ้าใครชอบดื่มกาแฟส้ม ลองปรับสูตรให้เหมาะสม ดื่มในปริมาณที่พอดี และดูแลสุขภาพโดยรวมให้สมดุลใครมีคำถามคอมเมนต์ได้เลยนะครับ”



อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หมอเจด แนะ 6 วิธีกินอย่างไรให้ผอม ลดเสี่ยงไขมันพอกตับ ทำง่ายแต่คนไม่รู้
- หมอเจด แจก 5 ทริคเบิร์น 300 แคล ไม่ต้องออกกำลังกาย เหมาะคนยุคใหม่บ่นไม่มีเวลา
- หมอเจด เตือน หากมีอาการเหล่านี้ เสี่ยงเป็นมะเร็งภายใน 6 เดือน