รู้หรือไม่? ‘ทราย สก๊อต’ ทำงานให้อุทยานฯ ไม่ได้เงินสักบาท เล่าความรู้สึกหลังถูกปลด

รู้หรือไม่? “ทราย สก๊อต” ทำงานเป็นที่ปรึกษาอุทยานฯ ไม่ได้เงินแม้แต่บาทเดียว เหตุผลการปลดกลางกระแสสังคม เจ้าตัวเปิดใจ มุมมองการทำงานไม่เหมือนกัน
- ทรายบอกว่าเจ้าหน้าที่ประจำอุทยานทำงานเสี่ยงตาย แต่ได้เงินแค่ 8,000 บาท ตนเลือกไม่รับเงินเดือน
- ทรายเลือกลาออกจากที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานฯ เพราะมุมมองการทำงานไม่ตรงกัน
- อรรถพล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เลือกปลดทรายเพราะพฤติกรรมไม่เหมาะสม
ท่ามกลางดราม่าใครรักทะเลมากกว่ากัน ล่าสุดอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ตัดสินใจปลด “ทราย สก๊อต” หรือ “สิรณัฐ สก๊อต” ออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หลังจากความขัดแย้งเริ่มบานปลาย จากปมเริ่มต้นเรื่องคลิปตักเตือนนักท่องเที่ยว
ชนวนเหตุของมหากาพย์ เกิดจากทรายโพสต์คลิปวิดีโอขณะตักเตือนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ทักทายเจ้าหน้าที่ด้วยคำว่า “หนี ห่าว” ซึ่งเจ้าตัวมองว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติ คลิปดังกล่าวถูกวิจารณ์ทั้งในแง่สนับสนุนและไม่เห็นด้วย เกิดแฮชแท็ก #Saveทรายสก๊อต และ #คืนทรายให้ทะเล จนกลายเป็นกระแสสังคม
หลังจากนั้น นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ ออกมายืนยันว่า ยังไม่ได้ปลดทราย แต่ได้ตักเตือนเรื่องวิธีการทำงาน จนกระทั่งทรายโพสต์เฟซบุ๊กว่า “ผมพร้อม! ชวนอธิบดีมาคุยกันตัวต่อตัวบนรายการถ่ายทอดสด… ทะเลเขารอผมอยู่” ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้น
ทว่าสุดท้าย กรมอุทยานฯ มีคำสั่งยกเลิกการแต่งตั้งทราย สก๊อต ออกจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม แม้จะเคยตักเตือนแล้วแต่ไม่ปรับเปลี่ยน ท่าทีที่ท้าทายผู้บริหารผ่านสื่อ ถูกมองว่าไม่ให้เกียรติองค์กร
อธิบดีกล่าวว่า เดิมไม่ได้มีเจตนาจะปลด เพราะเห็นว่าทรายมีความตั้งใจจริงในการทำงาน เป็นคนรุ่นใหม่ที่อยากมีส่วนร่วมในงานอนุรักษ์ แต่ด้วยพฤติกรรมที่แสดงออกต่อสาธารณะจึงไม่อาจปล่อยให้ดำรงตำแหน่งต่อไปได้
ทรายเปิดใจหลังถูกปลด แนวทางไม่ตรงกัน ก็ทำงานต่อด้วยกันไม่ได้
หลังทราบข่าวถูกปลด ทรายได้ตอบเรื่องนี้ผ่านรายการสรยุทธ สุทัศนจินดา กรรมกรข่าวคุยนอกจอว่า ตนได้ประกาศชัดเจนมาหลายครั้งแล้วว่าได้ยุติบทบาทที่ปรึกษาไปแล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับทางกรมว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ทราบดีว่าหากเลือกที่จะเผยแพร่คลิปลักษณะนี้ ย่อมต้องแลกมากับอะไรบางอย่าง และได้เตรียมใจไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะมองว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่สร้างความเสียหาย แต่เป็นการกระทำที่ยึดตามข้อตกลงและกรอบของกฎหมายทุกประการ
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่เลือกจะยุติบทบาทอย่างเป็นทางการ มาจากความรู้สึกว่าแนวทางของกรมอุทยานฯ ในปัจจุบันเริ่มไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายหรือเจตนารมณ์ของการอนุรักษ์อีกต่อไป
ทรายย้ำว่า ช่วงแรกที่ร่วมงานกันได้ เพราะหลายอย่างยังดำเนินไปตามกฎหมาย แต่ภายหลังกลับเริ่มมีแนวโน้มที่ไม่ให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎในพื้นที่จริง เช่น การที่เจ้าหน้าที่เตือนไม่ให้โยนสมอลงในแนวปะการัง หรือเตือนนักท่องเที่ยวให้ปฏิบัติตามระเบียบอุทยาน กลับถูกมองว่า “ทำแรงเกินไป” และทำให้ผู้ประกอบการไม่พอใจ
สำหรับการถูกตักเตือน ทรายยอมรับว่าเคยถูกอธิบดีโทรศัพท์สอบถามบางครั้งว่าเห็นข้อร้องเรียนหรือไม่ และเกิดอะไรขึ้น ซึ่งตนก็อธิบายทุกอย่างไปตามข้อเท็จจริง พร้อมชี้แจงว่าไม่ได้มีเจตนาในการกลั่นแกล้งผู้ประกอบการ เพียงแต่ต้องการให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่ากำลังทำงานเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และทำให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์
ทรายกล่าวต่อว่า ตนเป็นคนอายุ 28 ปี ที่พยายามรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นอุทยานทางบกหรือทางทะเล และเชื่อว่าแนวทางที่ทำมาตลอดไม่ได้เกินเลยจากหน้าที่แต่อย่างใด กลับกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากระบบและความค้างคาเดิมที่สะสมมาก่อนหน้า
ท้ายที่สุด ทรายได้ฝากความรู้สึกถึงอธิบดีกรมอุทยานฯ โดยกล่าวขอบคุณสำหรับโอกาสในการทำงานที่ได้รับมาตั้งแต่ต้น และยืนยันว่าไม่ได้มีความรู้สึกโกรธเคืองส่วนตัว แต่รู้สึกเสียใจกับภาพรวมของงานด้านอนุรักษ์ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ พร้อมย้ำว่าการดูแลอุทยานและเจ้าหน้าที่ควรเป็นระบบที่ปลอดภัย โปร่งใส และสร้างความเชื่อมั่นให้สังคม เพราะนี่คือสิ่งที่คนไทยควรได้รับอย่างเท่าเทียม
ทรายทิ้งท้ายว่า ขณะนี้โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และประเทศไทยไม่มีเวลาเหลือมากพอจะมัวทะเลาะกันด้วยเรื่องเล็กน้อย ทุกฝ่ายควรหันมาร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติของชาติไว้ให้ได้มากที่สุด ก่อนที่จะสายเกินไป
เบื้องหลังบทบาทที่หลายคนอาจไม่รู้ ทรายไม่รับเงินเดือน
แม้จะมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาอธิบดีฯ แต่ทราย สก๊อต กลับเลือกที่จะทำงานโดยไม่รับค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น โดยระบุว่า ตนรู้สึกอึดอัดใจหากจะได้เงินเดือน ทั้งที่เจ้าหน้าที่หน้างานในอุทยาน โดยเฉพาะพื้นที่ทางทะเล กลับได้รับเงินเพียงหลักพัน
ทรายเคยเปิดเผยผ่านสื่อว่า พบเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานดำน้ำ ซ่อมทุ่นในทะเลอันตราย กลับได้รับค่าตอบแทนเพียง 8,000 บาท ไม่มีแม้แต่ประกันชีวิตหรือความคุ้มครองใด ๆ ขณะที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เป็นเพียงแห่งเดียวที่มีการจัดหาประกันชีวิตให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งเกิดจากความพยายามส่วนตัวของทรายที่เคยไปประสานให้ดำเนินการ
แม้จะไม่มีตำแหน่งแล้ว แต่เสียงของทรายยังคงถูกพูดถึง โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และการดูแลสิทธิของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้า ความตั้งใจในการทำงานโดยไม่รับค่าจ้าง สะท้อนถึงจุดยืนที่ทรายย้ำชัดว่า “ขอไม่ได้เงินดีกว่า หากเจ้าหน้าที่แนวหน้าได้รับไม่ถึงขั้นต่ำ”
กรณีของทราย สก๊อต อาจถูกมองได้หลายมุม ทั้งในแง่ของความเหมาะสมในการแสดงออก ในแง่ของความตั้งใจดีที่บางครั้งอาจสวนทางกับระบบราชการแบบเดิม ท่ามกลางเสียงแตกในสังคม คำถามสำคัญที่ยังคงอยู่คือ… เราให้ค่ากับคนที่กล้าพูดแทนผู้ไม่มีเสียง มากน้อยแค่ไหน?
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ดราม่าอนุรักษ์ เสียงจากนักตกปลา ชี้ ทราย สก๊อต ทำแตกแยก ถูกยัดเยียดเป็นผู้ร้าย
- ประวัติ ทราย สก๊อต ทายาทสิงห์รุ่น 4 รักษ์ทะเลไทยยิ่งชีพ
- ไม่ถอย! ‘ทราย สก๊อต’ ยัน ทำตามกฎ ไม่ใช่ครึ่งๆ กลางๆ ตรงไหนเกินหน้าที่